เอเจนซีส์ - เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า เกิดการพังถล่มของอุโมงค์บางส่วนที่โรงงานจัดการพลูโตเนียม บริเวณสถานกักเก็บนิวเคลียร์แฮนฟอร์ด ในรัฐวอชิงตัน เมื่อวันอังคาร (9 พ.ค.) แต่ยังไม่มีสิ่งบ่งชี้ว่ามีคนงานหรือสาธารณชนได้รับการปนเปื้อนจากกัมมันตภาพรังสี
บรรดาคนงานที่นั่นได้อพยพหรือหลบเข้าที่กำบัง ทั้งยังมีการปิดระบบระบายอากาศ หลังจากพบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอุโมงค์ในครั้งนี้ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองซีแอทเทิลไปทางตะวันออกราว 270 กิโลเมตร
ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นร้ายแรงกว่าที่มีรายงานกันในช่วงแรก นอกจากนี้คำสั่งให้หลบเข้าที่กำบังก็ขยายผลให้ครอบคลุมพื้นที่โรงงานทั้งหมด หลังจากเจ้าหน้าที่ชุดรับมือกับสถานการณ์นี้พบว่าจุดที่พังถล่มนั้นเป็นอุโมงค์ขนส่งขนาด 400 ตารางฟุต
“ส่วนบนได้พังเป็นรูลงมา กินพื้นที่ประมาณ 20 ฟุตของอุโมงค์นี้ ที่มีความยาวราวหนึ่งร้อยฟุต” เจ้าหน้าที่กล่าว
“นี่คือมาตรการระวังภัยไว้ก่อน ยังไม่มีพนักงานคนใดได้รับบาดเจ็บ และยังไม่มีสิ่งบ่งชี้ว่าเกิดการแพร่กระจายของรังสีปนเปื้อน” เจ้าหน้าที่กล่าว
เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานระบุว่า ไม่มีเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้ว ถูกเก็บไว้ในอุโมงค์ดังกล่าว ขณะเดียวกัน ทอม คาร์เพนเตอร์ ผู้อำนวยการบริหารของกลุ่มเฝ้าระวัง “แฮนฟอร์ด ชาเลนจ์” ได้บอกว่าเหตุอุโมงค์ถล่มครั้งนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวล พร้อมย้ำว่าการอพยพคนนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว
สถานที่เกิดเหตุครั้งนี้อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐวอชิงตัน บริเวณแม่น้ำโคลัมเบีย ดำเนินงานโดยรัฐบาลกลาง ก่อตั้งขึ้นในช่วงยุคปี 1940 ทำหน้าที่ผลิตพลูโตเนียม ซึ่งนำไปใช้กับระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรก รวมถึงอาวุธนิวเคลียร์ชนิดอื่นๆ แต่ตอนนี้มันถูกเลิกใช้งานแล้ว โดยมีกระทรวงพลังงานเข้ามาทำหน้าที่เก็บกวาด
สถานกักเก็บนิวเคลียร์แฮนฟอร์ดซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เลิกใช้งานแล้ว คืออีกหนึ่งปมขัดแย้งระหว่างรัฐกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ซึ่งเคยมีการฟ้องร้องดำเนินคดีเกี่ยวกับความปลอดภัยของคนงานและเรื่องการเก็บกวาดที่ล่าช้า
คาร์เพนเตอร์ได้เรียกที่นั่นว่าเป็นบริเวณที่มีรังสีปนเปื้อนมากที่สุดของสหรัฐฯ ทั้งยังคาดการณ์ด้วยว่า ค่าใช้จ่ายในการเก็บกวาดทำความสะอาดน่าจะไปถึงระดับ 300-500 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ