ผลเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบแรกเมื่อวันที่ 23 เม.ย. สร้างความโล่งใจแก่บรรดาผู้สังเกตการณ์นานาชาติ เมื่อ “เอ็มมานูเอล มาคร็อง” ผู้สมัครอิสระสายกลางวัย 39 ปีที่มีแนวคิดโปรยุโรป สามารถกวาดคะแนนเสียงนำมาเป็นที่ 1 แซงหน้านักการเมืองหญิงขวาจัด “มารีน เลอแปน” ซึ่งประกาศตัวเป็นศัตรูกับอียู และทั้งคู่จะต้องไปชิงดำกันต่อในศึกเลือกตั้งรอบ 2 ซึ่งจะลงคะแนนในวันที่ 7 พ.ค.นี้
กระแสประชานิยมที่มาแรงหลังจากมหาเศรษฐี โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะศึกเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ อย่างเหนือความคาดหมายเมื่อปีที่แล้ว รวมถึงการที่อังกฤษลงประชามติแยกตัวจากอียู (เบร็กซิต) ทำให้การเลือกตั้งผู้นำฝรั่งเศสครั้งนี้เป็นที่จับตามองอย่างมาก เพราะในยุโรปเองก็เริ่มมีความวิตกกังวลว่าจะเกิด “เฟร็กซิต” ตามมาอีกชาติ หาก เลอแปน ซึ่งมีแนวคิดขวาจัดกลายเป็นผู้นำเมืองน้ำหอม
ผลการเลือกตั้งผู้นำฝรั่งเศสรอบแรกปรากฏว่า มาคร็อง เข้าวินมาเป็นที่ 1 ด้วยคะแนนโหวต 8.66 ล้านเสียง หรือ 24.01% ในขณะที่ เลอแปน ได้มาทั้งสิ้น 7.68 ล้านเสียง คิดเป็น 21.30% ซึ่งสำหรับ เลอแปน ตัวเลขนี้นับเป็นความสำเร็จสูงสุดที่พรรคฟรอนต์ เนชันแนล (FN) ของเธอเคยทำได้ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส
ฟรองซัวส์ ฟียง จากพรรครีพับลิกันที่เป็นพวกอนุรักษนิยมทำคะแนนได้ 20.01% และอันดับ 4 คือ ฌ็อง-ลุก เมอลองชง จากพรรคฝ่ายซ้าย ได้ไป 19.58%
ผลเลือกตั้งที่ออกมายังสะท้อนความล้มเหลวของพรรคการเมืองกระแสหลักทั้งฝ่ายซ้ายและขวา โดยหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลถึงกับเรียกว่าเป็นการ “ดัดหลังกลุ่มอำนาจหลักในฝรั่งเศส”
ประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ เรียกร้องให้ชาวฝรั่งเศสช่วยกันสนับสนุน มาคร็อง อดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจในรัฐบาลของเขาเอง พร้อมเตือนว่านโยบายสร้างความแตกแยกและกีดกันพลเมืองกลุ่มน้อยของ เลอแปน จะก่อความเสี่ยงให้แก่ประเทศชาติ
ด้วยวัยเพียง 39 ปี มาคร็องจะกลายเป็นประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส หากเขาสามารถเอาชนะ เลอแปน ได้อีกครั้งในวันที่ 7 พ.ค.
ประวัติของนักการเมืองหนุ่มรายนี้นับว่าน่าสนใจไม่น้อย โดย มาคร็อง เคยผ่านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของฝรั่งเศสหลายแห่ง รวมถึง ENA อันเป็นสถาบันที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้แก่ผู้นำฝรั่งเศสมาแล้วหลายคน
หลังจากร่วมงานกับธนาคาร Rothschild & Cie Banque จนมีเงินเก็บหลายล้านยูโร นายแบงก์หนุ่มไฟแรงก็ผันตัวมาเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้แก่ประธานาธิบดีออลลองด์ ในปี 2012 และเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจในอีก 2 ปีต่อมา
เดือน ส.ค.ปีที่แล้ว มาคร็องตัดสินใจถอนตัวออกจากพรรคโซเชียลลิสต์ที่กำลังเสื่อมความนิยม และเริ่มสร้างกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองสายกลางที่ใช้ชื่อว่า “ออง มาเช” (En Marche)
ชายหนุ่มผู้มาจากครอบครัวชนชั้นกลางทางตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศสรายนี้สมรสกับ “บริจิต โทรญเญอซ์” อดีตครูของเขาเองสมัยเรียนมัธยม เรื่องราวความรักของทั้งคู่ได้รับความสนใจจากสื่อแดนน้ำหอมเป็นอย่างมาก เนื่องจาก โทรญเญอซ์ นั้นแก่กว่ามาคร็องถึง 25 ปี แถมยังมีลูกติดกับสามีเก่า 3 คน ก่อนที่เธอจะหย่าร้างแล้วมาแต่งงานกับอดีตลูกศิษย์ในปี 2007
ทางด้าน มารีน เลอแปน วัย 48 ปี เป็นบุตรสาวของ ฌ็อง-มารี เลอแปน ผู้ก่อตั้งพรรค FN ซึ่งถูกมองว่าเป็นพรรคการเมืองที่เหยียดเชื้อชาติและต่อต้านชาวเซมิติก บิดาของเลอแปน เคยเข้าถึงรอบชิงในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสเมื่อปี 2002
แม้เธอจะเคยมีประสบการณ์เป็นทนายของรัฐช่วยแก้ต่างให้แก่จำเลยผู้อพยพที่ถูกสั่งเนรเทศ แต่ เลอแปน ก็ยังมองผู้อพยพและอียูว่าเป็นศัตรูต่อเศรษฐกิจฝรั่งเศส
มาคร็อง และ เลอแปน ถือเป็นตัวเลือกผู้นำฝรั่งเศสที่มีวิสัยทัศน์แตกต่างกันสุดขั้ว โดยเฉพาะในประเด็นความสัมพันธ์กับยุโรปและปัญหาผู้อพยพ
เลอแปน เรียกร้องให้ฝรั่งเศสเลิกใช้เงินยูโรและกลับมาใช้สกุลเงินฟรังก์ตามเดิม และยังต้องการให้ปารีสถอนตัวออกจากเขตปลอดหนังสือเดินทางเชงเก้นของยุโรป เธอเคยออกมาทำนายว่า “อียูจะต้องตาย” และขู่จะทำประชามติว่าด้วยการถอนตัวจากอียู หรือ “เฟร็กซิต” หากชนะการเลือกตั้ง นอกจากนี้เธอยังต่อต้านคำสั่งอียูที่อนุญาตให้บริษัทต่างๆ สามารถส่งออกแรงงานไปยังประเทศอื่นๆ ในกลุ่มได้
ด้าน มาคร็อง อดีตนายธนาคารและรัฐมนตรีเศรษฐกิจมีนโยบายส่งเสริมความแข็งแกร่งของยูโรโซน โดยเสนอให้กลุ่มยูโรโซน 19 ประเทศตั้งวงเงินงบประมาณขึ้นมาต่างหาก และควรมี “รัฐสภา” และ “รัฐมนตรีคลัง” เป็นของตัวเอง เขายังเสนอให้ตั้งกองกำลังร่วมป้องกันพรมแดนรอบนอกของยุโรป และเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมยุโรปจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะจากจีน
ในด้านนโยบายผู้อพยพ เลอแปน เสนอแผนลดอัตราการย้ายเข้าสุทธิ (net immigration) ซึ่งหมายถึงส่วนต่างระหว่างชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าและออกจากประเทศ ให้เหลือไม่เกิน 10,000 คน และสัญญาว่าจะงดรับผู้อพยพถูกกฎหมายชั่วคราว
เธอยังเตรียมออกกฎซึ่งจะทำให้การขอลี้ภัยในฝรั่งเศสทำได้ยากขึ้น, แก้ไขนโยบายที่เปิดทางให้ผู้อพยพสามารถนำญาติพี่น้องเข้ามาอาศัยอยู่ในฝรั่งเศส ส่วนชาวต่างชาติที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีก่อการร้ายหรืออาชญากรรมอื่นๆ ก็จะถูก “เนรเทศ” โดยอัตโนมัติ
เลอแปน ซึ่งวิจารณ์ศาสนาอิสลามแบบจารีตดั้งเดิม (Fundamentalist Islam) ว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมฝรั่งเศส ยังชูนโยบายห้ามสวมใส่อาภรณ์ที่ “โอ้อวด” การนับถือศาสนาในที่สาธารณะ ซึ่งรวมไปถึงการคลุมศีรษะหรือปิดหน้าของหญิงมุสลิม
ทางด้าน มาคร็อง ไม่มีนโยบายห้ามมุสลิมคลุมฮิญาบ และยังให้สัญญาว่าจะเร่งกระบวนการพิจารณาคำขอลี้ภัยให้ใช้เวลานานสุดไม่เกิน 6 เดือน
เลอแปน ประกาศจะรีดภาษีสูงถึง 35% จากสินค้าฝรั่งเศสที่ผลิตนอกประเทศ และจะมีบทลงโทษต่อบริษัทที่จ้างแรงงานต่างชาติ รวมถึงลดภาษีเงินได้ลง 10% สำหรับกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุด ส่วน มาครง นั้นเสนอนโยบายงดเก็บภาษีโรงเรือนจากครัวเรือน 80% ในฝรั่งเศสเป็นเวลา 3 ปี
ในด้านพลังงาน มาคร็อง ให้สัญญาว่าจะลดการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ลงมาให้เหลือเพียง 50% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2025 จากปัจจุบันที่ฝรั่งเศสพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์สูงถึง 75% ขณะที่ เลอแปน นั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้สนับสนุนนิวเคลียร์ตัวเอ้ และมีแผนที่จะล้มโครงการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานลมในฝรั่งเศสด้วย
ท่าทีสนับสนุนจากประธานาธิบดีออลลองด์ รวมถึงผู้สมัครบางคน เช่น ฟรองซัวส์ ฟียง และ เบอนัวต์ อามง จากพรรคโซเชียลลิสต์ที่ต่างออกมาเชิญชวนให้ชาวฝรั่งเศสช่วยกันเทคะแนนหนุน มาครง ทำให้นักการเมืองหนุ่มสายกลางผู้นี้มีแนวโน้มสูงมากที่จะเป็นผู้ชนะอย่างเด็ดขาดในศึกเลือกตั้งรอบสอง ทว่าแนวคิดขวาจัดที่แพร่ขยายอย่างกว้างขวางเป็นประวัติการณ์ในหลายประเทศยุโรปก็เป็นสัญญาณเตือนว่ากระแสประชานิยมต่อต้านบรัสเซลส์จะยังคงเติบโตในอียูต่อไป ไม่ว่าใครจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำฝรั่งเศสก็ตาม