xs
xsm
sm
md
lg

IMF เตือนเอเชียเรียนรู้จาก “ญี่ปุ่น” เพื่อหาวิธีรับมือ “สังคมผู้สูงวัย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วเอเชียเรียนรู้จากประสบการณ์ของญี่ปุ่น และเตรียมวางแผนนโยบายแต่เนิ่นๆ เพื่อรับมือกับจำนวนประชากรผู้สูงวัยที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมเตือนว่าในบางประเทศ “ผู้คนยังไม่ทันร่ำรวย ก็แก่เสียแล้ว”

รายงานภาพรวมเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ไอเอ็มเอฟเผยแพร่วันนี้ (9 พ.ค.) ระบุว่า เศรษฐกิจในทวีปเอเชียได้ประโยชน์จากอัตราการปันผลทางประชากร (demographic dividends) ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่เมื่อจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงเริ่มเกิด “ภาษี” ทางประชากรที่บั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

“การปรับตัวให้เข้ากับสังคมผู้สูงอายุอาจท้าทายมากเป็นพิเศษสำหรับเอเชีย เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่มีรายได้ต่อหัวค่อนข้างต่ำ และภาวะความสูงวัยของประชากรก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายภูมิภาค” รายงานไอเอ็มเอฟ ระบุ

“บางประเทศในเอเชียกำลังแก่ตัวลง ก่อนที่จะร่ำรวย”

ไอเอ็มเอฟประเมินว่า อัตราการเพิ่มของประชากรในเอเชียจะลดลงเป็น “ศูนย์” ภายในปี 2050 และส่วนแบ่งประชากรวัยทำงานซึ่งเพิ่มถึงจุดสูงสุดจะค่อยๆ ลดลงในอีกหลายสิบปีข้างหน้า ขณะที่ประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจมากกว่าปัจจุบันถึง “2 เท่าครึ่ง” ภายในปี 2050

นั่นหมายความว่า สภาวการณ์ทางประชากรจะบั่นทอนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกลง 0.1% ภายในอีก 30 ปีข้างหน้า

ปัญหานี้ถือเป็นวิกฤตร้ายแรงสำหรับญี่ปุ่นซึ่งกำลังกลายเป็นสังคมผู้อายุอย่างรวดเร็ว และมีอัตราการเกิดที่ต่ำมาก

กลุ่มคนวัยแรงงานในญี่ปุ่นลดลงมากกว่า 7% ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

การที่คนญี่ปุ่นจำนวนมากอาศัยเงินบำนาญเลี้ยงชีพอาจเป็นสาเหตุของการออมที่มากเกิน และการลงทุนที่น้อยเกิน ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจซบเซา และยังเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าเกณฑ์ 2% ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ตั้งเป้าไว้

“ประสบการณ์ของญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ดีของแรงต้านทางประชากร (demographic headwinds) ที่ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ พลวัตเงินเฟ้อ และประสิทธิภาพของนโยบายการเงิน” ไอเอ็มเอฟระบุ

กองทุนแห่งนี้ยังเรียกร้องให้ประเทศในเอเชียเรียนรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น และหาวิธีรับมือกับแรงต้านทางประชากรเสียแต่เนิ่นๆ เช่น จัดทำแผนเพิ่มศักยภาพทางการคลังที่ได้ผล สนับสนุนให้ผู้หญิงและผู้สูงวัยเข้าสู่ตลาดแรงงาน และปรับปรุงระบบตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม (social safety nets)

กำลังโหลดความคิดเห็น