xs
xsm
sm
md
lg

ชาวเกาหลีใต้แห่เข้าคูหาเลือกตั้ง “ปธน.คนใหม่” หลังคดีทุจริต “พัค กึน-ฮเย” ก่อสุญญากาศการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มุน แจ-อิน ผู้สมัครประธานาธิบดีเกาหลีใต้จากพรรคประชาธิปไตย ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน หลังหย่อนบัตรลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งในกรุงโซล วันนี้ (9 พ.ค.)
เอเอฟพี - ชาวเกาหลีใต้เดินทางออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ในวันนี้ (9 พ.ค.) หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งถอดถอนอดีตผู้นำหญิง พัค กึน-ฮเย ในคดีคอร์รัปชัน ซึ่งทำให้การเมืองแดนโสมขาวตกอยู่ในภาวะสุญญากาศ ท่ามกลางความหวั่นวิตกภัยคุกคามจากอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

หน่วยเลือกตั้งกว่า 139,000 แห่งทั่วประเทศ เริ่มเปิดให้ลงคะแนนเมื่อเวลา 6.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือราว 4.00 น. ตามเวลาในไทย โดยคาดว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิล้นหลามเป็นประวัติการณ์

พฤติกรรมรับสินบนและใช้อำนาจโดยมิชอบของ พัค และคนใกล้ชิดยิ่งเพิ่มความโกรธแค้นต่อชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ ซึ่งมองว่ารัฐบาลของเธอล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาการจ้างงานและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

มุน แจ-อิน อดีตทนายความด้านสิทธิมนุษยชนผู้มีแนวคิดเอียงซ้าย เป็นตัวเก็งที่มีคะแนนนิยมสูงสุดต่อเนื่องมานานหลายเดือน โดยผลสำรวจครั้งสุดท้ายของ แกลลัป โคเรีย ก่อนที่ผู้สมัครทุกคนจะต้องยุติการหาเสียง 1 สัปดาห์ก่อนเลือกตั้ง พบว่า มุน มีคะแนนนิยมอยู่ที่ 38% ตามมาด้วย อันห์ ชอล-ซู ผู้สมัครสายกลางจากพรรคประชาชน 20%

ด้าน ฮอง จุน-พโย ผู้สมัครจากพรรค ลิเบอร์ตี โคเรีย ของอดีตประธานาธิบดี พัค กึน-ฮเย รั้งอันดับ 3 ด้วยคะแนนนิยมราว 16%

ชุง แต-วาน นายแพทย์วัย 72 ปี ซึ่งเข้าไปหย่อนบัตรลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งในเขตแซโชทางตอนใต้ของกรุงโซล ระบุว่า “ผมเลือก ฮอง เพราะประเด็นความมั่นคง (ต่อต้านเกาหลีเหนือ) เป็นสิ่งสำคัญที่สุด”

แม้การรณรงค์หาเสียงจะเน้นหนักไปที่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยไม่พาดพิงถึงเกาหลีเหนือมากนัก แต่หลังจากที่เกาหลีใต้ถูกปกครองโดยรัฐบาลอนุรักษนิยมมานานถึง 10 ปี ชัยชนะของ มุน อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อนโยบายที่โซลมีต่อเปียงยาง รวมถึงพันธมิตรสำคัญอย่างสหรัฐฯ

นักวิจารณ์บางคนมองว่า มุน วัย 64 ปี อ่อนข้อให้เกาหลีเหนือมากเกินไป โดยเสนอให้ 2 ฝ่ายพูดคุยเพื่อลดความตึงเครียด และดึงโสมแดงกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจา ทั้งยังไม่เน้นพึ่งพาแสนยานุภาพของสหรัฐฯ ซึ่งส่งทหาร 28,500 นายเข้ามาประจำการอย่างถาวรเพื่อการันตีความมั่นคงให้แก่แดนโสมขาว

มุน ให้สัมภาษณ์เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า รัฐบาลโซล “ควรเป็นผู้นำในการตัดสินใจเรื่องบนคาบสมุทรเกาหลี” และชาวโสมขาวจะต้องไม่ “นั่งอยู่เบาะหลัง” เสมอไป

เกาหลีเหนือทดสอบนิวเคลียร์มาแล้วถึง 2 ครั้ง และยิงขีปนาวุธอีกหลายระลอกตั้งแต่ต้นปี 2016 เพื่อพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลที่สามารถส่งหัวรบนิวเคลียร์ไปโจมตีแผ่นดินสหรัฐฯ ขณะที่วอชิงตันก็ขู่ว่าการใช้กำลังทหารตอบโต้เกาหลีเหนือ คือ อีกหนึ่งทางเลือกที่สหรัฐฯ พร้อมพิจารณา ทำให้หลายฝ่ายเกรงว่าความขัดแย้งครั้งนี้อาจลุกลามจนนำไปสู่สงครามในที่สุด

เมื่อไม่นานนี้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาผ่อนจุดยืนของสหรัฐฯ โดยกล่าวว่า ตน “ยินดี” ที่จะพบกับผู้นำ คิม จอง อึน ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม

มุน เองก็ประกาศว่าเขาพร้อมจะไปเยือนเปียงยางเพื่อพบผู้นำคิม และยังเสนอให้รื้อฟื้นโครงการความร่วมมือระหว่าง 2 ชาติ ที่ถูกระงับไปโดยรัฐบาลก่อนๆ เช่น นิคมอุตสาหกรรมแกซอง

อย่างไรก็ดี สำหรับคนเกาหลีใต้ส่วนใหญ่แล้ว การทุจริตประพฤติมิชอบ เศรษฐกิจชะลอตัว การว่างงาน หรือแม้กระทั่งมลพิษจากจีน คือ ปัญหาที่พวกเขาดูจะให้ความสำคัญเร่งด่วนมากกว่าเรื่องเกาหลีเหนือ

เศรษฐกิจเกาหลีใต้ซึ่งเติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วงทศวรรษ 1970-90 ทำให้ประเทศที่บอบช้ำจากสงครามสามารถหลุดพ้นวงจรความยากจนมาได้ แต่ในปัจจุบันเศรษฐกิจซึ่งโตเต็มที่เริ่มเกิดการชะลอตัว และสถิตการว่างงานในคนเกาหลีใต้ที่อายุต่ำกว่า 30 ปี ก็พุ่งสูงถึง 10%

ความไม่เท่าเทียมทางโอกาสและรายได้ยิ่งทำให้ชาวเกาหลีใต้รู้สึกเดือดดาลกับคดีทุจริตของ พัค ซึ่งเปิดโปงวัฒนธรรมการเอื้อประโยชน์ที่มีมานับสิบๆ ปีระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่ครอบงำเศรษฐกิจเกาหลีใต้ หรือ “แชโบล”

มุน, อันห์ และผู้สมัครคนอื่นๆ ต่างให้สัญญาว่าจะเข้ามาปฏิรูปพวก “แชโบล” ซึ่งถูกวิจารณ์มานานกว่าทำธุรกิจกอบโกยผลประโยชน์โดยแทบไม่ถูกตรวจสอบจากนักลงทุนหรือเจ้าหน้าที่รัฐ

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ถูกพูดถึงระหว่างการหาเสียง คือ ความสัมพันธ์กับจีน ซึ่งเวลานี้ได้ใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจหลายอย่างต่อเกาหลีใต้ เพื่อแก้แค้นที่โซลยอมให้สหรัฐฯ นำระบบป้องกันขีปนาวุธในบรรยากาศชั้นสูง (THAAD) มาติดตั้งในประเทศ

จีนนั้นนอกจากจะเป็นคู้ค้าอันดับหนึ่งของเกาหลีใต้แล้ว ยังเป็นตัวการแพร่มลพิษมาสู่แดนโสมขาวด้วย

บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์จุงอังอิลโบ ที่เผยแพร่ก่อนเลือกตั้งเพียง 1 วัน ระบุว่า ผู้นำเกาหลีใต้คนต่อไปจะต้องนำพาประเทศ “ก้าวผ่านความท้าทายหลายประการ ทั้งเฉพาะหน้าและในระยะยาว” และหากชาวเกาหลีใต้ตัดสินใจเลือกคนผิดอีกครั้ง “เราก็จะต้องยอมรับผลกรรมที่ตามมา อย่างที่เคยได้เรียนรู้มาแล้วจากความผิดพลาดครั้งก่อนๆ”




กำลังโหลดความคิดเห็น