รอยเตอร์ - รัฐบาลจีนออกมาแถลงชื่นชม “อาเซียน” ที่ยอมผ่อนจุดยืนเกี่ยวกับข้อพิพาททะเลจีนใต้ในการประชุมซัมมิตที่กรุงมะนิลาเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ พร้อมระบุว่าคำแถลงร่วมของอาเซียนสะท้อนให้เห็นว่าความพยายามลดความตึงเครียดนั้นได้ผลจริง
ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต แห่งฟิลิปปินส์ในฐานะประธานอาเซียน ได้เป็นผู้แทนอ่านถ้อยแถลงร่วมของทั้ง 10 ชาติ ซึ่งได้มีการตัดข้อความส่วนที่อ้างถึง “การถมทะเลสร้างเกาะเทียม และการเสริมกำลังทางทหาร” ของจีนออกไป
ข้อความลักษณะนี้เคยปรากฏในคำแถลงร่วมของอาเซียนเมื่อปีที่แล้ว หรือแม้กระทั่งในฉบับก่อนหน้าที่ไม่มีการเผยแพร่อย่างเป็นทางการ ซึ่งผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ได้เห็นเมื่อวันเสาร์ (29 เม.ย.)
นักการทูตอาเซียน 2 คนยอมรับว่า รัฐบาลจีนได้ใช้อิทธิพลกดดันฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นประธานอาเซียนให้ถอดเรื่องกิจกรรมของจีนในทะเลจีนใต้ออกจากวาระการประชุมอย่างเป็นทางการ
แม้จะอยู่นอกกลุ่มอาเซียนและไม่ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมซัมมิต แต่รัฐบาลปักกิ่งก็มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษต่อคำแถลงร่วมของอาเซียนว่าจะมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ตนหรือไม่ และที่ผ่านมาก็มักจะถูกกล่าวหาว่าใช้อิทธิพลบีบให้อาเซียนตัดทอนเนื้อหาส่วนที่คัดค้านการอ้างอธิปไตยแบบเหมารวมของจีน
เกิง ฉวง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ปฏิเสธที่จะตอบตรงๆ เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่าจีนกดดันให้อาเซียนต้องแก้ไขคำแถลงร่วมหรือไม่
“ตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมา ด้วยความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียน รวมถึงฟิลิปปินส์ สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ลดความร้อนระอุลงมาก และทุกอย่างเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี ซึ่งผมเชื่อว่าสิ่งนี้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของทุกๆ ชาติในภูมิภาค” เกิง กล่าวในงานแถลงข่าววันนี้ (2 พ.ค.)
“ผลการประชุมอาเซียนซัมมิตในปีนี้ก็แสดงให้เห็นชัดเจนถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในทะเลจีนใต้ และความปรารถนาร่วมของทุกประเทศที่จะสร้างเสถียรภาพ ส่งเสริมความร่วมมือ และแสวงหาการพัฒนา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรจะได้รับการเคารพและสนับสนุนจากทุกๆ ฝ่าย”
ซัลดี พาทรอน เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งดูแลกิจการอาเซียน ยืนยันว่า ไม่มีผู้แทนจากชาติใดพยายามชูปัญหาทะเลจีนใต้ หรือเอ่ยถึงการถมทะเลสร้างเกาะเทียมและการขยายอิทธิพลทางทหารของจีนเลย
“ในทางตรงข้าม ผู้นำทุกประเทศต่างย้ำถึงความสำคัญของการฟื้นฟูความสัมพันธ์อันดีระหว่างอาเซียนกับจีน”
การผ่อนจุดยืนของอาเซียนมีขึ้นในขณะที่ประธานาธิบดีดูเตอร์เตพยายามหาทางลดข้อพิพาทกับปักกิ่ง หลังจากที่รัฐบาลมะนิลาชุดก่อนเคยต่อต้านการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนอย่างแข็งกร้าว
ด้วยความพยายามล็อบบี้ของดูเตอร์เต รัฐบาลจีนได้ตกลงยินยอมให้ชาวประมงฟิลิปปินส์กลับเข้าไปยังพื้นที่ซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำบริเวณเกาะปะการังสการ์โบโรห์ (Scarborough Shoal) หลังจากปิดกั้นขัดขวางอยู่เป็นเวลาถึง 4 ปี