เอเอฟพี - ประธานาธิบดี เรเซป ตัยยิป แอร์โดอัน ของตุรกี กล่าวว่า แผนการของรัสเซียที่จะตั้งเขตลดความรุนแรงภายในซีเรีย จะแก้ไขความขัดแย้งนาน 6 ปีนี้ได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ในความคิดเห็นที่ถูกเผยแพร่ในวันนี้ (4)
เมื่อวานนี้ (3) แอร์โดอันหารือกับประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เกี่ยวกับแผนการที่มอสโกเสนอให้ตั้ง “เขตลดความรุนแรง” ในหลายพื้นที่ในซีเรีย
ในการพูดคุยกับผู้สื่อข่าวตุรกีบนเครื่องบินของเขาที่บินกลับจากการประชุมดังกล่าวในเมืองตากอากาศโซชิริมทะเลดำ แอร์โดอัน กล่าวว่า พื้นที่เหล่านี้จะรวมถึงเมืองอิดลิบ, บางส่วนของจังหวัดอเลปโป, เมืองเอล-ราสแตนในจังหวัดฮอมส์, บางส่วนของกรุงดามัสกัส และบางส่วนของเมืองดารา
“ผมหวังว่า หากแผนนี้ถูกบังคับใช้ ปัญหาซีเรีย 50 เปอร์เซ็นต์จะได้รับการแก้ไข” เขากล่าวในความคิดเห็นที่ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์รายวันเฮอร์ริเย็ต และ เยนิ ซาฟัค
รายละเอียดเกี่ยวกับเขตลดความรุนแรงจนถึงตอนนี้ยังคงน้อยมาก แต่แอร์โดอันเรียกแผนการนี้ว่าเป็น “แนวคิดใหม่” และห่างไกลจากข้อเสนอของอังการาก่อนหน้านี้ที่จะให้ตั้งเขตปลอดภัยปลอดการก่อการร้าย
ตุรกีและรัสเซียอยู่กันคนละฝ่ายในความขัดแย้งซีเรีย โดยมอสโกสนับสนุนประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด แต่อังการาหนุนหลังฝ่ายกบฏ
ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศตกอยู่ในความเสี่ยงเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2015 เมื่อเครื่องบินขับไล่ตุรกียิงเครื่องบินขับไล่รัสเซียลำหนึ่งตกเหนือชายแดนซีเรีย
แต่ข้อตกลงคืนความสัมพันธ์สู่ระดับปกติถูกบรรลุเมื่อปีที่แล้ว และทั้งสองฝ่ายทำงานรวมกันใกล้ชิดมากขึ้นกว่าเดิมในความพยายามเพื่อยุติการสู้รบในซีเรีย
ถึงกระนั้นความตึงเครียดก็ยังคงอยู่ และเขากล่าวว่า ในระหว่างการพูดคุยเขาได้ให้ปูตินดูรูปถ่ายที่เผยให้เห็นกองกำลังรัสเซียในซีเรียอยู่กับกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดที่อังการามองว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย
เขากล่าวว่า ปูตินให้คำมั่นว่า อาวุธของรัสเซียไม่ได้กำลังถูกส่งไปให้กับหน่วยพิทักษ์ประชาชน (วายพีจี) และรับปากจะสืบสวนเกี่ยวกับภาพถ่ายนี้
ตุรกีและรัสเซียยังผลักดันการเจรจาสันติภาพในกรุงอัสตานา เมืองหลวงของคาซัคสถานด้วย แต่เกิดปัญหาขึ้นกะทันหันเมื่อวันอังคาร (2) เมื่อกบฏซีเรียโปรอังการากล่าวเมื่อวานนี้ (3) ว่า พวกเขาระงับการมีส่วนร่วมภายหลังการโจมตีทางอากาศ
อย่างไรก็ตาม แอร์โดอัน กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขแล้วหลังจากการแทรกแซงของ ฮากัน ฟิดัน ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองของตุรกี
“นายฮากันเข้าแทรกแซงในทันที ได้มีการหารือกันและฝ่ายต่อต้านเต็มใจที่จะเข้าร่วมการเจรจาอีกครั้งแล้ว” แอร์โดอัน กล่าว