เอเอฟพี - เอมมานูเอล มาคร็อง ผู้สมัครอิสระที่มีแนวทางสายกลาง ได้คะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสมาเป็นอันดับ 1 ทว่าไม่เพียงพอที่จะชนะขาดลอย ทำให้เขาต้องลงแข่งขันในรอบสองที่เป็นรอบตัดสินกับ มารีน เลอ เปน ผู้นำของพรรคขวาจัดซึ่งได้เสียงโหวตเป็นที่ 2 ทั้งนี้ตามผลการคาดการณ์ซึ่งออกมาหลังปิดหีบลงคะแนนเลือกตั้งทั่วประเทศในวันอาทิตย์ (23 เม.ย.) ขณะที่พรรคการเมืองอื่นๆ พากันประกาศให้สนับสนุนมาคร็อง ทำให้เขาเป็นตัวเก็งที่จะได้เป็นผู้นำอายุน้อยที่สุดของแดนน้ำหอมในช่วงประวัติศาสตร์ยุคใหม่
ตามการคาดการณ์ของเฟรนช์ ทีวี สถานีโทรทัศน์สาธารณะในฝรั่งเศส มาคร็องมาเป็นที่ 1 โดยจะได้เสียงระหว่าง 23-24% ในการเลือกตั้งรอบแรกเมื่อวันอาทิตย์ (23) นำห่างนิดเดียวจากอันดับ 2 คือ เลอ เปน ผู้นำพรรค “ฟรอนต์ เนชั่นแนล” หรือเอฟเอ็น ซึ่งคาดว่าจะได้คะแนนระหว่าง 21.6 ถึง 23%
“ชาวฝรั่งเศสได้แสดงความปรารถนาของพวกเขาที่จะเปลี่ยนแปลง” มาคร็องระบุคำแถลง พร้อมกับเสริมว่า “เรากำลังพลิกไปสู่หน้าใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองของฝรั่งเศสอย่างชัดเจน”
ผลการเลือกตั้งที่ออกมาเช่นนี้ เป็นสัญญาณความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการเมืองแดนน้ำหอมอย่างแท้จริง เนื่องจากทั้ง ฟรองซัวส์ ฟิญง ผู้สมัครของพรรครีพับลิกันที่เป็นพวกอนุรักษนิยม ที่กำลังตกเป็นข่าวอื้อฉาว และ เบอนัวต์ อามง ตัวแทนของพรรคโซเชียลิสต์ ต่างก็ไปไม่ถึงรอบสอง จึงหมายความว่าจะไม่มีพรรคการเมืองกระแสหลักพรรคใดเลยเข้าชิงชัยได้รอบตัดสินเป็นครั้งแรกในรอบระยะเวลา 60 ปี
มาคร็อง ซึ่งเวลานี้อายุ 39 ปี แม้เคยเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจในรัฐบาลของพรรคโซเชียลิสต์ แต่ก็ไม่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งเลย และเพิ่งเริ่มต้นขบวนการสายกลางอิสระของเขาเมื่อ 12 เดือนที่แล้ว กระนั้นเขาก็เป็นตัวเก็งชนิดนำขาดว่าจะเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งรอบสองซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม
ทั้งนี้ โพลทุกๆ สำนักที่ถามคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์การเลือกตั้งที่อาจเกิดขึ้นในรอบตัดสิน ต่างปรากฏผลตรงกันว่า นักการเมืองหนุ่มผู้มีกลิ่นไอความทันสมัยซึ่งโปรยุโรปและโปรธุรกิจผู้นี้ จะมีคะแนนทิ้งห่างถึง 20% หากแข่งขันตัวต่อตัวกับ เลอ เปน ซึ่งในสัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้งรอบแรก ได้ปรับวาทศิลป์ต่อต้านผู้อพยพและต่อต้านยุโรปของเธอให้แข็งกร้าวมากขึ้นอีก
การเลือกตั้งในฝรั่งเศสครั้งนี้ได้รับการจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเห็นกันว่าเป็นลางบอกเหตุเกี่ยวกับกระแสอารมณ์ความรู้สึกประชานิยม ภายหลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในสหรัฐฯ และอังกฤษก็ออกเสียงอำลาสหภาพยุโรป
ตลอดระยะเวลารณรงค์หาเสียง มาคร็องยืนยันว่าฝรั่งเศสเป็น “นักสวนกระแส” โดยพร้อมที่จะเลือกผู้มีแนวคิดเสรินิยมฝักใฝ่กระแสโลกาภิวัตน์อย่างตัวเขา ในเวลาที่พวกนักชาตินิยมฝ่ายขวากำลังมีคะแนนเพิ่มสูงขึ้นในตลอดทั่วโลก
ขณะเดียวกันก็มีสัญญาณออกมาแล้วว่า มาคร็อง ซึ่งแต่งงานกับอาจารย์เก่าในระดับโรงเรียนของเขาที่มีอายุมากกว่าเขา 25 ปี จะได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากพวกพรรคคู่แข่งที่พ่ายแพ้ไปในรอบแรก ทั้งในพรรครีพับลิกันและพรรคโซเชียลิสต์
อามง ซึ่งได้รับการคาดการณ์ว่าจะได้คะแนนเพียงแค่ 6% และเข้าป้ายเป็นที่ 5 แถลงว่า ผู้ออกเสียงควรหนุนมาคร็องในรอบตัดสิน เพื่อกีดกัน เลอ เปน ซึ่งเขาเรียกเธอว่าเป็น “ศัตรูของสาธารณรัฐ”
ฟิญงก็เช่นกัน บอกว่าเขาจะโหวตให้มาคร็อง