xs
xsm
sm
md
lg

ปธน.ไต้หวันเรียกร้อง “จีน” ปรับทัศนคติ-สร้างสัมพันธ์อันดีกับไทเป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน แห่งไต้หวัน
รอยเตอร์ - ประธานาธิบดีไช่ อิง-เหวิน แห่งไต้หวันเรียกร้องให้จีนปรับทัศนคติ และหยิบยื่นไมตรีเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับไทเป บทสัมภาษณ์ซึ่งเผยแพร่โดยหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นวันนี้ (3 พ.ค.) ระบุ

รัฐบาลจีนตัดช่องทางสื่อสารอย่างเป็นทางการกับไทเป หลังจากที่ ไช่ ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีเมื่อเดือน พ.ค. ปีที่แล้ว เพื่อกดดันให้เธอและพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้ายอมรับในหลักการ “จีนเดียว” (One China) เหมือนที่รัฐบาลพรรคชาตินิยม “ก๊กมินตั๋ง” ได้ตกลงเอาไว้กับปักกิ่ง

ยูไนเต็ด เดลี นิวส์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันของไต้หวันที่ใกล้ชิดกับพรรคก๊กมินตั๋ง อ้างคำพูดของไช่ ที่ว่า ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบที่มีเสถียรภาพจะเป็นประโยชน์ต่อจีนเอง และจีนควรพิจารณาว่าจะหันมาใช้ทัศนคติที่เป็นมิตรกับไต้หวันได้อย่างไรบ้าง

ผู้นำไต้หวันชี้ว่า สถานการณ์โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพในความสัมพันธ์ทวิภาคีจึงต้องอาศัยความพยายามจากทั้ง 2 ฝ่าย

ไช่ ซึ่งเป็นผู้นำพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าที่มีนโยบายเรียกร้องเอกราชแก่ไต้หวัน ระบุว่า เธอต้องการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันไว้ แต่ก็จะไม่ยอมก้มหัวให้จีน

เธอยืนยันว่าจะคง “สถานะในปัจจุบัน” แต่ไม่ยอมรับ “ฉันทามติปี 1992” ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนและพรรคก๊กมินตั๋งได้ตกลงกัน ซึ่งภายใต้ฉันทามตินั้นทั้งสองพรรคเห็นพ้องว่า จีนมีเพียงแค่จีนเดียว (One China) ทว่าแต่ละฝ่ายสามารถเอาไปตีความได้ในแบบของตัวเอง

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ความสัมพันธ์ไต้หวันและจีนจะดีขึ้นหรือไม่หลังผ่านพ้นการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งคาดว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะกระชับอำนาจในมือมากยิ่งขึ้นไปอีก ไช่ ก็ตอบว่า ในการตัดสินใจทางการเมืองจะต้องคิดเผื่อผลลัพธ์ทุกทางที่จะติดตามมา

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ถือเป็นการออกมาให้สัมภาษณ์ครั้งที่ 2 ของไช่ ในรอบสัปดาห์ และเป็นการเบิกโรงก่อนที่ผู้นำหญิงไต้หวันจะกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในโอกาสบริหารประเทศครบ 1 ปี ในวันที่ 20 พ.ค.

รัฐบาลจีนวิจารณ์สุนทรพจน์รับตำแหน่งของ ไช่ เมื่อปีที่แล้วว่า “ให้คำตอบไม่ครบ” เกี่ยวกับบททดสอบว่าด้วยความสัมพันธ์ทวิภาคี

ระหว่างให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไช่ ตั้งคำถามว่า “ทำไมไม่คิดดูบ้างว่า เราทั้งสองกำลังเผชิญบททดสอบใหม่ และเราก็หวังว่าจีนจะใช้มุมมองที่ต่างออกไปในการทำข้อสอบชิ้นนี้”

กองกำลังชาตินิยมจีนได้ลี้ภัยไปยังไต้หวันในปี 1949 หลังพ่ายแพ้สงครามกลางเมืองให้แก่พวกคอมมิวนิสต์ที่นำโดยเหมา เจ๋อตง นับตั้งแต่นั้นไต้หวันก็มีรัฐบาลเป็นของตนเอง และไม่ปรารถนาที่จะถูกปกครองโดยตรงจากจีนแผ่นดินใหญ่

กำลังโหลดความคิดเห็น