เอเจนซีส์ - มารีน เลอแปน ผู้สมัครประธานาธิบดีฝรั่งเศสสายขวาจัด ประกาศสละตำแหน่งหัวหน้าพรรคฟรอนต์ เนชันแนล (FN) เพื่อทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับการชิงชัยในศึกเลือกตั้งผู้นำเมืองน้ำหอมรอบที่ 2 ที่จะมีขึ้นในช่วงต้นเดือน พ.ค.
เลอแปน ที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 2 ในศึกเลือกตั้งรอบแรกเมื่อวันที่ 23 เม.ย. ระบุว่า เธออยู่ในช่วง “ลาพัก” จากการเป็นผู้นำพรรค FN เพื่อทุ่มเทให้กับการหาเสียงเลือกตั้งอย่างเต็มที่ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นกลยุทธ์ที่ เลอแปน หวังว่าจะช่วยขยายฐานเสียงของเธอให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ก่อนจะชิงดำกับเต็งหนึ่งอย่าง เอมมานูเอล มาคร็อง ผู้สมัครอิสระสายกลาง ในวันที่ 7 พ.ค.นี้
เลอแปน วัย 48 ปี ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ France 2 ว่า “ดิฉันรู้สึกเป็นอิสระมากขึ้น และยิ่งไปกว่านั้นคือดิฉันได้ปลีกตัวเองออกจากระบบพรรคการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ”
ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เลอแปน พยายามชี้แจงสถานะของเธอเองว่า “ไม่ใช่ผู้สมัครจากพรรค FN” หากแต่เป็นผู้สมัครคนหนึ่งที่พรรคให้การสนับสนุนเท่านั้น
เธอยังต้องการให้คนฝรั่งเศสมองข้ามเรื่องที่เธอเป็นลูกสาวของนักการเมืองจอมเกเร ฌ็อง-มารี เลอแปน อดีตหัวหน้าพรรค FN และในแผ่นป้ายหาเสียงของเธอก็ไม่ปรากฏชื่อหรือโลโก้ของพรรคด้วย
เลอแปนยืนยันว่า นโยบายต่างๆ ที่เธอนำเสนอนั้นมาจากวิสัยทัศน์ของเธอเองล้วนๆ ไม่ได้สะท้อนจุดยืนของพรรค FN แต่อย่างใด
“ค่ำคืนนี้ดิฉันไม่ได้เป็นประธานพรรคฟรอนต์ เนชันแนล อีกต่อไป แต่เป็นแค่ผู้สมัครประธานาธิบดีคนหนึ่ง” เธอให้สัมภาษณ์ต่อสถานีโทรทัศน์เมืองน้ำหอม
เลอแปน พยายามแก้ภาพลักษณ์ของพรรค FN ซึ่งถูกมองว่าเป็นพรรคที่เหยียดเชื้อชาติ และต่อต้านชาวเซมิติก เพื่อเรียกคะแนนจากชาวฝรั่งเศสทั้งพวกที่นิยมฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา
ผลการเลือกตั้งผู้นำฝรั่งเศสรอบแรกปรากฏว่า มาคร็อง เข้าวินมาเป็นที่ 1 ด้วยคะแนนโหวต 8.66 ล้านเสียง หรือ 24.01% ในขณะที่ เลอแปน ได้มาทั้งสิ้น 7.68 ล้านเสียง คิดเป็น 21.30% ตามผลการนับคะแนนที่เสร็จสมบูรณ์ซึ่งเผยแพร่โดยกระทรวงมหาดไทยฝรั่งเศส
สำหรับ เลอแปน ตัวเลขนี้ถือเป็นความสำเร็จสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่พรรค FN ของเธอเคยทำได้ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส
อันดับ 3 ได้แก่ ฟร็องซัวส์ ฟียง จากพรรครีพับลิกันที่เป็นพวกอนุรักษนิยม ซึ่งทำคะแนนได้เพียง 20.01% และอันดับ 4 คือผู้สมัครจากพรรคฝ่ายซ้าย ฌ็อง-ลุก เมอลองชง ได้ไป 19.58% ส่วนผู้สมัครที่เหลืออีก 7 คนก็ได้คะแนนลดหลั่นกันลงไป
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างฟันธงว่า มาคร็อง จะเป็นผู้ชนะในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบที่ 2 ทว่า เลอแปน เองก็ยังสู้ไม่ถอย โดยพยายามชูประเด็นภัยคุกคามจากกลุ่มอิสลามิสต์ที่คร่าชีวิตชาวฝรั่งเศสไปมากกว่า 230 คนตั้งแต่ปี 2015 และชี้ว่า มาคร็อง วัย 39 ปี “อ่อนแอ” ในเรื่องนี้
เลอแปน ให้สัญญาว่าจะระงับข้อตกลงเปิดพรมแดนเสรีที่ฝรั่งเศสทำกับสหภาพยุโรป (อียู) และจะเนรเทศชาวต่างชาติที่มีชื่ออยู่ในบัญชีเฝ้าระวังของหน่วยข่าวกรอง
ฝ่าย มาคร็อง ก็ได้เสนอโครงการยกระดับความมั่นคงภายในประเทศ โดยจะเพิ่มกำลังตำรวจอีก 10,000 นาย และเปิดเรือนจำใหม่ 15,000 แห่ง นอกจากนี้ยังมีการจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงหลายคนเข้าร่วมทีมงานหาเสียงด้วย
อย่างไรก็ดี ผลสำรวจความคิดเห็นตลอดช่วงของการหาเสียงพบว่า ชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อปัญหาเศรษฐกิจ และความซื่อสัตย์ของนักการเมือง มากกว่าประเด็นอื่นๆ
ประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ แห่งฝรั่งเศสออกมาเรียกร้องให้ประชาชนเทคะแนนหนุน มาครง วัย 39 ปี ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจในรัฐบาลของเขาเอง พร้อมเตือนว่านักการเมืองขวาจัดอย่าง เลอแปน จะก่อ “ความเสี่ยง” ให้แก่ประเทศ เนื่องจากมีนโยบายที่สร้างความแตกแยกและกีดกันพลเมืองกลุ่มน้อย
โพลหลายสำนักคาดการณ์ว่า มาคร็อง ซึ่งมีนโยบายเป็นมิตรกับภาคธุรกิจน่าจะกวาดคะแนนเสียงไปได้อย่างน้อย 61% ในศึกเลือกตั้งรอบตัดสิน หลังจากที่ ฟียง และผู้สมัครจากพรรคโซเชียลลิสต์ เบอนัวต์ อามง ต่างออกมาประกาศหนุนหลังเขา เพื่อสกัดไม่ให้นักการเมืองหญิงที่มีจุดยืนลังเลสงสัยในอียู (eurosceptic) และต่อต้านผู้อพยพอย่าง เลอแปน คว้าตำแหน่งผู้นำฝรั่งเศสไปครองได้