เอเอฟพี - ที่ผ่านมาการตุนอาหารหรือเตรียมตัวรับวันสิ้นโลกมักเชื่อมโยงกับอเมริกันชนที่โดดเดี่ยว อาศัยอยู่ในชนบท และยึดมั่นแนวทางอนุรักษนิยม แต่นับจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ คว้าชัยชนะในศึกชิงทำเนียบขาวเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ปรากฏว่าพวกเสรีนิยมโดยเฉพาะบรรดาผู้มีอันจะกินที่มีถิ่นพำนักในย่านซิลิคอน แวลลีย์ กลับหลั่งไหลเข้าร่วมแนวคิดนี้อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
แม้แนวคิดในการสร้างหลักประกันเพื่อความอยู่รอดมีมานานหลายทศวรรษ แต่กระแสนี้ปะทุขึ้นมาอีกครั้งหลังเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเงินตามกันมาหลายระลอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเฮอริเคนแคทรินาและแซนดี รวมทั้งวิกฤตการเงินโลกในปี 2008
รอน ดักลาส ผู้จัดกิจกรรรมสำหรับกลุ่มผู้สร้างหลักประกันความอยู่รอด (survivalist) เพื่อช่วยผู้คนในการเตรียมพร้อมสำหรับวันโลกาวินาศ เผยว่า เขาเคยจัดงานปีละครั้งโดยมีผู้เข้าร่วม 5,000 คนเมื่อปี 2010 แต่ตอนนี้เขาต้องจัดงานปีละ 6 ครั้ง และมีผู้เข้าชม 10,000 คน
ดักลาสสำทับว่า นอกจากพายุทอร์นาโด เฮอริเคน และแผ่นดินไหวแล้ว “prepper” หรือผู้เตรียมพร้อมรับภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งขณะนี้มีทั้งฝ่ายอนุรักษนิยมและเสรีนิยมนั้น ต่างหวาดกลัวการก่อความไม่สงบ รัฐบาลล่มสลาย การรุกรานจากรัสเซียและจีน
ภายใต้คณะบริหารของอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา เซอร์ไววัลลิสต์สายรีพับลิกันเคยกระวนกระวายอย่างมาก แต่มาวันนี้ความกังวลทั้งหลายแหล่กลับไปกลุ้มรุมกลุ่มเสรีนิยมมากกว่า
ก่อนทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง เซอร์ไววัลลิสต์ที่ไปร่วมกิจกรรมของดักลาสส่วนใหญ่เป็นชายผิวขาวชาวรีพับลิกัน แต่ปัจจุบันแฟนรายการครอบคลุมถึงหนุ่มไว้ผมทรงเดรดล็อกและสวมรองเท้าแตะ รวมทั้งพวกที่ชอบใส่เสื้อผ้าสไตล์ทหาร
ดักลาสเสริมว่า นับวันผู้สมัครร่วมชมรายการของเขาจะมาจากพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงเหนียวแน่นของเดโมแครตมากขึ้น และคนเหล่านี้มักถามคำถามที่ไม่ปกตินัก
“พวกเขาเข้ามาและพูดว่า การเลือกตั้งครั้งนี้คือจุดเริ่มต้นของวันสิ้นโลก และขอวิธีเตรียมตัวรับมือฝุ่นรังสีนิวเคลียร์ รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับบังเกอร์”
นอกจากนั้น ยังมีหน้าเฟซบุ๊ก อาทิ “ลิเบอรัล เวแกน เพรพเพอร์ส” ผุดขึ้นมากมาย
ขบวนการนี้ยังดึงดูดเหล่าซูเปอร์ริช โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้บริหารในวงการไฮเทคจากซิลิคอนแวลลีย์ที่บางคนกลัวว่า การว่างงานที่เกิดจากระบบอัตโนมัติจะปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งในสังคม
รายการทีวีมากมายยืนยันความหมกมุ่นในขบวนการเซอร์ไววัลลิสต์ ในจำนวนนี้รวมถึงเรียลิตีโชว์ทางทีวีที่ชื่อ “เนกเค็ด แอนด์ อะเฟรด” ที่ผู้สมัครนุ่งน้อยห่มน้อยต้องพยายามเอาตัวรอดในป่า และ “ดูมส์เดย์ เพรพเพอร์ส” ที่มีคณะกรรมการตัดสินว่า ผู้เล่นคนใดเตรียมพร้อมรับวันสิ้นโลกได้ดีที่สุด
มาร์วิน เลียว อดีตผู้บริหารของยาฮูที่ปัจจุบันเป็นหุ้นส่วนบริษัทร่วมลงทุน 500 สตาร์ทอัพส์ บอกว่า นับจากปี 2008 ที่ขบวนการประชานิยมแจ้งเกิด บรรดามหาเศรษฐีต่างตระหนักถึงกระแสนี้มากขึ้น
“ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนกว้างขวางออกไป และคนจนบางส่วนโกรธแค้นคนรวย
“ถ้าคุณเป็นเศรษฐีพันล้าน คุณอาจมีที่หลบภัยของตัวเอง ผมรู้จักหลายคนที่มีที่หลบภัยในแคนาดา บนเกาะในแคริบเบียน สถานที่บางแห่งในละตินอเมริกา และนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่หลายคนนิยมมาก” เลียวบอก
แอนโตนิโอ มาร์ติเนซ อดีตผู้บริหารเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์ และโกลด์แมน แซคส์ เพรพเพอร์ผู้มั่งมีอีกคน มีบ้านที่ติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยครบครันบนเกาะใกล้ซีแอตเติลในรัฐวอชิงตัน
เลียวที่บอกว่าตัวเองเป็นเพรพเพอร์ “แบบเบาๆ” เปิดใจว่า การที่ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดียิ่งทำให้เขากลัววันโลกาวินาศขึ้นสมอง
สถานการณ์จำลองวันสิ้นโลก
อดัม แท็กการ์ต เพื่อนของเลียวและเป็นอดีตผู้บริหารยาฮูเหมือนกัน ทิ้งซิลิคอน แวลลีย์ไปอยู่ในแหล่งผลิตไวน์โซโนมาทางเหนือของซานฟรานซิสโกหลายปีแล้ว
แท็กการ์ตบอกว่า นอกจากชัยชนะของทรัมป์ ปัญหาหนี้พุ่ง เงินเฟ้อ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป ยังผลักดันให้สังคมตะวันตกมุ่งหน้าสู่สถานการณ์จำลองวันสิ้นโลกมากขึ้น
แท็กการ์ตเป็นประธานและผู้ร่วมก่อตั้ง PeakProsperity.com เว็บไซต์ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการสร้างความยืดหยุ่น ซึ่งหมายถึงการใช้ชีวิต “กึ่งอัตโนมัติ” ด้วยสวนผลไม้ของตัวเอง สัตว์ปีกและหมูที่เลี้ยงเอง รวมทั้งอาหารกระป๋องและน้ำที่ตุนไว้เพียงพอสำหรับระยะเวลาหลายเดือน
นอกจากนี้เขายังซ่อนเงินสดและทองแท่งไว้จำนวนหนึ่ง มีเครื่องปั่นไฟ ไม้ และระบบกรองน้ำ รวมถึงมีปืนสำรองไว้ในกรณีที่ต้องออกหาอาหาร
และเพื่อปลอดภัยไว้ก่อน เขาเข้ารับการผ่าตัดตาด้วยเลเซอร์เพื่อจะได้ไม่ต้องใส่แว่น
แท็กการ์ตบอกว่า เขาแทบไม่รู้สึกเหงาเลย เพราะที่ที่เขาอยู่มีความแตกต่างด้านฐานะน้อยมาก และเขายังมีกลุ่มเพื่อนเพรพเพอร์ด้วยกันที่นัดเจอกันทุกสัปดาห์
“ถ้าเหตุการณ์เลวร้าย เราจะรับมือไปด้วยกัน เพราะจริงๆ แล้วการอยู่รอดตามลำพังผมว่าค่อนข้างยากนะ” แท็กการ์ตทิ้งท้าย