xs
xsm
sm
md
lg

รอยเตอร์รายงาน ‘ทรัมป์’ คุยโทรศัพท์กับ ‘ประยุทธ์’ - ‘ลีเซียนลุง’ แล้ว เรื่องภัยคุกคามนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ขณะอยู่บนเวทีปราศรัยที่เมืองแฮร์ริสเบิร์ก มลรัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อวันเสาร์ (29 เม.ย.) ทั้งนี้ ในด้านระหว่างประเทศนั้น ทรัมป์กำลังเร่งติดต่อกับผู้นำชาติพันธมิตรในเอเชีย เพื่อสร้างแนวร่วมในการต่อต้านเกาหลีเหนือ </i>
รอยเตอร์/MGR ออนไลน์ - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย และ ลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการติดต่อกับชาติพันธมิตรต่างๆ ในเอเชียให้มากขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้รับความร่วมมือจากพวกเขาในการกดดันเกาหลีเหนือที่ยังคงเดินหน้าโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธของตนต่อไป

พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ทรัมป์ได้ติดต่อพูดคุยทางโทรศัพท์กับ พล.อ.ประยุทธ์ และกับนายลี แยกต่างหากจากกันเมื่อวันอาทิตย์ (30 เม.ย.ตามเวลาในสหรัฐฯ ทว่าเป็นช่วงย่างเข้าวันจันทร์ 1 พ.ค. แล้วตามเวลาในไทยและสิงคโปร์) แต่ต่างเป็นการสนทนาในเรื่องเกี่ยวกับภัยคุกคามของเกาหลีเหนือ รวมทั้งประธานาธิบดีอเมริกันยังได้เชื้อเชิญผู้นำของทั้งสองชาติเดินทางไปเยือนวอชิงตันด้วย

“พวกเขาสนทนาหารือกันเกี่ยวกับวิธีการต่างๆ ในการธำรงรักษาแรงบีบคั้นทางการทูตและทางเศรษฐกิจต่อเกาหลีเหนือ” เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ผู้หนึ่งซึ่งขอให้สงวนนาม กล่าวถึงการพูดคุยทางโทรศัพท์ระหว่างทรัมป์กับ พล.อ.ประยุทธ์ และนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์

ทรัมป์ติดต่อสนทนาทางโทรศัพท์กับผู้นำชาติเอเชียทั้งสองในคราวนี้ หลังจากที่ 2 วันก่อนหน้านั้นเกาหลีเหนือได้ทดสอบยิงขีปนาวุธอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งวอชิงตันและโซลต่างระบุว่าประสบความล้มเหลว ทว่าก็เรียกเสียงประณามจากนานาชาติอย่างกว้างขวาง

เมื่อคืนวันเสาร์ (29) ทรัมป์ก็ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต แห่งฟิลิปปินส์ รวมทั้งได้เชื้อเชิญผู้นำแดนตากาล็อกไปเยือนทำเนียบขาวเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ทำเนียบขาวแถลงว่า ทรัมป์กับดูเตอร์เตได้หารือกันในเรื่องสงครามปราบยาเสพติดของผู้นำฟิลิปปินส์ และเรื่องเกาหลีเหนือ โดยที่ทรัมป์แสดงความชื่นชอบมากในการสนทนากับดูเตอร์เต

ในสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีสหรัฐฯยังได้สนทนากับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน และนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น ในประเด็นเรื่องเกาหลีเหนือ

“เราต้องการความร่วมมือในบางระดับจากชาติหุ้นส่วนต่างๆ ในภูมิภาคนี้ให้มากที่สุดเท่าที่เราสามารถหาได้ เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะเดินไปในแนวทางเดียวกัน” เรนซ์ พรีบัส ประธานเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว กล่าวในรายการ “ดิส วีก” ทางเครือข่ายทีวีเอบีซีของสหรัฐฯ ซึ่งออกอากาศเผยแพร่ในช่วงเช้าวันอาทิตย์ (30)

“ดังนั้นถ้ามีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นในเกาหลีเหนือ เราก็จะมีทุกๆ คนที่ความเห็นสอดคล้องต้องกัน คอยให้ความสนับสนุนแผนเพื่อการปฏิบัติการซึ่งอาจจำเป็นต้องนำเอาหุ้นส่วนต่างๆ ของเราในพื้นที่นั้นเข้ามาร่วมมือกัน” เขากล่าวพร้อมกับย้ำว่า “เราจำเป็นต้องทำให้เกิดความเห็นพ้องต้องกันขึ้นมา”
<i>สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานจากกรุงวอชิงตันโดยอ้างเจ้าหน้าที่สหรัฐฯที่ไม่เปิดเผยนามระบุว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของอเมริกา ได้โทรศัพท์พูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยแล้ว ในวันอาทิตย์ที่ 30 เม.ย. ตามเวลากรุงวอชิงตัน (เป็นเวลาย่างเข้าวันจันทร์ที่ 1 พ.ค. แล้วตามเวลาในไทย </i>
พรีบัสกล่าวด้วยว่า การที่ทรัมป์มีแผนสนทนากับผู้นำชาติเอเชียต่างๆ คราวนี้ สืบเนื่องจาก “ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการทำลายล้างทางนิวเคลียร์และการทำลายล้างขนาดมหึมาขึ้นในเอเชีย” โดยในที่สุดแล้วก็จะมาถึงสหรัฐฯ ด้วย

ก่อนหน้านี้ ทรัมป์กล่าวเตือนในระหว่างให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์ในวันเสาร์ (29) ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเกิด “ความขัดแย้งขนาดใหญ่มากๆ” กับเกาหลีเหนือขึ้นมา ทว่าเขาไม่ได้ระบุว่าสหรัฐฯ จะตอบโต้อย่างไรถ้าเกาหลีเหนือเดินหน้าทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ โดยเขากล่าวเพียงว่า “คุณจะได้รู้ในเร็ววันนี้”

ทรัมป์ย้ำว่าเขาจะไม่ป่าวประกาศว่ามีทางเลือกทางการทหารอะไรที่จะหยิบมาใช้บ้าง เพื่อสงวนรักษาความเซอร์ไพรส์เอาไว้ ทั้งนี้ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศของเขาได้พูดเอาไว้ในวันศุกร์ (28) ว่า ทางเลือกทุกๆ อย่างที่จะใช้จัดการกับเกาหลีเหนือยังคงวางอยู่บนโต๊ะเอาไว้ให้พิจารณา

เกาหลีเหนือได้ทดสอบขีปนาวุธครั้งท้ายสุดเมื่อตอนเช้ามืดวันเสาร์ (29) ถึงแม้น่าจะประสบความล้มเหลวโดยแตกเป็นเสี่ยงๆ ภายหลังปล่อยจากฐานยิงไม่กี่นาที แต่ก็เป็นความเคลื่อนไหวซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่หมู่เรือโจมตีของสหรัฐฯนำโดยเรือบรรทุกเครื่องบิน คาร์ล วินสัน เดินทางไปถึงน่านน้ำใกล้ๆ คาบสมุทรเกาหลี ทั้งนี้หมู่เรือโจมตีนี้ได้เริ่มฝึกซ้อมกับเรือรบของกองทัพเรือเกาหลีใต้ในวันเสาร์ (29) เมื่อราวๆ 12 ชั่วโมงหลังการยิงขีปนาวุธล้มเหลวของโสมแดง เจ้าหน้าที่ทหารเรือเกาหลีใต้ผู้หนึ่งเปิดเผย

พรีบัสกล่าวว่า ทรัมป์มีการติดต่ออยู่เป็นประจำกับนายกรัฐมนตรีอาเบะ ของญี่ปุ่น และทรัมป์ยังได้กลายเป็นผู้มีความ “ใกล้ชิดมาก” กับประธานาธิบดีสี ของจีน

ทรัมป์ ซึ่งกล่าวโจมตีจีนอย่างหนัก โดยเฉพาะเรื่องการค้า ในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯปี 2016 ได้กล่าวในการให้สัมภาษณ์รายการ “เฟซ เดอะ เนชั่น” ทางเครือข่ายโทรทัศน์ซีบีเอสของสหรัฐฯ ซึ่งนำมาเผยแพร่ออกอากาศในตอนเช้าวันอาทิตย์ (30) ว่า ข้อพิพาททางการค้าใดๆ กับยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของเอเชียรายนี้ จำเป็นต้องหลีกทางให้แก่เรื่องการหาทางสร้างความร่วมมือกับจีนเพื่อจัดการรับมือกับเกาหลีเหนือ

“การค้าเป็นเรื่องสำคัญมาก ทว่าสงครามครั้งมโหฬารที่มีคนเป็นล้านๆ มีศักยภาพที่ผู้คนเป็นล้านๆ กำลังถูกฆ่าตาย ใช่ไหม? นั่นแหละ อย่างที่เราพูดกันว่า กลายเป็นไพ่ทรัมป์ (ไพ่ใบที่มีศักดิ์เหนือกว่า) ที่เอาชนะ (ไพ่) การค้าได้” ทรัมป์กล่าว
<i>ก่อนหน้าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ โทรศัพท์หารือกับนายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ในคืนวันอาทิตย์ (30 เม.ย.) เขาได้สนทนากับประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต แห่งฟิลิปปินส์ในคืนวันเสาร์ (29 เม.ย.) </i>
ในทำนองเดียวกัน ความกังวลห่วงใยเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนในฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะการที่พวกนักวิพากษ์วิจารณ์หยิบยกเรื่องการเข่นฆ่าผู้คนมากมายด้วยการใช้อำนาจศาลเตี้ยในสงครามปราบปรามยาเสพติดของดูเตอร์เตนั้น ก็กำลังกลายเป็นเรื่องรองเมื่อเปรียบเทียบกับการเผชิญหน้าที่อาจเป็นไปได้ในเอเชีย

“ไม่มีอะไรอย่างอื่นอีกแล้วที่กำลังเผชิญหน้าประเทศชาติของเราในเวลานี้ และที่กำลังเผชิญหน้าภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ไปกว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเกาหลีเหนือ” พรีบัส บอกในการให้สัมภาษณ์รายการ “ดิส วีก” ของเอบีซี

นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ของไทย ก็เป็นอดีตนายพลที่เป็นหัวหน้าของคณะรัฐบาลที่ครอบงำโดยฝ่ายทหาร ซึ่งเข้ายึดอำนาจด้วยการก่อการรัฐประหารในปี 2014 รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์นั้นมีความสัมพันธ์ที่ระหองระแหงกับคณะบริหารของสหรัฐฯก่อนหน้าทรัมป์ นั่นคือในยุคของบารัค โอบามา

เอช. อาร์. แม็กมาสเตอร์ ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของทรัมป์ เมื่อถูกถามว่าวอชิงตันจะต้องตอบโต้ต่อการทดสอบขีปนาวุธครั้งล่าสุดของโสมแดงใช่หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่รองประธานาธิบดีไมก์ เพนซ์ ของสหรัฐฯ ได้ไปบอกพวกชาติพันธมิตระหว่างการเดินทางเยือนเอเชียในเดือนเมษายนว่า “ยุคแห่งการอดกลั้นทางยุทธศาสตร์ (ต่อเกาหลีเหนือ) ได้สิ้นสิ้นลงแล้ว”

แมคมาสเตอร์ กล่าวตอบในรายการ “ฟอกซ์ นิวส์ ซันเดย์” ของโทรทัศน์ข่าวฟอกซ์นิวส์ ว่า “ครับ ใช่เลย เราต้องทำอะไรบางอย่าง” พร้อมกับพูดต่อไปว่า มันน่าจะหมายถึงการเพิ่มมาตรการลงโทษคว่ำบาตรของสหประชาชาติให้แข็งขันยิ่งขึ้นอีก และขณะเดียวกันก็หมายถึงการเตรียมตัวเพื่อการปฏิบัติการทางทหารด้วย

ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า การปรึกษาหารือที่ทรัมป์สนทนากับพวกผู้นำชาติต่างๆ ของเอเชีย หมายความว่าวอชิงตันกำลังเตรียมการเพื่อลงมือปฏิบัติการเล่นงานเปียงยางแล้วใช่หรือไม่
<i>ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ขณะอยู่บนเวทีปราศรัยที่เมืองแฮร์ริสเบิร์ก มลรัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อวันเสาร์ (29 เม.ย.) ทั้งนี้ ในด้านระหว่างประเทศนั้น ทรัมป์กำลังเร่งติดต่อกับผู้นำชาติพันธมิตรในเอเชีย เพื่อสร้างแนวร่วมในการต่อต้านเกาหลีเหนือ </i>
ศาสตราจารย์ เยนส์ เดวิด โอห์ลิน ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์แนล ให้ความเห็นว่า สหรัฐฯอาจจะเพียงแค่กำลังระดมสร้างแนวร่วมพันธมิตรในภูมิภาคให้ได้ใหญ่โตที่สุดในการต่อต้านเกาหลีเหนือ

“มันเป็นทางเลือกอย่างเดียวที่มีอยู่ นั่นคือต้องทำเรื่องนี้แบบพหุภาคี แทนที่จะพยายามแก้ไขเรื่องนี้ด้วยตัวเราเอง” เขากล่าว

แอดัม เอ็ม สมิธ ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงโทษคว่ำบาตรของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในคณะบริหารอดีตประธานาธิบดีโอบามา พูดในทำนองเดียวกันว่า บทเรียนจากการพยายามควบคุมปิดล้อมความทะเยอทะยานทางด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน ก็คือว่ายิ่งสร้างแรงกดดันแบบพหุภาคีได้มากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเท่านั้น

เขาตั้งข้อสังเกตว่า ทรัมป์กับพูดจากับชาติที่เป็นศูนย์กลางด้านเงินในเอเชีย อย่างสิงคโปร์และญี่ปุ่น และกำลังติดต่อหารือกับอีกบางประเทศในภูมิภาค เป็นต้นว่าฟิลิปปินส์ซึ่งแสดงท่าทีไม่ปรารถนาที่จะทำอะไรเกินเลยไปกว่าที่ระบุไว้ในมาตรการลงโทษคว่ำบาตรของยูเอ็น

“ผมคิดว่าสิ่งที่ทำเหล่านี้จำนวนมากเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล เป็นความพยายามที่จะขยายตาข่ายให้กว้างออกไป ไม่จำเป็นต้องอาศัยแต่ปักกิ่ง” สมิธกล่าว “ผมคิดว่านี่เป็นการเริ่มต้นที่ดีของการกระทำในแบบพหุภาคี”

ขณะที่วุฒิสมาชิกจอห์น แม็กเคน สมาชิกชั้นนำคนหนึ่งของพรรครีพับลิกันในเรื่องนโยบายการต่างประเทศ ให้ความเห็นว่าเขาไม่เชื่อว่าทรัมป์กำลังพิจารณาที่จะเปิดการโจมตีเล่นงานก่อนต่อเกาหลีเหนือ เพราะนั่นจะทำให้เกาหลีใต้ที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ต้องตกอยู่ในอันตรายในทันที เขากล่าวเช่นนี้ในรายการ “สเตท ออฟ เดอะ ยูเนียน” ของโทรทัศน์ข่าวซีเอ็นเอ็น

“แต่การที่จะพูดว่าคุณปฏิเสธเด็ดขาดไม่เอาทางเลือกนั้น แน่นอนทีเดียวว่า มันก็จะเป็นการโง่เขลา ทว่ามันจะต้องเป็นทางเลือกสุดท้ายจริงๆ” แม็กเคนบอก

กำลังโหลดความคิดเห็น