รอยเตอร์ - เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เรียกประชุมคณะเจ้าหน้าที่กระทรวงเพื่อชี้แจงกรอบนโยบายต่างประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ “อเมริกาเฟิสต์” ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทว่าไม่มีการเอ่ยถึงแผนตัดลดงบประมาณที่รัฐบาลเสนอ และกำลังสร้างความวิตกกังวลแก่บรรดานักการทูต
การแสดงปาฐกถาต่อเจ้าหน้าที่กระทรวงเมื่อวานนี้ (3 พ.ค.) ถือเป็นครั้งแรกหลังจากที่ ทิลเลอร์สัน เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ เมื่อวันที่ 2 ก.พ. และการชี้แจงในครั้งนี้ก็นับว่าเป็นการให้รายละเอียดชัดเจนที่สุดเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลทรัมป์
พันธมิตรบางประเทศ หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บางคน ตีความนโยบาย “อเมริกาเฟิสต์” ของทรัมป์ ว่าเป็นการให้ความสำคัญกับเรื่องภายในประเทศมากกว่าสนับสนุนชาติพันธมิตร และซึ่งจะทำให้สหรัฐฯ ถูกลดบทบาทในเวทีโลก
ทิลเลอร์สัน ชี้ว่า นโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ค่อนข้าง “เสียสมดุล” ในช่วงหลายสิบปีมานี้ โดยเน้นส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าขายกับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มากเกินไป
“ความสัมพันธ์เหล่านี้มีความสำคัญยิ่งต่อสหรัฐฯ และพวกเขาก็เป็นพันธมิตรที่สำคัญต่อเรามากด้วย ทว่าเราจำเป็นต้องสร้างสมดุลให้เกิดขึ้น” ทิลเลอร์สัน กล่าวต่อผู้ฟังภายในหอประชุมกระทรวงการต่างประเทศ โดยไม่มีการถือกระดาษโน้ตไว้ในมือ
เขายังกล่าวเป็นนัยๆ ว่าสหรัฐฯ จะไม่เน้นตอบโต้ปัญหาสิทธิมนุษยชนในบางประเทศมากเท่าแต่ก่อน และแม้ค่านิยมของสหรัฐฯ จะยังคงเดิม แต่นโยบายนั้น “ปรับเปลี่ยนได้”
“หากเรากำหนดเงื่อนไขเข้มงวดให้ประเทศอื่นๆ ต้องยอมรับค่านิยมซึ่งมีที่มาจากประวัติศาสตร์อันยาวนานของเรา มันจะกลายเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มพูนผลประโยชน์ด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ”
ทิลเลอร์สัน ยังไล่เลียงสิ่งที่สหรัฐฯ จะเน้นหนักเป็นพิเศษในการปฏิสัมพันธ์กับนานาชาติ ทั้งในเอเชียตะวันออก, รัสเซีย, แอฟริกา และซีกโลกตะวันตก ทว่าไม่มีการกล่าวถึงยุโรป
ในเรื่องโครงการนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ ทิลเลอร์สัน ระบุว่า สหรัฐฯ พร้อมที่จะใช้มาตรการคว่ำบาตรทุติยภูมิ เพื่อลงโทษบริษัทต่างชาติที่ฝ่าฝืนมติยูเอ็นทำการค้ากับเปียงยาง
ทิลเลอร์สัน ชี้ว่าสหรัฐฯ “มีโอกาสอย่างมหาศาล” ที่จะวางกรอบความสัมพันธ์กับปักกิ่งสำหรับช่วงเวลาหลายสิบปีข้างหน้า และตนก็สัมผัสได้ว่าผู้นำจีนมีความปรารถนาเช่นเดียวกัน
ทิลเลอร์สัน และรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เจมส์ แมตทิส จะจัดการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศและกลาโหมของจีนในช่วงเดือน มิ.ย. เช่นเดียวกับรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ สตีเวน มนูชิน และรัฐมนตรีพาณิชย์ วิลเบอร์ รอสส์ ซึ่งจะหารือกับฝ่ายจีนในประเด็นเศรษฐกิจและการค้าด้วย
ทิลเลอร์สัน เล่าว่า ตนได้บอกกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ขณะไปเยือนมอสโกเมื่อเดือนที่แล้วว่า ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียมาถึงจุดตกต่ำที่สุดในยุคหลังสงครามเย็น
“ท่านก็ไม่ปฏิเสธ” ทิลเลอร์สัน กล่าว “ท่านยักไหล่ และพยักหน้าว่าเห็นด้วย”
ตลอด 40 นาทีของการบรรยาย ทิลเลอร์สัน ไม่ได้เอ่ยถึงข้อเสนอของรัฐบาลซึ่งต้องการหั่นงบอุดหนุนด้านการทูตและความช่วยเหลือต่างชาติลง 28% ซึ่งจะกระทบกับวงเงินที่สหรัฐฯ จ่ายอุดหนุนองค์การสหประชาชาติ, การรับมือปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และโครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมต่างๆ และเป็นสิ่งที่นักการทูตอเมริกันตลอดจนองค์กรบรรเทาทุกข์กำลังวิตกกังวล
อดีตเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ คนหนึ่งที่ได้ฟังการปาฐกถาของ ทิลเลอร์สัน กล่าวตำหนิการใช้สโลแกน “อเมริกาเฟิสต์” ซึ่งเป็นคำที่ถูกใช้ครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1930 โดยพวกนิยมการโดดเดี่ยว (isolationists) ซึ่งไม่ต้องการให้สหรัฐฯ เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2
“การเอาคำว่า อเมริกาเฟิสต์ มาใช้แสดงให้เห็นว่า พวกเขาไม่รู้ประวัติศาสตร์เอาเสียเลย และที่แย่กว่านั้นคือพวกเขาไม่แคร์”
เจ้าหน้าที่กระทรวงคนหนึ่งแสดงท่าทีขัดใจที่ ทิลเลอร์สัน ไม่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับแผนตัดงบประมาณ และยังไม่เปิดโอกาสให้ลูกจ้างในกระทรวงได้ตั้งคำถาม ซึ่งแตกต่างจากสมัยของ คอลิน เพาเวลล์, คอนโดลีซซา ไรซ์ และ ฮิลลารี คลินตัน ซึ่งล้วนจัดการเสวนาแบบถาม-ตอบกับพนักงานในกระทรวง หลังจากเข้ารับตำแหน่งเพียงไม่กี่สัปดาห์
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่กระทรวงอีก 2 คนบอกว่ารู้สึกพึงพอใจต่อการชี้แจงของรัฐมนตรีต่างประเทศ และยอมรับว่ายังเร็วเกินไปที่จะคาดหวังให้ ทิลเลอร์สัน ตอบข้อซักถามเรื่องงบประมาณ