xs
xsm
sm
md
lg

InClips : สุดอึ้ง “อินเดียนาโจนส์ ฮาร์วาร์ด” ค้นพบยิ่งใหญ่ “ประกาศอิสรภาพอเมริกาฉบับที่ 2” ในอังกฤษ เชื่อเป็นของจริง! ฝีมือเฟเดอรัลลิสต์กลุ่มก่อตั้งประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ต้นฉบับแถลงการณ์คำประกาศอิสรภาพเอมริกาฉบับที่ 2 ที่ถูกเก็บไว้ในสำนักงานทะเบียนทางใต้ของอังกฤษ
เอเจนซีส์/MGR ออนไลน์ - เอมิลี สเนฟ (Emily Sneff) และ แดเนียล แอลเลน (Danielle Allen) นักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ค้นพบ “ต้นฉบับแถลงการณ์คำประกาศอิสรภาพเอมริกาฉบับที่ 2” ที่ถูกเก็บไว้ในสำนักงานทะเบียนทางใต้ของอังกฤษ เชื่อ เจมส์ วิลสัน (James Wilson) กลุ่มเฟเดอรัลลิสต์ก่อตั้งอเมริกาทำขึ้นยุค 1780s เวลาเดียวกันเกิดสนธิสัญญาปารีส ที่ทำให้อังกฤษต้องยอมรับสหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศอย่างแท้จริง

หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ สื่อสหรัฐฯ รายงานเมื่อวานนี้ (24 เม.ย.) ว่า การค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ของ 2 อินเดียนาโจนส์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐฯ เกิดขึ้นวันศุกร์ (21 เม.ย.) ที่ผ่านมา เมื่อเอมิลี สเนฟ (Emily Sneff) และ แดเนียล แอลเลน (Danielle Allen) นักวิจัยโปรเจกต์เอกสารประวัติศาสตร์ประกาศอิสรภาพอเมริกา (Declaration Resources Project) ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐฯ ค้นพบเอกสารแถลงการณ์ประกาศเอกราชอเมริกาฉบับที่ 2

คนทั้งคู่เชื่อว่าเป็นของจริง โดยพบว่าถูกเก็บไว้ในสำนักงานทะเบียนเวสต์ ซัสเซกซ์ (West Sussex Record Office) ชีเชสเตอร์ (Chichester) ทางใต้ของอังกฤษ โดยเอกสารค้นพบใหม่อยู่ในรูปแบบเอกสารทางการ มีลักษณะคล้ายกับรูปแบบเอกสารประกาศเอกราชอเมริกาฉบับทางการปี 1776 ที่เชื่อว่าถูกเขียนโดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ โทมัส เจฟเฟอร์สัน 1 ใน 7 คนสำคัญของกลุ่มผู้ก่อตั้งสหรัฐฯ และเป็นกลุ่มต่อต้านเฟเดอรัลลิสต์

ทั้งนี้ การค้นพบเอกสารประกาศอิสรภาพฉบับที่ 2 นี้เกิดขึ้นในปี 2015 เมื่อสเนฟค้นพบว่าสำนักงานทะเบียนเวสต์ ซัสเซกซ์นั้นมีเอกสาร “ต้นฉบับของคำแถลงการณ์ประกาศเอกราช 13 มลรัฐของสหรัฐอเมริกา” (the Declaration in Congress of the thirteen United States of America)อยู่ในฐานดาต้าเบสรายชื่อเอกสาร

โดยถือเป็นเรื่องสุดแปลกในขณะนั้นที่ไม่มีใครควรสงสัยว่าจะมีใครสักคนเกิดเขียนคำประกาศอิสรภาพอเมริกาฉบับที่ 2 นอกเหนือจากของ โทมัส เจฟเฟอร์สัน หรือแถลงการณ์ประกาศอิสรภาพฉบับที่ 2 นั้นจะมีอยู่จริงในโลก โดยเฉพาะหลังจากที่แถลงการณ์ประกาศเอกราชอเมริกาฉบับแรกได้เกิดขึ้นแล้ว

โดยเอมิลี สเนฟ ยอมรับกับวอชิงตันโพสต์ว่า “เราไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะเชื่อว่ามีเอกสารประเภทนี้อยู่ในโลก”

ในตอนแรกที่สเนฟเห็นลิสต์ชื่อ “เอกสารต้นฉบับประกาศเอกราชอเมริกา” อยู่ในแค็ตตาล็อกของสำนักงานทะเบียนเวสต์เซกซ์ เธอยอมรับว่าเธอไม่สนใจมากนัก เนื่องจากเธอคิดว่าเอกสารที่ถูกเก็บไว้นี้อาจเป็นแถลงการณ์ประกาศอิสรภาพของโทมัส เจฟเฟอร์สัน ที่ถูกทำขึ้นเป็นจำนวนมากในภายหลังเพื่อกระจายออกไปให้ทั่วถึงข่าวการประกาศตั้งประเทศอเมริกาในขณะนั้น ที่พบว่าแถลงการณ์ถูกทำเผยแพร่ในรูปหนังสือ หนังสือพิมพ์ และเอกสารแถลงการณ์

สเนฟยอมรับว่า เธอเคยเห็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์เอกสารแถลงการณ์ประกาศอิสรภาพก่อนหน้านี้ แต่ภายหลังกลับพบว่า เป็นเอกสารที่ถูกทำขึ้นในศตวรรษที่ 19 ที่ใช้ต้นฉบับจากเอกสารประกาศอิสรภาพอเมริกาปี 1776 (Matlack Declaration) ซึ่งในปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ภายในหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐฯ

จากเว็บไซต์ของโปรเจกต์ได้ชี้ว่า มีเพียงแค่แถลงการณ์ที่ถูกเก็บในสำนักหอจดหมายเหตุอเมริกาและเอกสารชิ้นใหม่ล่าสุดที่ถูกพบอยู่ในรูปแบบเดียวกัน

และเหตุนี้ เธอกล่าวว่าการค้นพบใหม่นั้นต่างออกไป เพราะในลิสต์รายชื่อ สำนักงานทะเบียนเวสต์เซกซ์ ระบุว่า “เป็นเอกสารต้นฉบับ” (parchment manuscript)

สื่อสหรัฐฯ รายงานต่อว่า ในเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา เอมิลี สเนฟ และแดเนียล แอลเลน ได้ออกเดินทางไปอังกฤษเพื่อขอตรวจสอบเอกสารที่ว่านี้ด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก แต่ก่อนหน้านี้คนทั้งคู่จะเดินทางไป สเนฟและแอลเลนได้ขอให้ทางสำนักงานทะเบียนเวสต์เซกซ์ได้ช่วยส่งภาพถ่ายกลับมาให้ตรวจสอบ โดยจากภาพถ่ายที่ถูกส่งกลับมา แสดงให้เห็นถึงความน่าทึ่งหลายประการ โดยสเนฟกล่าวกับหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ว่า ภาพถ่ายของเอกสารที่เธอเรียกว่า คำประกาศอิสรภาพซัสเซกซ์ (The Sussex Declaration) นี้ดูเหมือนถูกพับมาแล้วหลายครั้ง และบริเวณขอบของเอกสารม้วนนั้นมีร่องรอยของการถูกกัดแทะ

ที่สำคัญที่สุดสำหรับนักวิจัยฮาร์วาร์ดรายนี้คือ เธอกล่าวว่า “เมื่อดิฉันพิจารณาอย่างละเอียด และเริ่มเห็นรายละเอียดมากขึ้น เช่นการเรียงลำดับรายชื่อที่แตกต่างออกไป เช่น จอห์น แฮนค็อก (John Hancock) ไม่ถูกจัดอยู่ในรายชื่อแรก และยังมีร่องรอยด้านบนที่ดูเหมือนถูกลบ และในข้อความแถลงการณ์มีการสะกดชื่อผิด และยังเป็นแถลงการณ์ที่เขียนด้วยลายมือที่ตัวเองไม่เคยเห็นมาก่อน” และทำให้สเนฟกล่าวต่ออย่างตื่นเต้นว่า “จากทั้งหมดนี้ทำให้ดิฉันนำรูปถ่ายเหล่านี้ไปปรึกษากับแดเนียล และทำให้เราทั้งสองรู้ว่า พวกเราได้ค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ เป็นเอกสารแถลงการณ์ที่ต่างจากของเดิม”

นอกจากนี้ และเป็นสิ่งที่น่าพิศวงตรงที่ สเนฟระบุว่า สิ่งที่ต่างจากเอกสารประกาศอิสรภาพอเมริกาของหอจดหมายเหตุสหรัฐฯ คือ ***ความคมชัดของตัวอักษร *** ที่นักวิจัยอินเดียนาโจนส์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดยอมรับอย่างน่าทึ่งว่า เธอสามารถอ่านได้ทุกตัวอักษรที่เป็นลายมือเขียนบนกระดาษม้วน ต่างจากคำประกาศเอกราชในปี 1776 ที่พบว่ามีความเลือนลางอย่าางมากจนแทบอ่านไม่ได้

“นอกเหนือไปจากการที่เอกสารฉบับนี้สามารถอ่านได้ โดยพบว่าพวกเราสามารถอ่านได้ทุกตัวอักษร” และเธอยังกล่าวต่อว่า “ถือเป็นประสบการณ์ที่ไม่สามารถบรรยายได้ที่สามารถได้ไปสัมผัสอย่างใกล้ชิด”

ทั้งนี้พบว่า คำประกาศอิสรภาพซัสเซกซ์นั้นเชื่อว่าถูกเขียนขึ้นอยู่ในช่วงปี 1780s (1780-1789) จากการพิสูจน์อายุของกระดาษเอกสาร

โดยคนทั้งคู่ใช้เวลาเกือบ 2 ปีในการศึกษาคำประกาศฉบับที่ 2 นี้ รวมไปถึงรูปแบบลายมือที่ถูกเขียนบนแถลงการณ์ ตัววัสดุเอกสาร รวมไปถึงลายเซนต์ที่ลงนามกำกับ ซึ่งทั้งสเนฟและแอลเลนได้กล่าวว่า เป็นผลมาจากเทคโนโลยีที่ทันสมัยในโลกศตวรรษที่ 21 ทำให้คนทั้งคู่สามารถพิสูจน์เอกสารฉบับนี้ว่าเป็นเอกสารต้นฉบับตัวจริงได้อย่างรวดเร็ว โดยสเนฟยอมรับว่าไม่สามารถที่จะทำได้ในศตวรรษก่อนหน้านี้

แอลเลนกล่าวกับวอชิงตันโพสต์ถึงระยะเวลาการพิสูจน์ต้นฉบับว่า “ในเวลา 20 เดือนพวกเราสมารถปะติดปะต่อเอกสารหลักฐานได้ส่วนใหญ่สำเร็จ"

และจากการพิสูจน์ทำให้คนทั้งคู่สรุปว่า คำประกาศอิสรภาพซัสเซกซ์ที่น่าจะอยู่ในช่วงปลายปี 1780 ถูกทำขึ้นในเมืองนิวยอร์ก หรือเมืองฟิลาเดลเฟีย โดยเชื่อว่าอยู่ในความครอบครองของดยุกแห่งริชมอนด์ (Duke of Richmond) ที่รู้จักในนามของ ดยุกหัวรุนแรง (Radical Duke )จากการที่ดยุกผู้นี้สนับสนุนการปฏิวัติอเมริกา แต่ยังเป็นที่สงสัยในขณะนี้ว่า เหตุใดและทำไม่เอกสารชิ้นสำคัญฉบับนี้นั้นจึงอยู่ในอังกฤษได้ แอลเลนกล่าวให้ความเห็น และกล่าวต่อถึงประวัติเอกสารว่า เอกสารฉบับนี้ถูกส่งมายังสำนักงานทะเบียนเวสต์ เซกซ์ในปี 1959 พร้อมกับเอกสารอื่นๆ จำนวนหลายร้อยชิ้นจากสำนักงานกฎหมายที่เป็นตัวแทนของดยุกแห่งริชมอนด์

ทั้งนี้ อ้างอิงจากวิกิพีเดียพบว่า แถลงการณ์ประกาศอิสรภาพอเมริกาฉบับปี 1776 (Matlack Declaration) เป็นแถลงการณ์ที่ออกมาจากการประชุมของตัวแทน สิบสามอาณานิคมอังกฤษ ที่เรียกว่า the Second Continental Congress ในรัฐเพนซิลเวเนียเมื่อวันที่ 4 ก.ค 1776 ประกาศจุดยืนเป็นเอกราชจากจักรววรดิอังกฤษ และในปี 1789 สหรัฐอเมริกามีประธานาธิบดีคนแรก คือประธานาธิบดี จอร์จ วอชิงตัน

ซึ่งอเมริกาได้รับการยอมรับจากอังกฤษในฐานะประเทศเอกราชอย่างเป็นทางการก็ต่อเมื่อปี 1783 ไปแล้ว หลังจากเกิดสนธิสัญญาปารีส (Treaty of Paris) ที่มีการลงนามร่วมกันกับตัวแทนของกษัตริย์ คิง จอร์จ ที่ 3 แห่งอังกฤษ และตัวแทนจากสหรัฐฯ ในวันที่ 3 ก.ย 1783 ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดสงครามประกาศอิสรภาพอเมริกา และทำให้เอกสารคำประกาศเอกราชซัสเซกส์ชิ้นนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยทั้งสเนฟและแอลเลนชี้ว่า เกิดขึ้นในช่วงยุคก่อตั้งประเทศที่อเมริกายังไม่เข้มแข็ง ***แต่ในขณะนี้นักวิจัยทั้งสองยังไม่ทราบว่าใครเป็นคนเขียนเอกสารฉบับนี้ และเขียนขึ้นเพื่อจุดประสงค์ใด***

แต่อย่างไรก็ตาม นักวิจัยโปรเจกต์รวบรวมเอกสารประกาศอิสรภาพอเมริกาสร้างทฤษฎีว่า มีความเป็นไปได้ว่า เจมส์ วิลสัน (James Wilson) หนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้งอเมริกา เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการจัดทำ โดยมีการระบุการลงนามที่ชี้ไปได้ว่าเป็นของเขา พร้อมกับชื่อลงนามด้านล่างอีกจำนวนหนึ่งปรากฏอยู่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนวิลสัน และแนวคิดแบบเฟเดอรัลลิสต์ (Fedelist) ของเขา วอชิงตันโพสต์และสื่อ NBC NEWS รายงาน

นักวิจัยฮาร์วาร์ดกล่าวว่า และทำให้สนับสนุนในแนวคิดที่ว่า โดยชี้ว่า “วิลสันนั้นเป็นบุคคลที่ทำมากกว่าใครในบรรดาผู้ก่อตั้งอเมริกาคนอื่นๆในความที่ต้องการให้แถลงการณ์ประกาศเอกราชอเมริกานั้นตรงกับแนวคิดการก่อตั้งประเทศดั้งเดิม"

วิลสันที่เป็นหนึ่งในคณะผู้พิพากษาศาลสูงสหรัฐฯ ระหว่างปี 1789-1798 อยู่ในกลุ่มเฟเดอรัลลิสต์ (Federalist) เน้นความเข้มแข็งของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ตรงกันข้ามกับผู้เขียนคำประกาศอิสรภาพอเมริกาปี 1776 ประธานาธิบดีโทมัส เจฟเฟอร์สัน ผู้นำต่อต้านเฟเดอรัลลิสต์ (Anti-Federalist ) โดยอ้างอิงวิกีพีเดีย พบว่าแนวคิดนี้ ต้องการต่อต้านการสร้างความเข้มแข็งของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ และในภายหลังต่อต้านการให้สัตยาบันกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 1787

สื่อสหรัฐฯ รายงานต่อว่า เอกสารต้นฉบับที่ถูกเก็บรักษาไว้ภายในสำนักงานทะเบียนเวสต์เซกซ์นั้นอยู่ในรูปกระดาษม้วน ซึ่งมีขนาด 24x30 นิ้ว ซึ่งเป็นขนาดเดียวกันกับประกาศแถลงการณ์ปี 1776 ต่างจากตรงที่เอกสารจากซัสเซกส์อยู่ในรูปแนวนอน( oriented horizontally) ส่วนฉบับทางการอยู่ในแนวตั้ง โดยแอลเลนเผยว่า “และจากการที่เอกสารอยู่ในรูปแบบเอกสารทางการทำให้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ”

นอกจากนี้ ความต่างระหว่างแถลงการณ์ประกาศอิสรภาพซัสเซกส์และแถลงการณ์ประกาศอิสรภาพปี 1776 ยังรวมไปถึง กลุ่มลายเซนต์รับรองแถลงการณ์คำประกาศของฉบับที่ 2 นั้นไม่ถูกเรียงจัดกลุ่มตามมลรัฐเหมือนของเดิมปี 1776 แต่กลับเรียงตามรายชื่อบุคคลแทน ซึ่งแดเนียล แอลเลน ระบุว่า นี่เป็นการแสดงให้เห็นชัดถึงหลักการของกลุ่มเฟเดอรัลลิสต์ ของอเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน (Alexander Hamilton) หนึ่งในผู้ก่อตั้งอเมริกาที่เชื่อว่า อำนาจสมควรอยู่ในมือของประชาชน และไม่ควรอยู่ในมือของสหพันธรัฐ 13 มลรัฐ

“โดยในความต่างนี้แสดงถึงความขัดแย้งทางแนวคิดที่แตกต่างในช่วงยุค 1780s ระหว่าง Federalist และ Ant-Federalist” แอลเลนระบุ และชี้ต่อว่า “และทำให้การค้นพบนี้น่าทึ่ง”
ต้นฉบับจากเอกสารประกาศอิสรภาพอเมริกาปี 1776 (Matlack Declaration) ซึ่งในปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ภายในหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐฯ



กำลังโหลดความคิดเห็น