เอเอฟพี - กองทัพฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ จัดพิธีเปิดการซ้อมรบร่วมประจำปีที่กรุงมะนิลาในวันนี้ (8 พ.ค.) ทว่ากิจกรรมการฝึกซ้อมได้ลดขนาดลงอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนจุดยืนของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ที่ต้องการเว้นระยะห่างกับพันธมิตรเก่าแก่อย่างอเมริกา เพื่อหันไปกระชับความสัมพันธ์กับจีนและรัสเซีย
ตลอด 10 เดือนที่เข้าบริหารประเทศ ดูเตอร์เตเลือกที่จะตีตัวออกห่างจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นทั้งหุ้นส่วนด้านกลาโหมและอดีตเจ้าอาณานิคมฟิลิปปินส์ โดยเขาบอกว่าความเป็นมหาอำนาจของอเมริกานั้นกำลังอยู่ในช่วง “ขาลง”
การซ้อมรบภายใต้รหัส “บาลิกาตัน” ซึ่งจะใช้เวลารวม 12 วัน มีทหารจาก 2 ฝ่ายเข้าร่วมไม่ถึงครึ่งของเมื่อปี 2015 ซึ่งเป็นช่วงที่มะนิลายังอยู่ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน ผู้มีจุดยืนโปรอเมริกา นอกจากนี้ยังไม่เน้นเพิ่มศักยภาพด้านการป้องกันทางทะเลให้กับฟิลิปปินส์เพื่อตอบโต้การอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ของปักกิ่งเหมือนเช่นทุกปี
ในขณะที่ อากีโน เลือกใช้ยาแรงจัดการข้อพิพาททางทะเลกับจีน โดยยื่นฟ้องศาลอนุญาโตตุลาการถาวรที่กรุงเฮกให้เข้ามาตัดสินว่าการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนในทะเลจีนใต้นั้นชอบธรรมหรือไม่ แต่ ดูเตอร์เต กลับเลือกที่จะพักข้อพิพาทนี้ไว้ก่อน และหันมาเจรจาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารกับจีนแทน
ขณะไปเยือนกรุงปักกิ่งเมื่อปีที่แล้ว ดูเตอร์เต ซึ่งประกาศตัวเป็นนักสังคมนิยมกล่าวว่า เขาได้ “ปรับตัวให้เข้ากับกระแสความนิยม” ของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน
รัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคของบารัค โอบามา ได้คัดค้านและวิจารณ์การทำสงครามยาเสพติดของดูเตอร์เต ซึ่งทำให้ชาวฟิลิปปินส์หลายพันถูกล่าสังหารโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ขณะที่นักสิทธิมนุษยชนเตือนว่านโยบายเช่นนี้เข้าข่ายก่อ “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”
ดูเตอร์เต ออกมาตอบโต้สหรัฐฯ อย่างเผ็ดร้อน ทั้งการด่า โอบามา ว่าเป็น “ลูกกะหรี่” และยังขู่จะตัดความร่วมมือด้านกลาโหมกับอเมริกา
การเถลิงอำนาจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้ความสัมพันธ์สหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์เริ่มอบอุ่นขึ้นบ้าง แต่ถึงกระนั้น ดูเตอร์เต ก็ยังส่งสัญญาณชัดเจนว่าต้องการใกล้ชิดกับจีนและรัสเซียมากกว่า
ดูเตอร์เต จะเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งในสัปดาห์หน้า ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 2 ของเขาในช่วงเวลาไม่ถึง 1 ปี และยังมีกำหนดพบปะประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ที่กรุงมอสโกในเดือนนี้ด้วย
สัปดาห์ที่แล้ว ดูเตอร์เตระบุว่า เขาอาจจะ “ไม่ว่าง” ไปเยือนทำเนียบขาวตามคำเชิญของทรัมป์ แม้ทางสหรัฐฯ จะยังไม่ได้นัดหมายวันเวลาเลยก็ตาม
ผู้อำนวยการซ้อมรบฝ่ายฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ได้กล่าวในพิธีเปิดการซ้อมรบที่ศูนย์บัญชาการกองทัพชานกรุงมะนิลาว่า การซ้อมรบในปีนี้จะมุ่งเน้นที่การ “บรรเทาภัยพิบัติและต่อต้านก่อการร้าย” เป็นหลัก โดยมีทหารอเมริกันเข้าร่วม 2,600 นาย และทหารฟิลิปปินส์ 2,800 นาย
“บาลิกาตัน” ซึ่งมีความหมายว่า “เคียงบ่าเคียงไหล่” เป็นการฝึกยุทธวิธีร่วมระหว่างสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้หรือน่านน้ำใกล้เคียง โดยเมื่อปี 2015 มีทหารจากทั้ง 2 ชาติเข้าร่วมถึง 12,000 นาย
พล.ท.ลอว์เรนซ์ นิโคลสัน ผู้อำนวยการร่วมฝ่ายอเมริกาในภารกิจ “บาลิกาตัน” ปีนี้ระบุว่า กองทัพสหรัฐฯ หวังว่าการซ้อมรบร่วมกับมะนิลาจะขยายขอบเขตได้มากกว่านี้ในอนาคต
“หากมองย้อนไปตลอด 33 ปีของการซ้อมรบบาลิกาตันจะเห็นได้ว่า มันไม่เหมือนกันเลย มันอาจเปลี่ยนแปลงไปได้หลายทาง ทั้งใหญ่ขึ้นหรือเล็กลง แต่เราก็หวังว่ามันจะใหญ่ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ นับจากนี้” นิโคลสัน บอกกับสื่อมวลชน
หนึ่งในภารกิจหลักของปีนี้คือการฝึกจำลองสถานการณ์เมื่อมีไต้ฝุ่นขนาดใหญ่ซัดถล่มภาคตะวันออกของฟิลิปปินส์ และเคลื่อนตัวผ่านพื้นที่ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น รวมถึงกรุงมะนิลา
หมู่เกาะฟิลิปปินส์ต้องเผชิญกับพายุไต้ฝุ่นปีละไม่ต่ำกว่า 20 ลูก และส่วนใหญ่มีอานุภาพทำลายล้างรุนแรง
กองทัพสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยซูเปอร์ไต้ฝุ่น “ไห่เยี่ยน” ซึ่งซัดถล่มฟิลิปปินส์เมื่อปลายปี 2013 และเป็นพายุหมุนที่มีความรุนแรงขณะขึ้นฝั่งสูงที่สุดเท่าที่โลกเคยบันทึกไว้
มหาวาตภัยครั้งนั้นคร่าชีวิตชาวฟิลิปปินส์ไปมากกว่า 7,300 คน และตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้นกว่านี้ หากเรือรบสหรัฐฯ ไม่รีบเดินทางเข้าไปส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย