เอเอฟพี - สื่อนานาชาติออกมาวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบแรกเมื่อวานนี้ (23 เม.ย.) โดยบรรดาหนังสือพิมพ์ชั้นนำต่างเขียนเชียร์ เอ็มมานูเอล มาคร็อง ผู้สมัครอิสระสายกลางที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 ซึ่งจะต้องไปวัดดวงชิงชัยกับ มารีน เลอแปน ผู้นำของพรรคขวาจัด ในศึกเลือกตั้งรอบสองที่จะจัดขึ้นในวันที่ 7 พ.ค.
** “เลอแปน” ยังไม่สิ้นฤทธิ์ **
สื่ออังกฤษชี้ว่า มาคร็อง วัย 39 ปี ซึ่งเป็นผู้สมัครที่มีแนวคิดโปรยุโรปสามารถทำคะแนนได้ดีอย่างน่าพอใจ ทว่า เลอแปน ซึ่งเข้าวินมาเป็นที่ 2 ก็ยังไม่ควรถูกมองข้าม
“ภัยคุกคามจากกลุ่มขวาจัดในฝรั่งเศสยังไม่หายไป” หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนซึ่งเป็นสื่อกลางขวา ระบุพร้อมชี้ว่า มาคร็อง “เป็นความหวังที่ดีที่สุดสำหรับฝรั่งเศส ซึ่งแม้กำลังเผชิญปัญหารุมเร้า แต่ก็เป็นชาติที่ยิ่งใหญ่”
เดอะ ไฟแนนเชียลไทม์ส คาดการณ์ว่าวันที่ 7 พ.ค.จะเป็น “วันสวมมงกุฎ” สำหรับมาคร็อง แต่ก็เตือนว่าการบริหารประเทศหลังจากนั้นจะไม่ใช่เรื่องง่าย และ มาครง อาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้อง “ต่อรองอย่างยากลำบาก” เพื่อผลักดันแผนปฏิรูปให้ลุล่วง
ด้านฟ็อกซ์นิวส์ซึ่งเป็นสื่อชั้นนำของอเมริกาชี้ว่า เลอแปน ยังมีโอกาสอยู่ พร้อมหยิบยกชัยชนะที่เหนือความคาดหมายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มาเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบ “เธออาจจะสร้างเซอร์ไพรส์ใหญ่ยิ่งกว่าท่านประธานาธิบดีจอมทวีต (Tweeter in Chief) เสียอีก”
** ฝรั่งเศสแตกแยก **
สื่อหลายประเทศยังชี้ให้เห็นถึงความพ่ายแพ้ของพรรคการเมืองกระแสหลักทั้งฝ่ายซ้ายและขวา โดยวอลล์สตรีทเจอร์นัลถึงกับเรียกการโหวตครั้งนี้ว่าเป็นการ “ดัดหลังกลุ่มอำนาจหลักในฝรั่งเศส”
หนังสือพิมพ์ Frankfurter Allgemeine Zeitung (FAZ) ในเยอรมนีลงบทความที่ใช้ชื่อว่า “ฝรั่งเศสแตกแยก” โดยชี้ว่า ชาวฝรั่งเศสมากกว่า 40% เลือกที่จะลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครฝ่ายซ้ายจัด หรือไม่ก็ขวาจัดไปเลย
สื่อเมืองเบียร์ยังเตือนเป็นนัยๆ ว่าไม่ควรด่วนสรุปว่าผู้สมัครสายกลางรายนี้จะได้ครองบัลลังก์ผู้นำฝรั่งเศสในเดือน พ.ค.อย่างแน่นอน
“ชัยชนะของมาคร็องฉิวเฉียดมาก หากเป็นศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี 2 ครั้งก่อนหน้านี้เขาจะไม่มีทางชนะในรอบสองได้เลย”
บีบีซีของอังกฤษระบุว่า การเมืองฝรั่งเศสกำลังเกิดปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน (uncharted political water) และไม่ว่าใครจะชนะศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ ประเทศชาติก็จะยังคง “แตกแยก” อย่างหนัก
หนังสือพิมพ์ เลอ ตองส์ ของสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า ผลเลือกตั้งรอบแรกเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าสาธารณรัฐฝรั่งเศสกำลัง “หมดสภาพ” และประชาชนต้องการ “การเปลี่ยนแปลงชนิดถึงรากถึงโคน” ซึ่งในรอบที่ 2 ก็จะเป็นการต่อสู้ระหว่างสองวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกันสุดขั้ว ได้แก่ “วิสัยทัศน์ที่เน้นการหลอมรวมและเปิดกว้างสู่โลกภายนอก กับวิสัยทัศน์ที่ขังตัวเองอยู่แต่ในเส้นพรมแดนและความเชื่อเก่าๆ”
เลอ ตองส์ เตือนว่าศึกเลือกตั้งครั้งนี้มีเดิมพันสูงมาก
“คำตอบสุดท้ายของชาวฝรั่งเศสไม่เพียงเปลี่ยนแปลงอนาคตของประเทศเท่านั้น แต่จะเปลี่ยนโฉมหน้าของโลกด้วย”
** คนในหรือคนนอก? **
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สชี้ว่า สถานะของ มาคร็อง ค่อนข้างที่จะแปลก เพราะแม้จะประกาศตัวเป็นอิสระจากพรรคการเมืองหลัก แต่เมื่อดูประวัติการทำงานของเขาก็จะพบว่าเคยเป็นคนของพรรคโซเชียลลิสต์ และมีตำแหน่งเป็นถึงรัฐมนตรีเศรษฐกิจมาก่อน
“เขามีประวัติเป็นคนใน แต่นโยบายเหมือนกับเป็นคนนอก” เดอะไทม์ส ระบุ
“หากนักการเมืองที่มีความสามารถเกินวัยอย่าง มาคร็อง กลายเป็นผู้ชนะ ภารกิจท้าทายอย่างแรกของเขาก็คือการเสนอขายผลิตภัณฑ์ที่คนส่วนใหญ่แทบจะไม่รู้จักมาก่อน นั่นคือ ตัวเขาเอง”
** ใกล้ชิดกับยุโรปที่เป็นหนึ่ง **
หนังสือพิมพ์ Gazeta Wyborcza ในโปแลนด์แสดงความโล่งอกที่ มาคร็อง มีแนวโน้มจะเป็นฝ่ายชนะ เลอแปน ได้ในศึกเลือกตั้งรอบสอง เพราะโอกาสที่ฝรั่งเศสจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ก็จะลดน้อยลงไปด้วย
“สหภาพยุโรปต้องอยู่รอดต่อไปให้ได้หลังจากที่อังกฤษเริ่มกระบวนการถอนตัว แต่หากเกิด “เฟร็กซิต” (Frexit) ขึ้นมาอีก โปรเจกต์ยุโรปจะถูกตอกฝาโลงทันที และนั่นคือสิ่งที่พรรคเนชันแนล ฟรอนต์ ของ เลอแปน ประกาศไว้ว่าจะทำ”
** ไม่ธรรมดา **
ในบทบรรณาธิการชื่อว่า “ความหวังของมาคร็อง” หนังสือพิมพ์รายวัน El Pais ของสเปน ระบุว่า ความสำเร็จของนักการเมืองสายกลางอายุน้อยผู้นี้ “คือสัญญาณเตือนไปถึงพรรคการเมืองดั้งเดิมว่าจะต้องดูเขาเป็นแบบอย่าง หากต้องการเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอีกครั้ง”
“ชายผู้กำลังจะกลายเป็นประธานาธิบดีอายุน้อยที่สุดของสาธารณรัฐฝรั่งเศสต้องฝ่าฟันทั้งวิกฤตการณ์ต่างๆ และการมองโลกในแง่ร้าย”
“วิสัยทัศน์แง่ดีที่เขามีต่อประเทศชาติและยุโรปคือสิ่งที่ดึงดูดใจผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในยามที่กระแสประชานิยม ชาตินิยม และการเกลียดกลัวชาวต่างชาติกำลังมาแรง”
หนังสือพิมพ์ซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์ของออสเตรเลียเปรียบเปรยผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบแรกว่าเป็นเหมือน “แผ่นดินไหวทางการเมือง”