xs
xsm
sm
md
lg

“ทรัมป์-ปูติน” ต่อสายคุยรื่นวิกฤตซีเรีย ตกลงจัดคิวพบปะกันช่วงซัมมิตจี 20

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย(ซ้าย) พูดคุยทางโทรศัพท์กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ(ขวา) เมื่อวันอังคาร(2พ.ค.)
เอเจนซีส์ - “ทรัมป์-ปูติน” ยุติความบาดหมางกรณีอเมริกาถล่มฐานทัพอากาศซีเรียเมื่อเดือนที่แล้ว โดยทั้งคู่เห็นพ้องว่า สงครามกลางเมืองในซีเรียลุกลามยืดเยื้อนานเกินไปแล้ว และต้องการให้มีข้อตกลงหยุดยิง รวมทั้งเขตปลอดภัยรองรับผู้อพยพ ประมุขทำเนียบขาวและเครมลินยังเล็งพบกันตัวต่อตัวระหว่างเข้าร่วมซัมมิตจี 20 ที่เยอรมนีเดือนกรกฎาคมนี้

วันอังคารที่ผ่านมา (2 พ.ค.) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ และวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้หารือกันทางโทรศัพท์เป็นครั้งแรก ภายหลังที่สัมพันธ์สองประเทศร้าวฉานจากกรณีที่อเมริกายิงจรวดโทมาฮอว์ก 59 ลูก ถล่มฐานทัพอากาศซีเรียเพื่อตอบโต้ที่กองทัพของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดของซีเรีย ซึ่งเป็นพันธมิตรของรัสเซีย ใช้อาวุธเคมีโจมตีทำให้พลเรือนซึ่งมีทั้งเด็กๆ ด้วยล้มตายเป็นจำนวนมาก เมื่อเดือนที่แล้ว

เหตุการณ์ดังกล่าวกระตุ้นให้บรรดาที่ปรึกษาอาวุโสของทรัมป์ ทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน และนิกกี้ เฮลีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ออกมาวิจารณ์รัสเซียและปูตินอย่างรุนแรงในเรื่องที่ยังคงหนุนหลังอัสซาด

สำหรับการพูดคุยกันครั้งล่าสุดนี้ คำแถลงจากทั้งทำเนียบขาวและเครมลินบ่งชี้ว่า ผู้นำทั้งสองสนทนากันอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งครอบคลุมถึงวิกฤตเกาหลีเหนือและการต่อสู้กับขบวนการมุสลิมหัวรุนแรงในตะวันออกกลางด้วย

เจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งในคณะบริหารของสหรัฐฯ กล่าวว่า ปูตินเป็นฝ่ายที่ต้องการติดต่อกับทรัมป์ เพื่อเสนอแนวคิดเกี่ยวกับวิกฤตซีเรียที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายแสนคน และประชาชนนับล้านต้องทิ้งบ้านเรือน

ทำเนียบขาวแถลงว่า การสนทนาเป็นไปด้วยดี โดยผู้นำทั้งคู่เห็นพ้องว่า ทุกฝ่ายต้องพยายามอย่างเต็มที่เพื่อยุติความรุนแรงในซีเรีย รวมทั้งยังมีการหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งเขตปลอดภัยหรือเขตปลอดความรุนแรง เพื่อให้เกิดสันติภาพที่ยืนยาวสำหรับเหตุผลด้านมนุษยธรรมและอื่นๆ
  วันอังคารที่ผ่านมา (2 พ.ค.) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของ สหรัฐฯ และวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้หารือกันทางโทรศัพท์เป็นครั้งแรก ภายหลังที่สัมพันธ์สองประเทศร้าวฉานจากกรณีที่อเมริกายิงจรวดโทมาฮอว์ก 59 ลูก ถล่มฐานทัพอากาศซีเรียเพื่อตอบโต้ที่กองทัพของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดของซีเรีย ซึ่งเป็นพันธมิตรของรัสเซีย
ทั้งนี้ ทรัมป์เคยประกาศหลายครั้งระหว่างการหาเสียงเมื่อปีที่แล้วว่า ต้องการให้จัดตั้งเขตปลอดภัยสำหรับผู้อพยพชาวซีเรีย โดยให้ประเทศในอ่าวเปอร์เซียรับผิดชอบค่าใช้จ่าย เพื่อแก้ปัญหาการอพยพไปยังประเทศอื่นๆ รวมถึงอเมริกา นอกจากนั้นทรัมป์ยังแสดงเจตนารมณ์ว่า อเมริกาควรเป็นพันธมิตรกับรัสเซียในการต่อสู้กับกลุ่มอิสลามสุดโต่ง อย่างไรก็ดี สิ่งที่เขากล่าวเหล่านี้กลับเงียบหายไปเมื่อเขาเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม

นอกจากบรรยากาศชื่นมื่นในการพูดคุยของผู้นำทั้งสองแล้ว กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังเผยว่าจะส่ง สจวร์ต โจนส์ รักษาการผู้ช่วยรัฐมนตรีด้านกิจการตะวันออกใกล้ เดินทางไปร่วมการประชุมจัดทำข้อตกลงหยุดยิงในซีเรียที่กรุงอัสตานา, คาซัคสถาน ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ในวันพุธและพฤหัสบดี (3-4) ซึ่งบ่งชี้ว่า วอชิงตันให้ความสำคัญกับการเจรจาดังกล่าวมากขึ้น จากครั้งก่อนหน้านี้ที่อเมริกาไม่ได้ส่งผู้แทนไปร่วมหารือ นอกจากเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำคาซัคสถาน ซึ่งมีส่วนร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์เช่นเดียวกัน

ทางด้านเครมลินแถลงว่า การพูดคุยระหว่างผู้นำทั้งสองเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และมีบรรยากาศแบบการหารือทางธุรกิจ โดยปูตินและทรัมป์เห็นพ้องกันในการยกระดับการเจรจาเพื่อหาทางทำให้ข้อตกลงหยุดยิงซีเรียมีผลบังคับใช้เข้มงวดขึ้น และสร้างเงื่อนไขอันนำไปสู่กระบวนการแก้ปัญหาที่แท้จริงในซีเรีย รวมทั้งการร่วมมือกันเพื่อต่อสู้กับลัทธิก่อการร้าย

นอกจากนั้น ผู้นำทั้งคู่ยังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีคลี่คลายวิกฤตโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธเกาหลีเหนือ โดยเครมลินระบุว่า มีการหารือกันอย่างละเอียด และปูตินเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดกลั้นและช่วยกันลดระดับความตึงเครียด

ปูตินและทรัมป์ยังคุยกันว่า ควรจัดการพบปะหารือกันระหว่างที่ทั้งคู่เดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดกลุ่ม 20 ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก (จี 20) ที่เมืองฮัมบูร์ก, เยอรมนี วันที่ 7-8 กรกฎาคมนี้

แน่นอนว่า การพบกันดังกล่าวจะถูกจับตาอย่างใกล้ชิดในอเมริกา ซึ่งทรัมป์ถูกวิจารณ์มานานว่า ต้องการผูกสัมพันธ์กับมอสโก และยังยกย่องปูตินออกนอกหน้า

ทั้งนี้ หน่วยงานด้านข่าวกรองของสหรัฐฯ เชื่อว่า ปูตินอนุมัติปฏิบัติการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้วเพื่อสนับสนุนให้ทรัมป์เข้าสู่ทำเนียบขาว ซึ่งทำให้คณะบริหารชุดที่แล้วของบารัค โอบามา ออกมาตรการลงโทษรัสเซีย นอกจากนั้น สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนความเป็นไปได้ว่ามีการสมรู้ร่วมคิดระหว่างเครมลินกับทีมหาเสียงของทรัมป์


กำลังโหลดความคิดเห็น