การเถลิงอำนาจของผู้นำสหรัฐฯ “โดนัลด์ ทรัมป์” และนโยบาย “อเมริกา เฟิร์สต์” ทำให้หลายประเทศในเอเชียถูกดึงเข้าสู่วงโคจรรอบ “จีน” อย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง คำแถลงร่วมของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) หลังการประชุมสุดยอดผู้นำที่กรุงมะนิลาเมื่อปลายเดือน เม.ย. ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่ชี้ชัดถึงความเปลี่ยนแปลงทางภูมิยุทธศาสตร์ที่กำลังเร่งความเร็วขึ้นทุกขณะ
หลายฝ่ายที่กลัวว่าสหรัฐฯ จะทิ้งยุทธศาสตร์ “ปักหมุดเอเชีย” ซึ่งอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้กรุยทางไว้คงจะโล่งใจขึ้นบ้าง เมื่อทราบข่าวว่า ทรัมป์ โทรศัพท์พูดคุยกับผู้นำฟิลิปปินส์ ไทย และสิงคโปร์ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทว่าประธานคณะเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว ไรน์ซ พรีบัส ได้ออกมายืนยันชัดเจนว่า การสนทนาที่เกิดขึ้นนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อ “เตี๊ยม” ประเทศหุ้นส่วนให้แสดงจุดยืนไปในทิศทางเดียวกัน หากความขัดแย้งบนคาบสมุทรเกาหลีลุกลามจนนำไปสู่ “การทำลายล้างด้วยอาวุธนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ในเอเชีย”
ทรัมป์ ไม่ได้เอ่ยถึงเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่กว้างขว้างไปกว่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่อาเซียนปรารถนาจะได้ยิน
ขณะเดียวกัน หลายชาติในอาเซียนก็เริ่มปรับยุทธศาสตร์หันมาคบค้ากับจีนมากยิ่งขึ้น ทั้งยังผ่อนจุดยืนต่อข้อพิพาททะเลจีนใต้ และหวังที่จะมีเอี่ยวกับยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ “One Belt, One Road” ของจีนเพื่อชดเชยความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP)
ความเป็นมิตรไมตรีระหว่าง ทรัมป์ และประธานาธิบดี สี่ จิ้นผิง ยิ่งเพิ่มความมั่นใจให้แก่อาเซียนในการที่จะสานสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน
มัลคอล์ม คุก นักวิเคราะห์จากสถาบันเพื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในสิงคโปร์ ชี้ว่า “ก่อนหน้านี้ประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่หวังที่จะได้ประโยชน์จากความริเริ่มทางเศรษฐกิจของจีน และการที่สหรัฐฯ พยายามต้านทานอิทธิพลของปักกิ่ง ทว่าองค์ประกอบที่ 2 ในสมดุลอำนาจนี้กลายเป็นสิ่งไม่แน่นอนไปเสียแล้ว หลายประเทศจึงถูกกดดันให้ต้องคล้อยตามจีนมากขึ้น ทั้งในเชิงการทูตและความมั่นคง”
ขณะไปเยือนกรุงปักกิ่งเมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต แห่งฟิลิปปินส์ได้ประกาศ “หันหลัง” ให้กับพันธมิตรเก่าแก่อย่างสหรัฐฯ เนื่องจากไม่พอใจที่ โอบามา วิพากษ์วิจารณ์สงครามยาเสพติด และยังกล่าวหาว่ารัฐบาลของเขาละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง
ทำเนียบขาวระบุว่า ทรัมป์ และ ดูเตอร์เต “คุยกันถูกคออย่างยิ่ง” และเขายังเอ่ยปากเชิญผู้นำฟิลิปปินส์ให้ไปเยือนสหรัฐฯ ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ทำให้องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรต์ วอตช์ ออกมาตำหนิ ทรัมป์ ว่ากำลังให้ท้ายสงครามยาเสพติดที่คร่าชีวิตชาวฟิลิปปินส์หลายพันคนอย่างไม่เป็นธรรม
ดูเตอร์เต ได้ไปตรวจเยี่ยมเรือรบจีนซึ่งจอดเทียบท่าที่เมืองดาเวาเมื่อวันที่ 1 พ.ค. ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่เรือกองทัพแดนมังกรได้มาเยือนฟิลิปปินส์ และยังสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่อบอุ่นขึ้นระหว่างรัฐบาลทั้งสอง
ในขณะที่อดีตประธานาธิบดี เบนิโญ อากีโน แห่งฟิลิปปินส์เลือกยาแรงจัดการข้อพิพาททางทะเลกับจีน โดยยื่นฟ้องศาลระหว่างประเทศให้เข้ามาตัดสินว่าการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนในทะเลจีนใต้นั้นชอบธรรมหรือไม่ ดูเตอร์เต กลับเลือกที่จะพักข้อพิพาทนี้ไว้ก่อน และหันมาเจรจาความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากจีน
นักการทูตอาเซียนหลายคนระบุว่า ปักกิ่งได้ใช้อิทธิพลกดดันฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ให้ถอดเรื่องกิจกรรมของจีนในทะเลจีนใต้ออกจากวาระการประชุมอย่างเป็นทางการ และ ดูเตอร์เต เองก็ออกมาพูดตั้งแต่ก่อนเริ่มประชุมว่า “ไม่มีประโยชน์” ที่จะกดดันจีนในเรื่องนี้
คำแถลงร่วมของ 10 ชาติอาเซียนซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ได้ตัดข้อความส่วนที่อ้างถึง “การถมทะเลสร้างเกาะเทียม และการเสริมกำลังทางทหาร” ของจีนออกไป และยังไม่เอ่ยถึง “ความตึงเครียด” หรือ “การยกระดับกิจกรรม” ในทะเลจีนใต้ด้วย
คุก ชี้ว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า “กัมพูชาไม่ใช่ชาติเดียวในอาเซียนที่ทำตัวเป็นลิ่วล้อให้จีนในเรื่องปัญหาทะเลจีนใต้อีกต่อไป”
ไทยและมาเลเซียก็หันมาสนิทชิดเชื้อกับปักกิ่งมากขึ้น โดยในส่วนของไทยนั้นความสัมพันธ์กับอเมริกาเริ่มเสื่อมถอยลงในยุคของโอบามา ซึ่งมีความกังวลว่ารัฐบาลทหารกำลังใช้อำนาจลิดรอนเสรีภาพของประชาชน
ทรัมป์ ได้เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยให้ไปเยือนทำเนียบขาว ระหว่างการพูดคุยทางโทรศัพท์เมื่อวันอาทิตย์ (30 เม.ย.) ทว่ารัฐบาลไทยเองดูเหมือนจะมีเป้าหมายทางอื่นอยู่ โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ Yuan Class S26T จากจีน 1 ลำ ในวงเงิน 13,500 ล้านบาท และมีโครงการจะจัดซื้อทั้งหมด 3 ลำ รวมวงเงินงบประมาณที่ต้องใช้ 36,000 ล้านบาท
นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง แห่งสิงคโปร์ ระบุว่า การปรับนโยบายของสหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลยภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจในเอเชียเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
แม้สิงคโปร์จะไม่มีทีท่าว่าอยากคบหาสมาคมใกล้ชิดจีนมากไปกว่านี้ เช่นเดียวกับเวียดนาม แต่นายกฯ ลี ก็ย้ำกับผู้นำอาเซียนเมื่อวันเสาร์ (29 เม.ย.)ว่า แม้รัฐบาล ทรัมป์ จะมีนโยบายที่พลิกผันไปจากจุดยืนดั้งเดิมของสหรัฐฯ มาก แต่อาเซียนก็ยังจำเป็นต้องรักษาสมดุลในด้านความสัมพันธ์กับทั้งปักกิ่งและวอชิงตัน
นักวิเคราะห์เตือนว่า ความไม่แน่ใจในจุดยืนของสหรัฐฯ อาจทำให้ประเทศในอาเซียนเลือกโผเข้าหาจีน ซึ่งอาจเสนอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หรือมาตรการลดหย่อนภาษีมาเป็นสิ่งล่อใจ แต่นั่นหมายความว่าอาเซียนก็จะต้องสูญเสีย “อำนาจต่อรอง” ไปมาก
รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า อาเซียนจำเป็นต้องรักษาอำนาจต่อรองด้วยการดึงสหรัฐฯ กลับเข้ามาช่วยถ่วงดุลจีน และสนับสนุนการขยายบทบาทของญี่ปุ่น
“อาเซียนกำลังตกอยู่ในฐานะสุ่มเสี่ยง เมื่อมีการผ่อนปรนหรือแม้กระทั่งเอาอกเอาใจจีน และหากจีนยังคงใช้เล่ห์เหลี่ยมเพื่อแสวงหาประโยชน์จากอาเซียน เราจะยิ่งลำบาก”