เอเจนซีส์ – ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ระบุการกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดกับรัสเซียนั้นเป็นแค่ข่าวลวงที่ไม่มีหลักฐานยืนยัน หลังอดีตรักษาการรัฐมนตรียุติธรรมเข้าให้การต่อสภาว่าเคยเตือนทำเนียบขาวแล้วเรื่อง "ไมเคิล ฟลินน์" อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ หมกเม็ดเรื่องการหารือกับทูตรัสเซีย ซึ่งเกรงจะทำให้เขาถูกดัดหลัง เนื่องจากรัสเซียอาจมีหลักฐานยืนยันการโป้ปดของฟลินน์ด้วย
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อ้างอิงคำให้การของ "เจมส์ แคลปเปอร์" อดีตผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรอง ต่ออนุกรรมาธิการตุลาการวุฒิสภาเมื่อวันจันทร์ (8 พ.ค.) ที่บอกว่า เขาไม่รับรู้ถึงการมีหลักฐานการสมรู้ร่วมคิดระหว่างทรัมป์กับรัสเซีย ซึ่งหน่วยงานด้านข่าวกรองของอเมริกาลงความเห็นว่า พยายามแทรกแซงการเลือกตั้งเมื่อปลายปีที่แล้วเพื่อสนับสนุนทรัมป์
อย่างไรก็ตาม แคลปเปอร์สำทับว่า เขาไม่รู้เช่นกัน เรื่องสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) กำลังสอบสวนกรณีดังกล่าว จนกระทั่งมีการเปิดเผยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งบ่งชี้ว่าทางเอฟบีไออาจมีหลักฐานที่เป็นข้อมูลลับที่เขาไม่รู้
ในการให้การต่ออนุกรรมาธิการชุดเดียวกันและเกิดขึ้นในวันเดียวกัน ซึ่งพุ่งประเด็นที่ ไมเคิล ฟลินน์ อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทรัมป์นั้น "แซลลี่ เยตส์" อดีตรักษาการรัฐมนตรียุติธรรม ยืนยันรายงานที่ว่า เธอแจ้งต่อ "ดอน แม็กกาห์น" ที่ปรึกษาทำเนียบขาว หลังจากทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง 6 วัน ว่าฟลินน์ไม่ได้พูดความจริงกับรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ เรื่องที่ไปคุยกับ เซอร์เก คิสลยาค เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำวอชิงตัน เกี่ยวกับมาตรการแซงก์ชันของอเมริกาต่อรัสเซีย ซึ่งทำให้อดีตพลโทจากกองทัพบกผู้นี้เสี่ยงที่จะถูกแบล็กเมล์ เนื่องจากมอสโกไม่เพียงรู้ว่า เขาโป้ปด แต่มีแนวโน้มว่ามีหลักฐานพิสูจน์ด้วย
เยตส์แจงว่า แม็กกาห์นแสดงท่าทีให้เข้าใจว่า เรื่องดังกล่าวร้ายแรงและจะน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งหากไม่มีการจัดการ อย่างไรก็ตาม ต้องใช้เวลาถึง 18 วัน พร้อมการกดดันจากเพนซ์และสมาชิกคณะบริหารคนอื่นๆ กว่าทรัมป์จะยอมปลดฟลินน์
เยตส์ที่ได้รับแต่งตั้งโดยอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา และถูกทรัมป์ปลดเมื่อวันที่ 30 มกราคม หลังท้าทายคำสั่งแบนการเดินทางพลเมืองมุสลิมหลายชาตินั้น ไม่ได้เปิดเผยว่า ฟลินน์คุยอะไรกับคิสลยาคระหว่างหารือทางโทรศัพท์เมื่อเดือนธันวาคม 2016 ซึ่งถูกหน่วยงานข่าวกรองของอเมริกาแอบตรวจสอบลับๆ
ทรัมป์นั้นพยายามยัดเยียดว่า กรณีรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งเป็น “ข่าวปลอม” แม้หน่วยงานด้านข่าวกรองของสหรัฐฯ สรุปชัดว่า ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ก็ตาม
เมื่อช่วงค่ำวันจันทร์ ประมุขทำเนียบขาวผู้ไต่เต้ามาจากวงการอสังหาริมทรัพย์ ก็ได้ระดมโพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ยืนกรานแบบเดิม
“เรื่องรัสเซีย-ทรัมป์สมรู้ร่วมคิดเป็นเรื่องหลอกลวงทั้งเพ เมื่อไหร่เกมปริศนาที่ผลาญภาษีของประชาชนจะจบเสียที” ผู้นำสหรัฐฯ ยังทวิตซ้ำว่า คำให้การของเยตส์เป็นแค่ “ข่าวเก่า” ไม่มีอะไรใหม่ นอกจากนั้นก่อนกำหนดให้การ ทรัมป์ยังทวิตโจมตีว่า เยตส์เป็นคนให้ข้อมูลเรื่องฟลินน์กับสื่อ ซึ่งเรื่องนี้ทั้งฟลินน์และแคลปเปอร์ต่างให้การภายใต้คำสาบานว่า ไม่เคยแพร่งพรายข้อมูลลับแต่อย่างใด
การให้การของเยตส์เกิดขึ้นหลังจากอดีตเจ้าหน้าที่หลายคนในคณะบริหารของโอบามาเปิดเผยว่า อดีตประธานาธิบดีผิวสีจากพรรคเดโมแครตเคยทักท้วงทรัมป์อย่างหนัก เรื่องการเสนอชื่อฟลินน์เป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนเพียงสองวัน
ทั้งนี้ โอบามาเคยปลดฟลินน์ออกจากสำนักงานข่าวกรองกลาโหมเมื่อปี 2014 เนื่องจากไม่มีประสิทธิภาพทั้งด้านการบริหารจัดการและเรื่องส่วนตัว
ทางด้าน ฌอน สไปเซอร์ โฆษกทำเนียบขาวบอกกับผู้สื่อข่าวว่า ไม่แปลกที่โอบามาแสดงความกังวลกับทรัมป์เรื่องฟลินน์ เนื่องจากฟลินน์มักวิจารณ์ข้อบกพร่องของคณะบริหารของโอบามาอย่างไม่ไว้หน้า
ในการให้ปากคำต่อวุฒิสมาชิกเมื่อวันจันทร์ แคลปเปอร์ยังระบุว่า การแทรกแซงการเลือกตั้งของรัสเซียเมื่อปีที่แล้ว เป็นสัญญาณเตือนอย่างชัดเจนให้อเมริการะมัดระวังและหาทางรับมือการคุกคามต่อระบอบประชาธิปไตยทั้งในอเมริกาและทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต
แคลปเปอร์ยังยืนยันว่า รายงานในหนังสือพิมพ์ "เดอะ การ์เดียน" ที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของอังกฤษเริ่มสงสัยว่า มีการติดต่อระหว่างเหล่าที่ปรึกษาของทรัมป์กับสายลับรัสเซียเมื่อปลายปี 2015 และแจ้งให้หน่วยงานข่าวกรองของอเมริการับรู้นั้นเป็นความจริง
การให้การของแคลปเปอร์และเยตส์ทำให้ประเด็นรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งอเมริกากลับมาร้อนฉ่าอีกครั้ง หลังจากพรรคเดโมแครตกล่าวหาว่า รีพับลิกันพยายามเตะถ่วงการสอบสวนของคณะกรรมาธิการรัฐสภาหลายชุดเพื่อปกป้องทำเนียบขาว