เอเอฟพี - มุน แจ-อิน นักการเมืองหัวเสรีซึ่งกำลังก้าวสู่สถานะประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้ มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจไม่น้อย โดยเป็นทั้งอดีตนายทหารหน่วยรบพิเศษ แกนนำนักศึกษาต่อต้านเผด็จการ และทนายความที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน
ผลการนับคะแนนที่เสร็จสมบูรณ์จากคณะกรรมการการเลือกตั้งเกาหลีใต้ (NEC) พบว่า มุน ได้รับคะแนนโหวตไปทั้งสิ้น 41.1% หรือเท่ากับบัตรลงคะแนนราวๆ 13.4 ล้านใบ ขณะที่ ฮอง จุน-พโย ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ มุน ว่าเป็น “นักการเมืองหัวซ้ายโปรเปียงยาง” ตามหลังมาห่างๆ ที่ 24.03% ส่วน อันห์ ชอล-ซู ผู้สมัครสายกลาง ได้คะแนนเป็นอันดับสาม 21.4%
สำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลีใต้รายงานว่า จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งคราวนี้สูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 20 ปี และคาดว่า มุน จะเข้าพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ที่อาคารรัฐสภาในช่วงเที่ยงวันนี้ (10 พ.ค.) หลังจากที่ NEC ประกาศรับรองสถานะของเขา
ชัยชนะในวันนี้นับเป็นความสำเร็จสูงสุดในเส้นทางการเมืองของ มุน แจ-อิน ซึ่งเริ่มต้นจากการเป็นสมาชิกขบวนการนักศึกษาในช่วงที่เกาหลีใต้ยังถูกปกครองโดยระบอบเผด็จการทหาร และเคยถูกจับกุมฐานร่วมชุมนุมประท้วงอย่างผิดกฎหมาย
เมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ชาวเกาหลีใต้หลายล้านคนได้ออกมาประท้วงจุดเทียนบนท้องถนนต่อเนื่องหลายสัปดาห์ เพื่อขับไล่อดีตประธานาธิบดีพัค กึน-ฮเย ที่ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมคอร์รัปชันและใช้อำนาจโดยมิชอบ จนในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้มีคำสั่งถอดถอนเธอออกจากตำแหน่งไปเมื่อเดือน มี.ค.
ความจริงที่ฟังดูตลกร้ายก็คือ มุน แจ-อิน ซึ่งกำลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเกาหลีใต้คนใหม่ เคยเป็นประธานคณะเจ้าหน้าที่ของอดีตประธานาธิบดีโนห์ มู-ฮยอน ซึ่งตัดสินใจกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายเมื่อปี 2009 หลังถูกสอบสวนข้อหารับสินบน
“การทุจริตคอร์รัปชันถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับการเมืองเกาหลีใต้” โรเบิร์ต เคลลี จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติปูซาน ระบุ “นี่คือความจริงทีเดียว ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ทุกคนล้วนเคยถูกกล่าวหาว่าพัวพันการคอร์รัปชัน รับสินบน หรืออะไรทำนองนั้น แต่มีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันไป”
มุน เกิดที่เกาะเกียวเจ (Geoje) ทางตอนใต้ของประเทศในปี 1952 ซึ่งเป็นช่วงที่สงครามเกาหลีกำลังร้อนระอุ โดยบิดามารดาของเขาได้อพยพหนีตายมาจากฝั่งเกาหลีเหนือ
มุน เล่าไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของเขาว่า บิดาเคยเป็นแรงงานในค่ายเชลยสงคราม ส่วนมารดาเป็นแม่ค้าเร่ขายไข่ไก่อยู่ที่เมืองปูซาน โดยเธอมักจะนำบุตรชายตัวน้อยห่อผ้าผูกหลังไปด้วยเสมอ
มุน เข้าศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคยุงฮีในกรุงโซลเมื่อปี 1972 ก่อนจะถูกจับกุมและไล่ออกฐานเป็นแกนนำนักศึกษาต่อต้านระบอบเผด็จการ พัค จุง-ฮี ซึ่งก็คือบิดาแท้ๆ ของอดีตประธานาธิบดี พัค กึน-ฮเย
หลังพ้นโทษออกมา มุน ถูกเกณฑ์เป็นทหารในหน่วยรบพิเศษ ได้เข้าร่วมปฏิบัติการ “พอล บันยัน” ซึ่งเป็นการแสดงแสนยานุภาพระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้เพื่อตัดต้นไม้ต้นหนึ่งในเขตปลอดทหาร หลังจากที่ทหารอเมริกัน 2 นายถูกทหารเกาหลีเหนือใช้ขวานจามจนเสียชีวิตขณะพยายามเข้าไปเล็มกิ่งต้นไม้ซึ่งกีดขวางการมองเห็นของผู้สังเกตการณ์จากสหประชาชาติ โดยฝ่ายเกาหลีเหนือนั้นอ้างว่าต้นไม้ดังกล่าวอดีตประธานาธิบดี คิม อิล ซุง เป็นผู้ปลูกไว้
มุน กลับเข้าศึกษาต่ออีกครั้งในปี 1980 ทว่าก็มาถูกจับกุมซ้ำอีก
มุน เคยถูกตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่จนบาดเจ็บ และได้รับการปรนนิบัติดูแลจาก “คิม จุง-ซุก” เพื่อนหญิงร่วมชั้นเรียน ซึ่งกลายมาเป็นภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของเขาจนถึงทุกวันนี้
มิตรภาพระหว่างเขากับ โนห์ มูฮยอน ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นผู้นำเกาหลีใต้ เริ่มก่อตัวขึ้นในปี 1982 เมื่อทั้งคู่ได้ร่วมกันเปิดบริษัทกฎหมายที่เมืองปูซาน เพื่อต่อสู้ในประเด็นสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง
มุน และ โนห์ เป็นแกนนำคนสำคัญในการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 1987 ซึ่งนำไปสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ทางตรงครั้งแรกในปีเดียวกัน
หลังจาก โนห์ เริ่มเข้ามาเล่นการเมือง มุน ยังคงยึดอาชีพทนายความอยู่ที่เมืองปูซานต่อไป โดยเน้นช่วยเหลือพวกนักศึกษาและแรงงานที่ถูกจับฐานก่อการประท้วง หรือนัดหยุดงาน
ราว 1 ปีหลังจากที่ โนห์ ชนะการเลือกตั้งและกลายเป็นผู้นำเกาหลีใต้เมื่อปี 2002 มุน ได้ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลในฐานะผู้ช่วยประธานาธิบดี โดยมีหน้าที่ปราบปรามเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริต และคัดกรองบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งระดับสูง ก่อนที่ตัวเขาเองจะก้าวขึ้นไปถึงตำแหน่งประธานคณะเจ้าหน้าที่รัฐบาล (chief of staff)
มุน วัย 64 ปี ให้สัญญาว่าจะลดการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจโดยพวก “แชโบล” ซึ่งหมายถึงกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในเกาหลีใต้ หลังจากคดีทุจริตของ พัค กึน-ฮเย ได้เปิดโปงวัฒนธรรมการเอื้อประโยชน์ที่มีมานับสิบๆ ปีระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับพวกแชโบล ซึ่งทำธุรกิจกอบโกยผลประโยชน์โดยแทบไม่เคยถูกตรวจสอบ
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายศัตรูของ มุน ชี้ว่า เขาเป็นคนใจแคบ และถูกรุมล้อมโดยพวกลูกสมุนขี้อิจฉา ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พรรคประชาธิปไตยฝ่ายค้านแตกแยกอย่างรุนแรง
“เมื่อเขากลายเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ความขัดแย้งระหว่างพวกเสรีนิยมกับอนุรักษนิยมจะรุนแรงขึ้น และการปรองดองในชาติก็จะทำได้ยากยิ่งขึ้นด้วย” คิม ซุง-โฮ อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยยอนเซ ให้ความเห็น
นักวิจารณ์บางคนมองว่า มุน วัย 64 ปี อ่อนข้อให้เกาหลีเหนือมากเกินไป โดยเขาเสนอให้ทั้ง 2 ฝ่ายเปิดการพูดคุยเพื่อลดความตึงเครียด และดึงโสมแดงกลับสู่โต๊ะเจรจา
มุน ยังไม่เห็นด้วยกับการนำระบบป้องกันขีปนาวุธในบรรยากาศชั้นสูง (THAAD) จากสหรัฐฯ เข้ามาติดตั้งในเกาหลีใต้ ซึ่งเรื่องนี้อาจสร้างปมปัญหาขึ้นระหว่างรัฐบาลของเขากับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเคยออกมาเรียกร้องให้โซลจ่ายค่าติดตั้ง THAAD เป็นเงินถึง 1,000 ล้านดอลลาร์