รอยเตอร์ - อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน เรียกร้องให้ประชาชนอย่าหลง “ชื่นชม” นโยบายของประธานาธิบดีฮัสซัน รอฮานี ที่เลือกแนวทางสงบศึกกับตะวันตกเพื่อลดโอกาสในการเกิดสงคราม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศการเมืองที่เริ่มร้อนระอุก่อนถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ 19 พ.ค.
ในบทปาฐกถาซึ่งดูเหมือนจะเชียร์ผู้สมัครสายฮาร์ดไลน์ คอเมเนอี ชี้ว่าข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ที่รัฐบาล รอฮานี ยอมทำกับกลุ่มมหาอำนาจ P5+1 เพื่อแลกกับการผ่อนคลายบทลงโทษทางเศรษฐกิจนั้น ไม่ได้เป็นผลดีต่อประเทศมากมายอย่างที่หลายคนคิด
“มีบางคนพูดว่า ตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศ เงาดำของสงครามก็ดูจะลบเลือนไป ซึ่งไม่เป็นความจริง” สื่อรัฐบาลอิหร่านอ้างคำแถลงของ คอเมเนอี
“เงาของสงครามหมดไปจากประเทศ เพราะประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองเพิ่มขึ้นต่างหาก”
คอเมเนอี และกลุ่มผู้สนับสนุนฮาร์ดไลน์ยังวิจารณ์ข้อตกลงนิวเคลียร์ซึ่งทำให้สหรัฐฯ หมดข้ออ้างที่จะใช้ปฏิบัติการทางทหารโจมตีอิหร่านว่า ไม่ได้ให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านมากมายอย่างที่โฆษณาไว้
ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดโรงกลั่นน้ำมันแห่งหนึ่งที่รัฐบาลระบุว่าจะช่วยให้อิหร่านสามารถผลิตน้ำมันได้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศอย่างยั่งยืน รอฮานี ได้ปกป้องจุดยืนของตนเอง โดยระบุว่า “ข้อตกลงนิวเคลียร์ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของชาติ เราควรจะใช้มันให้เกิดประโยชน์ ทว่าบางคนกลับใช้เรื่องนี้ก่อความขัดแย้ง”
เขาบอกด้วยว่า โรงกลั่นน้ำมันแห่งใหม่ที่เมืองบันดาร์อับบาสก็เป็นผลสัมฤทธิ์จากข้อตกลงนิวเคลียร์ และ “การมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก”
เอบราฮิม ไรซี หนึ่งในผู้สมัครคู่แข่งของรอฮานี และยังเป็นผู้นำมุสลิมที่มีประสบการณ์ทำงานด้านตุลาการมาหลายสิบปี ระบุว่า อิหร่านไม่จำเป็นต้องรับความช่วยเหลือจากต่างชาติเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และมีศักยภาพพอที่จะปกป้องตนเองได้
“เราไม่ควรเอาสงครามหรือวิกฤตการณ์ต่างๆ มาขู่ประชาชน เพราะประเทศของเรายังมีความมั่นคงเต็มที่” ไรซี แถลงผ่านสื่อโทรทัศน์
“การที่เราจะต้องเฝ้ารอเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ หรือรอให้ต่างชาติมาช่วยแก้ปัญหาให้นั้น ไม่ถูกต้องเลย”
“ไม่ควรเลยที่เราจะรอคอยไม่รู้กี่ปีต่อกี่ปีเพื่อให้นักลงทุนเข้ามา แต่เราควรจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยศักยภาพที่มีอยู่ในประเทศ”
คำพูดของ ไรซี สอดคล้องกับสิ่งที่ คอเมเนอี เคยออกมาแถลงก่อนหน้านี้
รอฮานี ซึ่งเป็นผู้นำสายกลางที่ส่งเสริมเสรีภาพทางสังคม และมีนโยบายฟื้นฟูความสัมพันธ์อันดีกับโลกตะวันตก ยืนยันว่า อิหร่านต้องการเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ, ระบบคมนาคมขนส่ง และภาคการสื่อสารให้มีความทันสมัย หลังจากที่ถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลกมานานหลายสิบปี
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงลังเลที่จะเข้าไปค้าขายหรือลงทุนในอิหร่าน เพราะเกรงบทลงโทษจากมาตรการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ อีกทั้งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็มีท่าทีที่แข็งกร้าวต่ออิหร่านมากกว่ารัฐบาลบารัค โอบามา ซึ่งความวิตกกังวลเหล่านี้เองทำให้ข้อตกลงที่อิหร่านหวังจะทำร่วมกับบริษัทต่างชาติเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซต้องล่าช้าออกไปอีก