xs
xsm
sm
md
lg

In Clip:ทรัมป์เล็งหั่นภาษีช่วยวอลสตรีทครั้งมโหฬาร!!ลดภาษีทุนข้ามชาติกว่า 50% ใช้ “Tax Break 10%”กับ 2.6 ล้านล้านรายได้วอลสตรีทกลับเข้าประเทศ แถมซูโกย! ลดภาษีให้ตัวเองเหลือแค่ 15%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์/เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ มีแผนต้องการลดภาษีรายได้(Tax cut)ให้กับบริษัทข้ามชาติครั้งมโหฬารให้เหลือแค่ 15% จากแต่เดิม 35% รวมไปถึงประกาศใช้ Tax Break ให้อัตราภาษีเงินทุนกลับเข้าประเทศ( Repatriation Tax) ต่ำ 10 % ที่คาดว่าบริษัทวอลสตรีทข้ามชาติจะมีซุกไว้รวมกันไม่ต่ำกว่า 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ แถมสำคัญที่สุด เล็งประกาศลดภาษีให้ตัวเองเหลือ 15% ผ่านภาษี “pass-through businesses”

รอยเตอร์และสื่อทั่วโลกรายงานวันนี้(26 เม.ย)ว่า แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่สหรัฐฯให้ข้อมูลค่ำวานนี้(25 เม.ย)ถึงแผนภาษีของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการวันนี้(26 เม.ย) ที่เชื่อว่าจะเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในระบบภาษีสหรัฐฯ เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนทุกชนิด รวมไปถึงบริษัทกลุ่มทุนข้ามชาติ และประธานาธิบดีสหรัฐฯ

บลูมเบิร์ก สื่อธุรกิจชี้ว่า ทรัมป์มีแผนจะลดอัตราภาษีรายได้ให้กับทุนข้ามชาติวอลสตรีทที่มีรายได้สะสมกองรวมกันไม่ต่ำกว่า 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ในต่างแดน ให้เหลือแค่ 10% เพื่อให้บริษัทเหล่านั้นยอมนำเงินรายได้นอกประเทศกลับเข้าอเมริกา ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ต่างออกมาชี้ว่า การลดอัตราภาษีเงินทุนกลับเข้าประเทศ (Repatriation Tax) จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะจะให้เกิดการลงทุนตลาดภายในประเทศเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีความน่าจะเป็นว่า เงินทุนเหล่านั้นอาจกลับหมุนเวียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้นว่า ใช้เงินกลับมาช้อนซื้อหุ้นใหม่ หรือ การจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น

โดยในแผนการพบว่า ทรัมป์ต้องการหั่นภาษีรายได้ธุรกิจที่เรียกว่า ภาษีธุรกิจประเภท “pass-through businesses” ให้เหลือแค่ 15% เท่านั้นจากแต่เดิม 39% ซึ่งอ้างอิงจากสื่อธุรกิจบลูมเบิร์ก พบว่าภาษีประเภทนี้คลอบคลุม ร้านโชว์ห่วย ธุรกิจขนาดเล็ก ห้างหุ้นส่วน บริษัทเงินทุนเฮดจ์ฟันด์ และอาณาจักรธุรกิจของโดนัลด์ ทรัมป์

ทั้งนี้กิจการธุรกิจที่ต้องจ่ายภาษี pass-through businesses บลูมเบิร์กระบุว่า เป็นธุรกิจที่ไม่ได้จ่ายภาษีรายได้ (Income Tax) ให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ แต่ผ่านรายได้ทั้งหมดและรวมไปถุึงการลดหย่อน (deductions) ไปยังเจ้าของกิจการ ซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายในอัตราภาษีบุคคลแทน

ทั้งนี้แฟรงก์ เคลมองต์(Frank Clemente) ผู้อำนวยการบริหารกลุ่มเคลื่อนไหวความเท่าเทียมกันด้านภาษีเพื่อพลเมืองอเมริกัน( Americans for Tax Fairness) ออกมาชี้ว่า การลดภาษี pass-through businesses นั้นจะเอื้อประโยชน์ต่างตอบแทนให้กับผู้นำสหรัฐฯอย่างแน่นอน โดยกล่าวว่า “ในความพยายามที่จะหั่นภาษี pass-through businesses ก็เท่ากับว่าทรัมป์พยายามที่จะลดภาษีให้กับตัวเอง”

ส่วนบริษัทมหาชน(Public corporation) รอยเตอร์รายงานว่า ทรัมป์ประกาศเสนอแผนหั่นภาษีรายได้บริษัทมหาชน(Corporate Tax )ครั้งใหญ่จากอัตราเดิม 35% ไปอยู่ที่ 15%

ซึ่งประธานสภาคองเกรส พอล ไรอัน จากการรายงานของรอยเตอร์ เสนอให้มีการลดอัตราภาษีรายได้บริษัทมหาชนไปอยู่ที่ 20% แต่อย่างไรก็ตาม พบว่า บริษัทจำนวนมากในอเมริกา โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติใช้ช่องทางในการที่จะสามารถจ่ายภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า 35 % อยู่แล้ว แต่กระนั้นการลดอัตราภาษีธุรกิจครั้งนี้ถือว่า เป็นการลดต่ำที่สุดในรอบหลายปี

และในแผนการปฎิรูประบบภาษีของทรัมป์ ยังเสนอใช้มาตรการ Tax Break (การขอยกเว้นภาษีหรือเก็บภาษีในอัตราต่ำ) 10% ให้กับเงินรายได้ที่ทางบริษัททุนข้ามชาติสัญชาติสหรัฐฯต้องการนำกลับเข้าประเทศ ซึ่งในปัจจุบัน บริษัทกลุ่มทุนเหล่านี้ต้องจ่ายภาษีเงินทุนกลับเข้าประเทศในอัตรา 35 % ให้กับรัฐบาลกลางสหรัฐฯในของจำนวนเม็ดเงินที่ต้องการนำกลับ ซึ่งสื่อธุรกิจชี้ว่า ประธานสภาคองเกรส พอล ไรอัน และผู้นำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯสายพรรครีพับลิกัน มีแผนเสนออัตราภาษีเงินทุนกลับเข้าประเทศด้วยเช่นกัน แต่ทว่าในเวอร์ชันของไรอัน ได้เสนอให้เก็บในอัตรา 8.75% แทน โดยให้เรียกเก็บในรูปเงินสด หรือเทียบเท่าเงินสด และ 3.5% ของรายได้ต่างแดนที่ถูกนำไปลงทุน

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้หนึ่งในบริษัทที่เกิดปัญหา และกลายเป็นข่าวฉาวไปทั่วโลกคือ บริษัทแอปเปิล โดยซีอีโอใหญ่ ทิม คุ๊ก เคยออกมาอ้างว่า ไม่สามารถนำรายได้ทั่วโลกนำกลับเข้าประเทศได้ เนื่องมาจากปัญหาถูกเรียกเก็บอัตราภาษีที่สูงเกินไป

บลูมเบิร์กรายงานต่อว่า สหรัฐฯต่างจากชาติพัฒนาแล้วอื่นๆที่นอกเหนือจากเก็บภาษีรายได้แล้ว ยังเรียกเก็บภาษีจากรายได้ที่เกิดขึ้นในต่างแดนด้วยเช่นกัน แต่ทว่าสหรัฐฯจะเรียกเก็บภาษีก็ต่อเมื่อรายได้เหล่านั้นถูกส่งกลับเข้ามาแล้วเท่านั้น

และพบว่าแผนตัดภาษีของทรัมป์ครั้งนี้ไม่มีการเสนอภาษีข้ามพรมแดน border-adjustment tax หรือ BAT เข้าไป ซึ่ง BAT เป็นระบบเรียกเก็บภาษีกับสินค้าที่จะข้ามพรมแดนเข้ามาอเมริกา ที่ทรัมป์เคยประกาศก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯได้ส่งรัฐมนตรีการคลัง สตีเวน มนูชิน( Steve Mnuchin) และผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติอเมริกา (National Economic Council) แกรี โคห์น(Gary Cohn) ไปยังรัฐสภาคองเกรส เพื่อทำความเข้าใจกับบรรดาสมาชิกรัฐสภาในแผนปฎิรูปภาษีทรัมป์ในวันอังคาร(25 เม.ย)

ซึ่งมนูชินเป็นคีย์แมนจัดทำแผนปฎิรูประบบภาษี ที่จะสามารถผ่านการอนุมัติจากรัฐสภาคองเกรสสำเร็จ แต่รอยเตอร์ชี้ว่า ยังต้องดูไปอีกนานว่าจะสำเร็จหรือไม่ถึงแม้ในเวลานี้พรรครีพับลิกันนั่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ในทั้ง 2 สภาก็ตาม

โดยรัฐมนตรีการคลังสหรัฐฯคนของโกลแมนแซคส์(Goldman Sachs) ได้กล่าวหว่านล้อม แสดงถึงข้อดีของแผนภาษีของทรัมป์ว่า เงินภาษีที่ถูกตัดออกไปนั้นจะคืนทุนด้วยตัวเอง โดยการทำให้ระบบเศรษฐกิจอเมริกามีการเติบโตมากขึ้น แต่ทว่าผู้เชี่ยวชาญทั้งในฝั่งพรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครตต่างสงสัยในเรื่องนี้

นอกจากนี้แล้ว จากการรายงานของรอยเตอร์ นักวิเคราะห์ยังระบุต่อว่า แผนภาษีทรัมป์ยังอาจรวมไปถึงกำหนดให้เพดานภาษีบุคคลสหรัฐฯจำกัดอยู่ที่ 33% ที่อาจหมายถึง คนรวยในอเมริกาได้ประโยชน์จากเพดานภาษีที่ต้องจำกัดไม่ต้องจ่ายเพิ่มถึงแม้มีรายได้มากขึ้น และในมาตรการภาษีของทรัมป์ยังกำหนดให้ยกเลิกภาษีกองมรดก (Estate tax) ซึ่งส่วนใหญ่จะมีปัญหากับมหาเศรษฐี และการยกเลิกระบบชำระภาษีขั้นต่ำแบบทางเลือก (Minimum Alternate Tax หรือ MAT)

นอกจากนี้ในแผนปฎิรูปภาษีทรัมป์ยังรวมไปถึงลดภาษีให้กับคนชั้นกลางอเมริกา

รอยเตอร์ชี้ว่า แต่ทว่าในขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่า แผนการปฎิรูปภาษีจะมีข้อเสนอในการให้งบอุดหนุนระบบสาธารณูปโภคอเมริกา(ถนน และอื่น) และเครดิตภาษีสงเคราะห์เด็ก (child-care tax credit)ของอีวังกา ทรัมป์ ลูกสาวประธานาธิบดีสหรัฐฯเพื่อเอาใจพรรคเดโมแครตให้ยกมืออกออกเสียงหรือไม่




กำลังโหลดความคิดเห็น