xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : “มุน แจอิน” คว้าบัลลังก์ผู้นำโสมขาว ชูนโยบายปรองดอง “เกาหลีเหนือ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มุน แจอิน กล่าวคำปฏิญาณในพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 10 พ.ค.
มุน แจอิน ผู้สมัครหัวเสรีจากพรรคประชาธิปไตย ได้เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนใหม่เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา หรือเพียง 1 วันหลังจากชนะศึกเลือกตั้ง ซึ่งช่วยสลายสุญญากาศทางการเมืองในแดนโสมหลังจากอดีตประธานาธิบดี พัค กึน-ฮเย ถูกศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนฐานต้องคดีทุจริต ขณะที่นักวิเคราะห์เตือนว่าเส้นทางการบริหารประเทศของ มุน อาจไม่ง่ายดายนัก และนโยบายของเขาอาจทำให้รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้กับสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

ตามผลการนับคะแนนรอบสุดท้าย มุน ได้คะแนนโหวตไปทั้งสิ้น 41.1% หรือเท่ากับบัตรลงคะแนนราว 13.4 ล้านใบ ขณะที่ ฮอง จุน-พโย ผู้สมัครจากพรรคลิเบอร์ตีโคเรียของอดีตประธานาธิบดี พัค ซึ่งเสื่อมความนิยมไปมาก ตามหลังมาห่างๆ ที่ 24.03% ส่วน อันห์ ชอล-ซู ผู้สมัครสายกลาง ได้คะแนนเป็นอันดับสาม 21.4%

การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 20 ปี และชัยชนะที่ถล่มทลายของ มุน ก็สะท้อนความปรารถนาของชาวเกาหลีใต้ซึ่งต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เป็นรูปธรรม

ในพิธีสาบานตนซึ่งจัดขึ้นอย่างเรียบง่ายที่อาคารรัฐสภาเมื่อวันพุธ (10) มุน วัย 64 ปี ประกาศว่า เขาพร้อมที่จะพูดคุยกับทุกๆ ฝ่ายเพื่อแสวงหาสันติภาพ “ผมพร้อมที่จะบินไปวอชิงตันทันทีหากมีความจำเป็น... ผมยินดีจะไปปักกิ่ง โตเกียว หรือแม้กระทั่งเปียงยาง หากนั่นเป็นสิ่งที่เหมาะสมต่อสถานการณ์”

อดีตทนายความนักสิทธิมนุษยชนผู้นี้เกิดเมื่อปี 1952 ที่เกาะเกียวเจ (Geoje) ขณะที่สงครามเกาหลีกำลังร้อนระอุหนัก โดยบิดามารดาของเขาอพยพหนีตายมาจากฝั่งเกาหลีเหนือ

เมื่อเติบใหญ่ มุน ได้เข้าศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคยุงฮีในกรุงโซลในปี 1972 ก่อนถูกจับกุมฐานเป็นแกนนำนักศึกษาต่อต้านระบอบเผด็จการ พัค จุงฮี ซึ่งก็คือบิดาแท้ๆ ของอดีตประธานาธิบดี พัค กึน-ฮเย

เขาเคยถูกเกณฑ์เป็นทหารในหน่วยรบพิเศษ และเข้าร่วมปฏิบัติการ “พอล บันยัน” ซึ่งเป็นการแสดงแสนยานุภาพระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้เพื่อตอบโต้กรณีทหารอเมริกัน 2 นายถูกทหารโสมแดงใช้ขวานจามจนเสียชีวิต ขณะพยายามเข้าไปเล็มกิ่งต้นไม้ซึ่งกีดขวางการมองเห็นของผู้สังเกตการณ์สหประชาชาติ
มุน แจอิน ประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้ และนาง คิม จุง-ซุก สตรีหมายเลขหนึ่ง
เขาและเพื่อนสนิท “โนห์ มูฮยอน” ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นผู้นำเกาหลีใต้ ได้ร่วมกันเปิดบริษัทกฎหมายที่เมืองปูซานในปี 1982 เพื่อต่อสู้ในประเด็นสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง ต่อมาทั้งคู่ได้เป็นแกนนำในการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 1987 ซึ่งนำไปสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ทางตรงครั้งแรกในปีเดียวกัน

หลังจากที่ โนห์ มูฮยอน ชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้เมื่อปี 2002 มุน ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยประธานาธิบดี ทำหน้าที่ปราบปรามเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตและคัดกรองบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งระดับสูง ก่อนจะก้าวขึ้นไปถึงตำแหน่งประธานคณะเจ้าหน้าที่รัฐบาล (chief of staff)

มุน ได้ให้สัญญาไว้ขณะหาเสียงว่าจะลดการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจโดยกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ หรือ “แชโบล” ซึ่งมีวัฒนธรรมการเอื้อประโยชน์กับรัฐบาลมานานนับสิบๆ ปี พร้อมทั้งให้สัญญาว่าจะเป็น “ผู้นำมือสะอาด”

“ผมเข้ามาทำงานมือเปล่า และจะเดินจากไปมือเปล่าเช่นกัน” เขากล่าว

อดีตประธานาธิบดี โนห์ มูฮยอน ซึ่งเป็นผู้นำสายเสรีนิยมคนล่าสุดที่ปกครองเกาหลีใต้ รับสานต่อ “นโยบายซันไชน์” มาจากอดีตประธานาธิบดี คิม แดจุง และ มุน เองก็เคยมีส่วนร่วมจัดการประชุมซัมมิตครั้งสุดท้ายระหว่าง โนห์ กับอดีตประธานาธิบดี คิม จองอิล แห่งเกาหลีเหนือ

การก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเกาหลีใต้ในห้วงเวลาที่คาบสมุทรเกาหลีร้อนระอุหนักทำให้ มุน ต้องมองหาวิธีเกลี้ยกล่อมเกาหลีเหนือ ซึ่งเดินหน้าทดสอบระเบิดนิวเคลียร์มาแล้วถึง 2 ครั้ง และยิงขีปนาวุธอีกหลายระลอกตั้งแต่ต้นปี 2016

มุน เสนอให้ฟื้นฟูโครงการความร่วมมือระหว่าง 2 เกาหลีที่ถูกระงับไปนานถึง 10 ปีภายใต้รัฐบาลอนุรักษนิยม โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมแกซอง ซึ่งบริษัทเกาหลีใต้ได้เข้าไปตั้งฐานการผลิตและว่าจ้างชาวเกาหลีเหนือมาเป็นแรงงาน
ชาวเกาหลีใต้ยืนรอต้อนรับประธานาธิบดีคนใหม่และภรรยาเข้าสู่ทำเนียบสีน้ำเงินในกรุงโซล
อย่างไรก็ตาม โรเบิร์ต เคลลี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติปูซาน เตือนว่า ยุทธศาสตร์ของ มุน อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่ได้มากอย่างที่หลายคนหรือแม้แต่ตัว มุน เองคาดหวัง เพราะสถานการณ์ปัจจุบันมีความแตกต่างจากเมื่อ 20 ปีก่อนที่นโยบายซันไชน์ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรก การครอบครองอาวุธนิวเคลียร์และเทคโนโลยีขีปนาวุธที่ก้าวหน้าทำให้รัฐบาลเกาหลีเหนือมีอำนาจต่อรองมากขึ้นกว่าเก่า

เคลลี กล่าวเสริมว่า การฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมแกซอง หรือแม้กระทั่งประกาศใช้ “นโยบายซันไชน์ 2” อาจทำให้จุดยืนของ มุน สวนทางกับสหรัฐฯ ซึ่งมองว่าโสมแดงเป็น “ภัยคุกคามต่อประชาคมโลก” ที่สมควรถูกคว่ำบาตรและโดดเดี่ยวให้หนักขึ้น

มุน ยังไม่เห็นด้วยที่รัฐบาล พัค กึน-ฮเย ไปทำข้อตกลงยินยอมให้วอชิงตันส่งระบบป้องกันขีปนาวุธในบรรยากาศชั้นสูง (THAAD) เข้าไปติดตั้งในเกาหลีใต้ โดยระบุว่าเรื่องนี้ควรเป็นการตัดสินใจของประธานาธิบดีคนใหม่มากกว่า ซึ่งนี่ก็เป็นอีกเรื่องที่เขาอาจต้องผิดใจกับรัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเคยเรียกร้องให้โซลจ่ายค่าติดตั้ง THAAD เป็นเงินถึง 1,000 ล้านดอลลาร์

โจนาธาน พอลแล็ค นักวิเคราะห์จากศูนย์เพื่อนโยบายเอเชียตะวันออกศึกษา สถาบันบรุกกิงส์ ระบุว่า “จีนคงจะยืนเชียร์อยู่ข้างเวที” ให้ มุน ใช้อำนาจยับยั้งระบบ THAAD เพราะปักกิ่งระแวงว่าเรดาร์อันทรงพลังของขีปนาวุธสกัดกั้นตัวนี้จะถูกใช้สอดแนมดินแดนจีน

มุน เขียนไว้ในหนังสือที่ตีพิมพ์เมื่อเดือน ม.ค. ว่า เกาหลีใต้ควรเรียนรู้ที่จะ “ปฏิเสธ” อเมริกาบ้าง และระหว่างการไลฟ์สดทางยูทิวบ์เมื่อวันอังคาร (9) เขาก็ย้ำอีกว่า เกาหลีใต้ควรแสดงบทบาทเชิงรุกในการยับยั้งภัยคุกคามเกาหลีเหนือ ไม่ใช่แค่รอฟังสหรัฐฯ กับจีนคุยกัน

ในส่วนของนโยบายปฏิรูปภายในประเทศ เช่น ลดช่องว่างรายได้ และขยายการจ้างงาน ก็ดูจะเป็นเรื่องท้าทายไม่น้อยสำหรับผู้นำคนใหม่ของเกาหลีใต้ เนื่องจากพรรคประชาธิปไตยของ มุน มี ส.ส. เพียง 40% ของสภาทั้งหมด 299 ที่นั่ง และการออกกฎหมายสำคัญๆ ก็จะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. ไม่น้อยกว่า 60% นั่นหมายความว่า มุน จำเป็นที่จะต้องจับขั้วกับพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อผลักดันแผนปฏิรูปให้ลุล่วงไปได้

กำลังโหลดความคิดเห็น