xs
xsm
sm
md
lg

Focus:ปูตินรุกฆาตปักกิ่ง! ใช้โอกาสสัมพันธ์บุกประชิด ”เปียงยาง”ตั้งแต่ม.คยันล่าสุด เปิดเรือเฟอร์รีวิ่งยาวจากเกาหลีเหนือเข้ารัสเซีย ใช้ได้เมื่อวาน แต่นิวสวีกชี้ “ไม่ง่าย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ – เงื่อนงำความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและเกาหลีเหนือคืบหน้าผิดปกติ หลังสหรัฐฯออกแรงกดดันจีน จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งและเปียงยางร้าว อึ้ง พบปูตินพร้อมเข้าสานต่อแทนที่สี จิ้นผิง เริ่มต้นกระชับความสัมพันธ์แบบก้าวกระโดดตั้งแต่มกราฯยันเดือนนี้ ก้าวแรกทางการ เปิดบริการเรือเฟอร์รีเชื่อมเมืองราจิน เกาหลีเหนือ ตรงเข้าวลาดิวอสต็อกของรัสเซีย ใช้ได้ตั้งแต่วันจันทร์(8 พ.ค) แต่นิวส์วีกยังชี้ อาจไม่ง่าย

CNBC และสื่อนิวสวีกรายงานล่าสุดถึง หมากการเมืองระหว่างรัสเซียที่มีต่อเกาหลีเหนือ โดยใช้ความเหินห่างทางความสัมพันธ์ระหว่างเปียงยางกับปักกิ่งเข้าเป็นตัวช่วยเปิดทาง ซึ่งสื่อนิวสวีกชี้ว่า อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับปูติน โดยผู้เชี่ยวชาญนโยบายจีน ยุน ซุน(Yun Sun)ประจำสถาบันธิงแท็งก์ในกรุงวอชิงตันดีซี เดอะ สติมสัน เซ็นเตอร์(the Stimson Center) และยังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสังเกตการณ์เกาหลีเหนือ 38 นอร์ท(38 North) ได้ยืนยันกับนิตยสารนิวสวีกว่า “จีนยังไม่ยอมลามือกับเกาหลีเหนือง่ายๆ”

ทั้งนี้ในการเปิดเผยรายงานเมื่อวันที่ 5 พ.ค ของสถาบันสตราตฟอร์(Stratfor) เชี่ยวชาญด้านการข่าวความมั่นคงและการเมืองที่มีฐานอยู่ในเมืองออสติน รัฐเทกซัส ระบุถึงความพยายามของรัสเซียล่าสุด ที่หันเข้าหาเกาหลีเหนืออย่างน่าสงสัย โดยระบุว่า “ดูเหมือนรัสเซียจะเริ่มปูทางอย่างเงียบๆในการกระชับความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือให้แนบแน่น ดังนั้นการเพิ่มอิทธิพลทางการเมืองในระดับโลกของรัสเซียจึงเป็นสิ่งที่มอสโกจำเป็น” ซึ่งในรายงานได้อ้างอิงไปถึง ความสัมพันธ์ที่ตรึงเครียดระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตก

สอดคล้องกับนิวสวีกเมื่อวานนี้(8 พ.ค) ที่ได้ระบุว่า “ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและเกาหลีเหนือเริ่มตรึงเครียดมากขึ้น รัสเซียกลับเพิ่มความสนใจไปยังคาบสมุทรเกาหลี พร้อมที่จะเพิ่มความเข้มข้นทางความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านที่ถูกโดดเดี่ยวของตัวเอง” โดยอ้างอิงในรายงานฉบับเดียวกัน

ทั้งนี้สื่อ CNBC ชี้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมอสโกและเปียงยางถือว่าน่าสนใจ เป็นต้นว่า ในปี 2014 รัสเซียยอมยกหนี้ร่วม 90% ของจำนวน 11 พันล้านดอลลาร์ที่เปียงยางมีตั้งแต่สมัยอดีตสหภาพโซเวียต ในขณะที่เกิดโปรเจกต์ร่วมกันระหว่าง 2 ชาติที่มี ยิ่งแสดงให้เห็นถึงมิตรภาพอันอบอุ่นระหว่างปูตินและประธานาธิบดี คิม จองอึน

โดยพบว่า เส้นทางเดินเรือเฟอร์รีระหว่าง 2 ชาตินั้น ให้บริการจากวลาดิวอสต็อก(Vladivostok)ของรัสเซียเข้าสู่เมืองราจิน(Rajin)ของเกาหลีเหนือ ที่คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่เมื่อวานนี้(8 พ.ค) โดยชี้ว่า จะมีศักยภาพสามารถขนส่งผู้โดยสารได้สูงสุด 200 คน และสินค้าจำนวน 1,000 ตันของคาร์โก ใน 6 ครั้งต่อเดือน

ซึ่งรายละเอียดในเรื่อง สื่อรัสเซียภาคภาษาอังกฤษ พอร์ตนิวส์(portnews) ได้เปิดเผยในต้นช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า เรือเฟอร์รี แมน กยอง บอง(Man Gyong Bong)ติดธงชาติเกาหลีเหนือ จะเริ่มต้นเปิดให้บริการเดินเรือระหว่างเกาหลีเหนือและรัสเซีย

โดยในรายงานของสื่อรัสเซียระบุว่า จะเปิดให้บริการได้ภายในเดือนเมษายน 2017 แต่ของสื่อ CNBC สหรัฐฯที่รายงานในวันอาทิตย์(7 พ.ค)ชี้ว่า จะเริ่มต้นเปิดใช้ในวันจันทร์(8 พ.ค)

ทั้งนี้พบว่าเรือลำนี้ได้รับอนุญาตให้เดินเรือเฟอร์รีโดยสาร และเรือสินค้าประเภทต่างๆ 6 เที่ยวต่อเดือน โดยที่ผู้โดยสารที่จะเดินทางออกจากเมืองวลาดิวอสต็อกจะสามารถขึ้นเรือเฟอร์รีโดยสารได้ที่ “Berth No1” บริเวณเทอร์มินอลผู้โดยสารวลาดิวอสต็อก ในขณะที่คาร์โกสินค้าจะให้บริการที่ Berth No 5 ของท่าเรือสินค้าวลาดิวอสต็อก

และในรายงานของสื่อรัสเซียยังระบุเพิ่มเติมว่า การเดินทางระหว่างทั้ง 2 เมืองในช่วงกลางคืนระยะทางราว 910 ไมล์ ใช้เวลาราว 9-10 ช.ม ระบุว่า เรือเฟอร์รีจะออกจากท่าเมืองราจินของเกาหลีเหนือตั้งแต่เวลา 19.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น และจะเดินทางมาถึงท่าเรือเมืองวลาดิวอสต็อก รัสเซีย ในเวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันถัดไป และหลังจากที่เรือลำนี้จอดค้างอยู่ที่ท่าเรือรัสเซียเป็นเวลา 2 วัน เรือโดยสารจะออกเดินทางออกจากท่าอีกครั้งในเวลา 19.00 น. กลับคืนเกาหลีเหนือ

ทั้งนี้มีการชี้ว่า ผู้โดยสารบนเรือเฟอร์รีสัญชาติเกาหลีเหนือในระหว่างที่อยู่บนท่าเรือทั้งสอง คาดว่าจะได้รับความอำนวยความสะดวกด้านที่พัก รวมไปถึงบริการด้านอาหาร ในบริการบนตัวเรือ

และสำหรับรายละเอียดของเรือเฟอร์รีแมน กยอง บองลำนี้ พบว่าถูกสร้างในเกาหลีเหนือตั้งแต่ปี 1971 มีความยาวตลอดลำราว 97 ม. ความจุคาร์โกอยู่ที่ 3,317 ตัน และยังพบว่า เรือมีความสามารถในการให้บริการผู้โดยสารสูงสุด 193 คน และมีห้องที่แตกต่างกันไปภายในลำเรือถึง 40 ห้องเคบิน นอกจากนี้ยังพบว่า ภายในตัวเรือลำนี้ยังมีให้บริการห้องภัตตาคาร 1 แห่ง บาร์อีก 2 แห่ง รวมไปถึงร้านค้า และซาวนา ส่วนลูกเรือทั้งลำนั้นเป็นพลเมืองเกาหลีเหนือทั้งหมด

สื่อรัสเซียรายงานต่อ โดยระบุว่า เชื่อว่าผู้โดยสารส่วนใหญ่ของเรือเฟอร์รีเส้นทางประวัติศาสตร์นี้จะเป็นลูกทัวร์จากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ที่จะเดินทางไปเยือนเมืองราซอน( Rason) ของเกาหลีเหนือ และเดินทางต่อเพื่อเยือนเมืองวลาดิวอสต็อก รัสเซีย ก่อนเดินทางกลับเข้าเกาหลีเหนืออีกครั้ง

และนอกเหนือจากโครงการเส้นทางเรือเฟอร์รีที่ได้ประกาศเปิดให้บริการแล้ว CNBC รายงานถึงความเคลื่อนไหวอื่นของรัสเซีย พบว่าในเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีการพบเห็นการเคลื่อนของยุทโธปกรณ์ทางทหารของรัสเซีย ถูกส่งไปยังบริเวณพรมแดนติดกับเกาหลีเหนือ แต่ทางมอสโกอ้างว่า ตามการรายงานของรอยเตอร์ในขณะนั้น การเคลื่อนไหวครั้งนั้นเป็นไปตามแผนการตามกำหนดฝึกซ้อมรบทั่วไปเท่านั้น

นอกจากนี้ยังพบว่า ในเดือนมีนาคมก่อนหน้านี้ ทั้ง 2 ชาติ รัสเซียและเกาหลีเหนือได้บรรลุข้อตกลงขยายความร่วมมือส่งแรงงานเกาหลีเหนือเข้าสู่รัสเซีย ซึ่งเชื่อว่า มีแรงงานเกาหลีเหนือจำนวนหลายหมื่นคนอาศัยในประทศยูเรเชียน (Eurasian) ที่สื่อสหรัฐฯระบุ เชื่อว่า ส่วนมากเป็นแรงงานทาสเกาหลีเหนือที่ต้องทำรายได้ในต่างแดน ส่งกลับไปป้อนให้กับผู้นำ คิม จองอึน อ้างอิงจากกลุ่มฮิวแมนไรท์

และความสัมพันธ์ที่ไม่ธรรมดาระหว่างกันยังเกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม เมื่อพบว่า ผู้นำระดับสูงขององค์การรถไฟแห่งชาติรัสเซียได้เดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือ เพื่อหาความร่วมมือระหว่างทั้งสองชาติ โดย CNBC ชี้ว่า ในการพูดคุยได้รวมไปถึงการสร้างระบบรางจากเมืองราจินไปยังคาซาน(Khasan) ของรัสเซีย และโครงการความร่วมมือส่งนักเรียนเกาหลีเหนือไปฝึกในมหาวิทยาลัยรัสเซียในอนาคต

ซึ่งสื่อสหรัฐฯชี้ จากการรายงานของสตราตฟอร์แสดงให้เห็นว่า ความเคลื่อนไหวของรัสเซียตั้งแต่เดือนมกราคมไปจนถึงพฤษภาคมล่าสุด ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ระหองระแหงระหว่างปักกิ่งและเปียงยาง

เกิดขึ้นหลังจากที่จีนถูกประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ กดดันอย่างหนัก ทำให้เมื่อไม่นานมานี้ ปักกิ่งได้ประกาศขู่จะตัดการส่งออกพลังงาน ป้อนเข้าเกาหลีเหนือ หากว่าผู้นำคิม จองอึน ยังคงดื้อดึงทำการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่ 6 ต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม ยุน ซุน แห่งเดอะ สติมสัน เซ็นเตอร์ ออกมาชี้ว่า จีนจะยังไม่ยอมทิ้งเกาหลีเหนือไป ที่ถึงแม้ปักกิ่งจะต้องทนอึดอัดที่ไม่สามารถทำให้เกาหลีเหนือเข้าสู่โต๊ะเจรจากับสหรัฐฯได้ตามต้องการ เนื่องมาจากปัญหาความแข็งกร้าวของผู้นำเกาหลีเหนือคนใหม่ ต่างจากผู้พ่อ คิม จองอิล “ซึ่งถือเป็นการขัดแย้งด้านบุคลิกระหว่างคิม คนรุ่นหนุ่ม และประธานาธิบดีสี” และจะไม่ทำให้ความสัมพันธ์ยาวนานหลายสิบปีระหว่างปักกิ่งและเปียงยางต้องเปลี่ยนทิศโดยสิ้นเชิง

ซึ่งในจุดนี้ นิวสวีกได้อ้างอิงต่อจากข้อมูลของ เจนนี ทาวน์(Jenny Town)ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันความสัมพันธ์สหรัฐฯ-เกาหลีประจำมหาวิทยาลัยจอห์นฮอฟกิน และบรรณาธิการบริหารกลุ่มสังเกตการณ์เกาหลีเหนือ 38 นอร์ท (38 North)ที่ได้ออกมาให้ความเห็นว่า นับตั้งแต่ประธานาธิบดีคิม จองอึนขึ้นสู่อำนาจ ชายผู้นี้ได้ส่งสัญญาณออกมาว่า ***จะไม่ยอมสยบอยู่ใต้อำนาจของปักกิ่งอีกต่อไป***

โดยเธอกล่าวว่า “นับตั้งแต่ประธานาธิบดี คิม จองอึนขึ้นสู่อำนาจ ดิฉันคิดว่าเขาได้ส่งสัญญาณออกมาให้ได้รับรู้ว่า เขาจะไม่ยอมอยู่ในการควบคุมของจีนอีกต่อไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ มาจนถึงเวลานี้ คิม จองอึน ยังไม่เคยเดินทางไปเยือนปักกิ่งเพื่อพบกับผู้นำจีน ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เป็นการเฉพาะตัว และรวมไปถึงการออกคำสั่งประหารชีวิต จาง ซอง เต็ก(Jang Song Thaek) ที่เป็นผู้มีความสัมพันธ์แนบแน่นทั้งทางการเมืองและการค้ากับปักกิ่ง”

ซึ่งในรายงานของผู้เชี่ยวชาญของสตราตฟอร์ CNBC ระบุว่า อิทธิพลของรัสเซียต่อสถานการณ์เกาหลีเหนือ สามารถทำให้ปูตินได้แต้มต่อในโลกตะวันตกในระหว่างที่เขาต้องเผชิญหน้ากับข้อกล่าวหา เข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และบทบาทของรัสเซียในปัญหาซีเรียและความขัดแย้งในยูเครนตะวันออก

“ถึงแม้รัสเซียจะไม่สามารถแก้ปัญหาเกาหลีเหนือได้แต่เพียงลำพัง แต่ทว่ายังมีศักยภาพมากเพียงพอที่จะเล่นบทเป็นคนร้ายหรือคนดีต่อความพยายามใดๆของโลกตะวันตกในการเข้าแก้ปัญหา” อ้างอิงจากรายงานของสตราตฟอร์

ซึ่งในรายงานฉบับนี้ได้ชี้ว่า รัสเซียมีความต้องการในการอุทิศทรัพยากรปัจจัยสำคัญเพื่อหันเหการพึ่งพาของเกาหลีเหนืออกจากจีน ที่ทางสตราตฟอร์ได้ให้ตัวเลขว่า เกาหลีเหนือต้องพึ่งจีนสูงถึง 90%ของการค้าระหว่างกัน ในขณะที่เกือบ 1 ใน 3 ของความเคลื่อนไหวที่ว่านี้นั้นมีต้นกำเนิดมาจากรัสเซีย ทำให้สถาบันสตราตฟอร์ระบุว่า ความจำเป็นในการเพิ่มด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานที่รัสเซียต้องทุ่มเพื่อจะแทนที่จีน นั้นต้องใช้ทั้งเวลาที่ยาวนานและเงินจำนวนมากเพื่อจะทำให้เกิดขึ้น

และในรายงานจากสถาบันเชี่ยวชาญที่มีฐานในเมืองออสตินยังระบุต่อว่า ถึงแม้รัสเซียจะไม่สามารถมีอิทธิพลต่อเกาหลีเหนือเทียบเท่าได้กับที่จีนมี แต่ทว่า มอสโกยังสามารถใช้ความพยายามเข้าขัดขวางมาตรการใดๆที่ออกมาจากจีน สหรัฐฯ หรือพันธมิตรของชาติเหล่านี้ในการกดดันเกาหลีเหนือ โดยระบุว่า “ยังคงเป็นความต้องการของรัสเซียในการที่จะยังคงต้องการให้เกาหลีเหนือ เป็นรัฐกันชน หรือบัฟเฟอร์สเตท ระหว่างรัสเซียและพันธมิตรชาติตะวันตกของเกาหลีใต้และญี่ปุ่น”

นอกเหนือไปจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากสตราตฟอร์ยังระบุเพิ่มเติมว่า อีกทั้งปูตินยังต้องการใช้เกาหลีเหนือเพื่อเป็นหมากในการพัฒนาเขตตะวันออกไกลของรัสเซีย โดยชี้ว่า “รัสเซียให้คุณค่าต่อการเข้าถึงเกาหลีเหนือทางภูมิประเทศ เหมือนเป็นเส้นทางเปิดไปสู่ตลาดโลกได้”

อย่างไรก็ตามยุนได้กล่าวสรุปในการให้ความเห็นกับนิวสวีกในวันจันทร์(8 พ.ค) โดยยืนยันว่า “ความสำคัญของความสัมพันธ์ได้เพิ่มขึ้น” และกล่าวให้ความเห็นอีกว่า “ระดับความสัมพันธ์ของรัสเซียต่อเกาหลีเหนือไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่เป็นเพราะระดับความสัมพันธ์กับจีนนั้นกลับน้อยลง” ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายจีนยืนยันซ้ำอีกครั้งว่า อย่าคิดว่าการที่จีนนั้นหันไปเอาใจสหรัฐฯกดดันเปียงยาง จะทำให้ปักกิ่งต้องยอมทิ้งเกาหลีเหนือ




กำลังโหลดความคิดเห็น