xs
xsm
sm
md
lg

InClip : “ทาโร อาโซะ” รมว.เศรษฐกิจญี่ปุ่นตอก “สหรัฐฯ” กลางที่ประชุม IMF บีบสถาบันการเงินโลก “มอนิเตอร์สกุลเงินคนอื่น” แก้ปัญหาขาดดุลการค้าตัวเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - ทาโร อาโซะ (Taro Aso) รัฐมนตรีการคลังญี่ปุ่นกล่าวกลางที่ประชุม IMF ประจำฤดูใบไม้ผลิ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันนเสาร์ (22 เม.ย.) ยืนยันชัดเจน ปฏิเสธข้อเสนอรัฐมนตรีการคลังสหรัฐฯ คนใหม่ สตีเวน มนูชิน ที่ให้สถาบันการเงินโลก IMF จับตาความเคลื่อนไหวการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ รับลูกจากผู้นำสหรัฐฯ ที่เคยกล่าวหา “ญี่ปุ่น” และ “จีน” ใช้นโยบายการคลังทำให้ค่าเงินตัวเองต่ำเพื่อประโยชน์ทางการค้า

หนังสือพิมพ์เจแปนไทม์สรายงานเมื่อวานนี้ (23 เม.ย.) ว่า ในที่ประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ IMF ทาโร อาโซะ (Taro Aso) รัฐมนตรีการคลังญี่ปุ่น ออกมาต่อต้านข้อกล่าวหาสหรัฐฯ เรื่องการใช้มาตรการทางการคลังเพื่อกดค่าสกุลเงินเยนไว้ให้ต่ำเพื่อทำให้ญี่ปุ่นได้เปรียบทางการค้ากับชาติต่างๆ

ก่อนหน้านี้รัฐมนตรีสหรัฐฯ สตีเวน มนูชิน ที่ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งแรก เรียกร้องให้ IMF และเวิลด์แบงก์ “เข้มงวดในการจับตาระบบแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศของชาติสมาชิกและความไม่สมดุลทางภายนอก” เนื่องจากสหรัฐฯ เชื่อว่าการไม่สมดุลทางการค้าจำนวนมหาศาลนั้น ส่งผลกระทบต่อการค้าที่เสรีและเป็นธรรม

อาโซะออกมาระบุว่า ข้อเสนอของรัฐมนตรีการคลังสหรัฐฯใช้ไม่ได้กับญี่ปุ่น โดยชี้แจงว่า มีข้อจำกัดในการใช้มาตรการประเมินระบบอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อแก้ปัญหาการดุลทางการค้า ซึ่งรัฐมนตรีการคลังแดนอาทิตย์อุทัยกล่าวถึงการเกินดุลทางการค้าของญี่ปุ่นล่าสุดนั้น ***ไม่ได้เกิดจากการโตขึ้นของการส่งออกเนื่องมาจากค่าสกุลเงินเยนที่อ่อนตัว แต่มาจากการเพิ่มขึ้นของเงินปันผลและรายได้จากการลงทุนในต่างแดนที่กลับเข้าญี่ปุ่น***

“ในกรณีที่มีการไม่สมดุลทางการค้าจำนวนมากเกิดขึ้น เห็นสมควรให้ใช้มาตรการนโยบายทางโครงสร้างและระบบเศรษฐกิจมหภาคช่วย” รายงานจากแถลงการณ์ของทาโร อาโซะต่อที่ประชุม IMF

ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจอเมริกา “อเมริกาเฟิสต์” หรืออเมริกาต้องมาก่อน ได้ออกมาโจมตี ญี่ปุ่น จีน และเยอรมนี ว่าได้เปรียบทางการค้ากับอเมริกาจำนวนมหาศาล โดยพยายามทำให้ค่าเงินของตัวเองอ่อนลงเพื่อทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางการค้ากับอเมริกา แต่ได้ประโยชน์กับประเทศตัวเอง

แต่อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้เยอรมนีเป็นประเทศเดียวในจำนวนทั้งหมด 3 ประเทศที่ใช้สกุลเงินกลาง คือ เงินยูโร ที่ใช้ภายในสหภาพยุโรป ยกเว้นอังกฤษ

อาโซะยังกล่าวต่อว่า “ดังนั้นการใช้การปรับเปลี่ยนผ่านการเปลี่ยนแปลงในอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินนั้นจึงไม่จำเป็น”

ทั้งนี้ ผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายญี่ปุ่นต่างเกรงว่า ทรัมป์จะใช้ข้อกล่าวหาในการมัดมือญี่ปุ่นด้วยการใช้มาตรการแทรกแซงทางอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อแก้ปัญหาค่าสกุลเงินเยนที่ไม่ปกติ

ในที่ประชุม IMF รัฐมนตรีการคลังญี่ปุ่นยืนยันว่า “จากบรรยากาศความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่ยังคงมีอยู่ เสถียรภาพของตลาดอัตราและเปลี่ยนและการเงินถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก” ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงในระบบอัตราแลกเปลี่ยนอาจส่งผลร้ายต่อเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจของโลก

สื่อ DW ของเยอรมนีรายงานเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ IMF ได้เปลี่ยนจุดยืนของตัวเองต่อนโยบายต้านการปกป้องทางการค้า และหันมาใช้ภาษาตามอย่างรัฐบาลทรัมป์แทน ซึ่งในที่ประชุม มนูชินได้หว่านล้อม คริสตีน ลาร์การ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ IMF โดยกล่าวว่า “ประธานาธิบดีทรัมป์เชื่อมั่นในหลักการข้อตกลงการค้าร่วม และการค้าเสรีร่วม ซึ่งหมายความว่า หากตลาดการค้าสหรัฐฯ เปิด นั้นในทางเดียวกันอย่างที่ควรจะเป็นตลาดการค้าของคนอื่นสมควรต้องเปิดด้วยเช่นกัน”

โดยที่ประชุมใหญ่ IMF ที่มีระดับรัฐมนตรีการคลังชาติสมาชิก และผู้ว่าการธนาคารชาติเข้าร่วม ไม่มีการระบุการประณามอย่างรุนแรงต่อการกีดกันทางการค้า รวมไปถึงภัยต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)จากแถลงการณ์ปิดการประชุมในวันเสาร์ (23 เม.ย.) เจแปนไทม์สชี้

ในปีนี้ IMF ให้ความสำคัญต่อปัญหาการตอบโต้ต่อการผงาดขึ้นมาของกระแสต้านโลกาภิวัตน์ (Anti-Globalization Sentiment) เกิดขึ้นหลังจากชัยชนะการเลือกตั้งครั้งใหญ่ของโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นหัวหอก และรวมไปถึงชัยชนะของ มารีน เลอ แปน หัวหน้าพรรคชาตินิยมฝรั่งเศส FN ในการเลือกตั้งรอบแรกของฝรั่งเศสในวันอาทิตย์ (23 เม.ย.)

โดยในแถลงการณ์ทางการของที่ประชุม IMF ออกมาเรียกร้องให้ชาติสมาชิกหลีกเลี่ยง นโยบายการมองเข้ามาภายใน (Inward looking policy) ที่มีมาตรการภาษีการค้าเป็นเพื่อตั้งกำแพงกีดกัน แต่ทว่าในแถลงการณ์ ไม่ใช้ภาษาที่รุนแรงของกลุ่มในเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา ที่ออกมาเรียกร้องให้ทุกประเทศ “ต่อต้านทุกรูปแบบของการกีดกันทางการค้า”

แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของอาโซะ สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า รัฐมนตรีการคลังญี่ปุ่นเลือกที่จะไม่แสดงความเห็นต่อกระแสความเคลื่อนไหวการปกป้องการค้า โดยกล่าวเพียงว่า เขาเชื่อมั่นในหลักการค้าเสรี ซึ่งเป็นแรงผลักดันในการเติบโตเศรษฐกิจโลกนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1

สื่อญี่ปุ่นกล่าวว่า ในการแถลงร่วมปิดการประชุม ลาการ์ด และออกุซติน คาร์สเตินส์ (Agustin Carstens) ผู้ว่าการธนาคารกลางเม็กซิโก ที่นั่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการด้านนโยบายของ IMF เลือกที่จะไม่แสดงออกอย่างชัดเจนในเหตุผลที่ต้องใช้ภาษาที่อ่อน และการตัดปฏิญญาว่าด้วยการปกป้องการค้าและสภาวะโลกร้อนออกไปในปีนี้

โดยลาการ์ดแก้ตัวว่า ภาษาที่รุนแรงในการประณามการปกป้องการค้า และการสนับสนุนในความพยายามเพื่อแก้ไขสภาวะโลกร้อนนั้นยังคงมีอยู่ แต่ถูกระบุไว้ในเอกสารวาระทางนโยบาย IMF ที่ถูกแยกออกมาจากแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ

ส่วนคาร์สเตินส์ออกมาเสริมว่า มีความสำคัญมากกว่าทางการค้าที่ต้องรับฟังแนวความคิดที่ต่างของแต่ละชาติ ซึ่งผู้ว่าการธนาคารกลางเม็กซิโกกล่าวต่อนักข่าวว่า “เราทุกคนต่างต้องการค้าที่เสรีและยุติธรรม และแสดงออกไว้ในคอมมูนิเก้ครั้งนี้” หลังจากถูกถามจากผู้สื่อข่าวว่าเหตุใดภาษาที่ใช้ในการแสดงออกถึงการต่อต้านการปกป้องการค้าภายในจึงถูกตัดออกไป

การประชุมของ IMF และเวิลด์แบงก์เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศสดใสทางเศรษฐกิจที่เป็นผลจากผลประกอบการที่ดีขึ้นของสหรัฐฯ และจีน สองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก และการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าคอมโมดิตี ซึ่งส่งผลดีต่อชาติเศรษฐกิจกำลังพัฒนาจำนวนมาก

สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ IMF ได้ออกมาคาดการณ์การเติบโตโลกอยู่ที่ 3.5% ประจำปีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตที่เร็วที่สุดในรอบ 5 ปี และเพิ่มจาก 3.1% ในปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ปิดการประชุม IMF ได้เตือนไปถึงความเสี่ยงในด้านต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นตั้งแต่การเติบโตการผลิตที่อ่อนตัวไปจนถึงระดับหนี้สูง และความไม่แน่นอนทางนโยบายและการเมือง






กำลังโหลดความคิดเห็น