เอเอฟพี - เอมมานูแอล มาครง และ มารีน เลอแปน สองผู้สมัครประธานาธิบดีฝรั่งเศส ลับฝีปากกันอย่างเผ็ดร้อนในศึกอภิปรายสดทางโทรทัศน์เมื่อวานนี้ (3 พ.ค.) อันสะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วทั้งในด้านปัญหาเศรษฐกิจ การก่อการร้าย และยุโรป
การประชันวิสัยทัศน์ของทั้งคู่ก่อนถึงวันเลือกตั้งรอบสุดท้าย 7 พ.ค.นี้ ถูกมองว่าเป็นการปะทะกันระหว่าง มาครง ซึ่งสนับสนุนแนวคิดเปิดกว้างและการปฏิรูปที่อิงตลาด กับ เลอแปน ซึ่งชูแนวคิดชาตินิยมขวาจัดที่ประกาศ “ฝรั่งเศสต้องมาก่อน”
บรรยากาศการอภิปรายเริ่มทวีความร้อนแรงตั้งแต่ช่วง 2-3 นาทีแรก เมื่อ เลอแปน วิจารณ์คู่แข่งของเธอซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจและนายธนาคารเพื่อการลงทุนว่า เป็น “ผู้สมัครของชนชั้นสูง” และเป็น “ที่รักของระบบการเมืองเดิมๆ”
มาครง โต้กลับทันทีว่า เลอแปน ซึ่งเป็นผู้นำพรรคเนชันแนลฟรอนต์ “ก็เป็นทายาทของระบบการเมืองที่รุ่งเรืองมาจากความโกรธแค้นของชาวฝรั่งเศสนานนับสิบๆ ปี” และตบท้ายอีกว่า “คุณกำลังเล่นกับความหวาดกลัวของคน”
นักการเมืองหนุ่มวัย 39 ปี ตราหน้า เลอแปน ว่าเป็น “คนโกหก” และถึงขั้นวิจารณ์ว่าเธอเป็น “ปรสิต” ที่หากินกับความสับสนของผู้คนต่อระบบการเมืองฝรั่งเศส
ในประเด็นยุโรป เลอแปน วัย 48 ปี กล่าวหาว่า มาครง จะเป็นผู้นำเมืองน้ำหอมที่ “ยอมสยบ” ให้แก่นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี
“ฝรั่งเศสจะถูกปกครองโดยผู้หญิง ถ้าไม่ใช่ดิฉัน ก็คือคุณแมร์เคิล”
เธอยังกล่าวหา มาครง ว่ามี “ทัศนคติอ่อนแอ” ต่อลัทธิอิสลามเคร่งจารีต (Islamic Fundamentalism) และยังย้ำเตือนผู้ชมว่านักการเมืองหนุ่มผู้นี้เคยเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจของรัฐบาลพรรคโซเชียลลิสต์ที่กำลังเสื่อมความนิยม
ด้าน มาครง ก็โต้กลับแรงๆ แบบไม่เกรงใจ โดยชี้ว่าข้อเสนอต่างๆ ของ เลอแปน เป็นแนวคิดที่ง่ายเกินไป, ไม่มีวันทำสำเร็จได้ และเป็นอันตรายต่อชาติบ้านเมือง โดยเฉพาะเรื่องที่เธอจะนำฝรั่งเศสถอนตัวจากกลุ่มประเทศผู้ใช้เงินยูโร
เขาระบุว่า นโยบายต่อต้านยูโร “คือเรื่องไร้สาระที่สุดในโครงการของ มารีน เลอแปน”
เลอแปน อ้างว่า เงินยูโรซึ่งใช้ในกลุ่ม 19 ประเทศสหภาพยุโรป (อียู) และถูกบางคนในฝรั่งเศสวิจารณ์ว่าเป็นต้นเหตุทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น “คือสกุลเงินของนักการธนาคาร ไม่ใช่ของประชาชน”
ด้วยคะแนนนิยมที่ยังตามหลัง มาครง อยู่ในโพลทุกสำนัก การอภิปรายสดครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสสุดท้ายสำหรับ เลอแปน ที่จะพลิกสถานการณ์ในช่วง 1 สัปดาห์สุดท้ายของศึกชิงบัลลังก์ผู้นำฝรั่งเศส
ผลสำรวจโดย Elabe ซึ่งเผยแพร่ทางสถานีวิทยุ BFM หลังการอภิปรายสิ้นสุดลงทันทีพบว่า ผู้ชมร้อยละ 63 คิดว่า มาครง แสดงวิสัยทัศน์ได้น่าเชื่อถือมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 34 ยกให้ เลอแปน เป็นผู้ชนะ
โพลหลายสำนักคาดการณ์ว่า หากการเลือกตั้งรอบสุดท้ายมีขึ้นในขณะนี้ มาครง จะเป็นฝ่ายชนะ เลอแปน ด้วยคะแนนโหวต 59 ต่อ 41 เปอร์เซ็นต์
ศึกเลือกตั้งผู้นำฝรั่งเศสปีนื้ถือเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับ เลอแปน และพรรคเนชันแนลฟรอนต์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกกลุ่มการเมืองกระแสหลักในฝรั่งเศสมองว่าเป็นพวกขวาตกขอบที่จะต้องโดนบอยค็อตต์
เมื่อครั้งที่ ฌ็อง-มารี เลอแปน บิดาของเธอผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสเมื่อปี 2002 ฌากส์ ชิรัก ซึ่งเป็นคู่แข่งจากพรรคอนุรักษนิยมได้ปฏิเสธที่จะขึ้นเวทีดีเบตกับเขา โดยอ้างว่าไม่ต้องการ “ทำให้ความเกลียดชังและความใจแคบกลายเป็นเรื่องปกติ”