เอเจนซีส์ - สายการบินเยอรมนีประกาศยกเลิกข้อบังคับให้มีลูกเรืออย่างน้อย 2 คนอยู่ภายในห้องนักบินตลอดเวลา หลังพบว่าระเบียบใหม่ที่ถูกนำมาใช้หลังเกิดโศกนาฏกรรม “เยอรมันวิงส์” ถูกบังคับพุ่งชนภูเขาเมื่อปี 2015 ไม่ได้ช่วยให้เครื่องบินมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น
อันเดรียส ลูบิตซ์ นักบินที่สองของเที่ยวบิน 4U9525 ฉวยโอกาสที่กัปตันเดินไปเข้าห้องน้ำบังคับเครื่องบินแอร์บัส A320 พุ่งชนเทือกเขาแอลป์ในฝรั่งเศส คร่าชีวิตผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด 150 ศพ
อย่างไรก็ตาม หลายสายการบินพบว่า การกำหนดให้มีลูกเรืออย่างน้อย 2 คนในห้องค็อกพิตไม่ได้ช่วยเพิ่มความปลอดภัยแก่เที่ยวบิน
เว็บไซต์สมาคมสายการบินเยอรมัน BDL ประกาศยกเลิกกฎห้ามนักบินอยู่ภายในค็อกพิตเพียงลำพัง และจะนำระเบียบด้านความปลอดภัยในห้องนักบินของเดิมกลับมาใช้ใหม่ โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.
ก่อนหน้านี้ สำนักงานความปลอดภัยการบินยุโรป (The European Aviation Safety Agency - EASA) ซึ่งเสนอกฎห้ามนักบินอยู่ภายในห้องค็อกพิตคนเดียว ได้ผ่อนคลายกฎนี้เมื่อปีที่แล้ว โดยอนุญาตให้แต่ละสายการบินพิจารณายืดหยุ่นได้ตามความจำเป็น
BDL แถลงว่า สายการบินในสมาคมได้มีการทบทวนกฎระเบียบ และเห็นว่าข้อบังคับให้มีลูกเรือ 2 คนในห้องนักบินนั้นไม่ได้ช่วยเพิ่มความปลอดภัย และอาจจะเป็นอันตรายยิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำ เนื่องจากประตูห้องนักบินจะ “ถูกเปิดบ่อยขึ้น และสามารถคาดเดาได้” และยังเปิดโอกาสให้มีคนเข้าถึงห้องนักบินได้มากกว่าเดิม
BDL ระบุด้วยว่า การก่อวินาศกรรมโดยนักบินเหมือนกรณีของเยอรมันวิงส์นั้นเกิดขึ้นน้อยมาก แต่มีความเสี่ยงมากกว่าที่อาชญากรหรือผู้ก่อการร้ายจะเข้าถึงห้องนักบิน
ลุฟต์ฮันซาซึ่งเป็นสายการบินใหญ่ที่สุดของเยอรมนีก็ตัดสินใจยกเลิกกฎนี้เช่นกัน โดยมีสายการบินในเครือได้แก่ ออสเตรียนแอร์ไลน์ส, สวิสแอร์ไลน์ส และยูโรวิงส์ ซึ่งควบกิจการกับเยอรมันวิงส์เมื่อปี 2015 ก่อนที่จะเกิดโศกนาฏกรรมเที่ยวบิน 4U9525
ด้านสายการบินอื่นๆ ในยุโรปยังคงยืนยันว่าจะบังคับใช้กฎให้มีลูกเรือ 2 คนในห้องนักบินต่อไป