เอเอฟพี - สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เตรียมออกคำแถลงแสดงความวิตกกังวลต่อการยกระดับกิจกรรมที่เพิ่มความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ ทว่าไม่เอ่ยพาดพิง “จีน” โดยตรง
คำแถลงซึ่งจะเผยแพร่อย่างเป็นทางการในวันเสาร์ (29 เม.ย.) หลังสิ้นสุดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงมะนิลา สะท้อนจุดยืนของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต แห่งฟิลิปปินส์ซึ่งต้องการลดความตึงเครียดกับปักกิ่งในเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำพิพาท
จากร่างคำแถลงที่ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีได้รับ ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นประธานอาเซียนจะเอ่ยถึงการถมทะเลสร้างเกาะเทียมในทะเลจีนใต้ แต่ไม่ระบุชื่อประเทศจีน
“เรามีความกังวลอย่างยิ่งเช่นเดียวกับที่ผู้นำบางท่านได้แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ล่าสุด และการยกระดับกิจกรรมในพื้นที่ซึ่งอาจจะเพิ่มความตึงเครียด รวมถึงบั่นทอนความไว้วางใจ และความเชื่อมั่นในภูมิภาค” ร่างคำแถลงดังกล่าวระบุ
อย่างไรก็ตาม คำแถลงนี้ไม่มีการเอ่ยถึงจีน หรือคำพิพากษาของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ณ กรุงเฮก ซึ่งตัดสินเมื่อปีที่แล้วว่าจีนไม่มีสิทธิ์เหมาอ้างความเป็นเจ้าของน่านน้ำทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางเรือที่มีมูลค่าสูงถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี
สมาชิกอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำบางส่วนในทะเลจีนใต้เช่นเดียวกับจีนและไต้หวัน ขณะที่นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงเตือนว่าพื้นที่แถบนี้สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะเกิดความขัดแย้งและการเผชิญหน้า
ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรมีคำพิพากษาเมื่อเดือน ก.ค.ปีที่แล้วว่า จีนไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายที่จะอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด และการแปรสภาพที่ดินในน่านน้ำพิพาทก็ถือว่าผิดกฎหมายด้วย
อดีตประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน แห่งฟิลิปปินส์ได้ยื่นฟ้องศาลระหว่างประเทศให้ช่วยตัดสินข้อพิพาทกับจีน และยังท้าทายปักกิ่งผ่านเวทีประชุมอาเซียน ซึ่งการเผชิญหน้าตรงๆ เช่นนี้ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตกต่ำลงอย่างหนัก
หลังจากที่ ดูเตอร์เต เข้ารับตำแหน่งผู้นำฟิลิปปินส์ในเดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว รัฐบาลของเขาเปลี่ยนมาเน้นเจรจาความร่วมมือกับจีนเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนและความช่วยเหลือมูลค่านับพันๆ ล้านดอลลาร์ และประกาศจะไม่นำคำพิพากษาของศาลกรุงเฮกมาบีบคั้นจีน
ร่างคำแถลงของอาเซียนปีนี้แทบไม่แตกต่างจากการประชุมซัมมิตที่ลาวเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งปักกิ่งใช้อิทธิพลล็อบบี้จนคำแถลงร่วมอาเซียนไม่พาดพิงถึงคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศเรื่องทะเลจีนใต้เลย
คำแถลงในปีนี้ยังอ้างถึง “ความคืบหน้า” ในการบรรลุกรอบความข้อตกลงว่าด้วยระเบียบปฏิบัติ (code of conduct) ในทะเลจีนใต้
นักการทูตฟิลิปปินส์ระบุว่า การเจรจา “กรอบ” ระเบียบปฏิบัติในทะเลจีนใต้น่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือน มิ.ย. ขณะที่จีนเองก็มีมุมมองที่ดีต่อการเจรจาครั้งนี้
การเจรจาเพื่อจัดทำระเบียบปฏิบัติว่าด้วยทะเลจีนใต้ยืดเยื้อมานานถึง 15 ปี หลังจากที่อาเซียนและจีนได้ทำข้อตกลงที่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายเมื่อปี 2002 ซึ่งกำหนดให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องงดเว้นการกระทำที่จะก่อความตึงเครียด
ระหว่างนี้จีนก็ได้เข้าไปถมทะเลสร้างหมู่เกาะเทียมขึ้นหลายแห่ง และพร้อมที่จะส่งทหารหรืออาวุธยุทโธปกรณ์เข้าไปประจำการได้แล้ว
เรนาโต เด กัสโตร อาจารย์ด้านนานาชาติศึกษาจากมหาวิทยาลัยเดอลาซาลล์ในกรุงมะนิลา ตั้งคำถามกับผู้สื่อข่าวเอเอฟพีว่า “จะมีระเบียบปฏิบัติไปเพื่ออะไรอีก ในเมื่อจีนส่งทหารเข้าไปคุมทะเลจีนใต้ได้สำเร็จแล้ว”