รอยเตอร์ /เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีตุรกี เรเจป ตัยยิป แอร์โดอัน แถลงชัยชนะในการลงประชามติแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญเมื่อวานนี้ (16 เม.ย.) อ้างตัวเลขประชาชน 25 ล้านเสียงเปิดทางอนุญาต เพิ่มอำนาจให้ตัวเอง ยุบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ฝ่ายค้านยันมีความผิดปกติในการโหวต จะออกมายื่นอุทธรณ์ผลแน่นอน หลังผลการลงประชามติ สนับสนุนแอร์โดอันแค่ 51.5%
รอยเตอร์รายงานวันนี้ (17 เม.ย.) ว่าในการลงประชามติแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญตุรกีที่ถูกจัดขึ้นในวันอาทิตย์ (16) พบพลเมืองเติร์กออกเสียงสนับสนุนรัฐบาลอังการา ให้มีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้ผู้นำตุรกี ประธานาธิบดีตุรกี เรเจป ตัยยิป แอร์โดอัน มีอำนาจประธานาธิบดีแบบเบ็ดเสร็จ แทนระบบรัฐสภาตุรกีแบบเดิม ที่อาจต้องการให้คล้ายกับระบบประธานาธิบดีของสหรัฐฯ และรวมไปถึงการยุบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้
แต่ทว่าทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกีซึ่งเป็นเขตพลเมืองเคิร์ด และอีก 3 เมืองใหญ่ รวมไปถึงกรุงอังการา และนครอิสตันบูล กลับพบว่าผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกที่จะ “โหวตโน” ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง
รอยเตอร์รายงาน ผู้นำตุรกี แอร์โดอัน ใช้โอกาสหลังเสร็จสิ้น ประกาศชัยชนะ อ้างตัวเลขประชาชน 25 ล้านเสียงสนับสนุนข้อเสนอแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งพบว่าตัวเลขชัยชนะคะแนนประชามติ มีกลุ่มสนับสนุน 51.5% ชนะอย่างเฉียดฉิว
ในบรรยากาศฉลองชัยของวานนี้ (16 เม.ย.) พบภาพธงชาติตุรกีจำนวนมากโบกไปมาแสดงถึงความยินดีในกรุงอังการา และที่นครอิสตันบูล ซึ่งที่ผ่านมาทั้งแอร์โดอันและพรรครัฐบาลตุรกี AK ได้ทุมอย่างหนักเพื่อจะทำให้ผลประชามติออกไปในทิศทางที่ต้องการ
โดยในแถลงการณ์ประกาศชัยชนะของแอร์โดอัน เขากล่าวว่า “นี่ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐเติร์ก เรากำลังเปลี่ยนระบบการปกครองผ่านการเมืองภาคประชาชน” รอยเตอร์ชี้ว่า ผู้นำตุรกีได้อ้างไปถึง การทำรัฐประหารในตุรกีที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางการเมืองมานานหลายสิบปี
และแอร์โดอันชี้ต่อว่า “และนั่นทำไมสิ่งนี้จึงสำคัญ”
รอยเตอร์รายงานว่า ภายใต้การเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงใหม่เกือบทั้งหมดจะเกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไปแล้วเท่านั้นซึ่งจะมีขึ้นในปี 2019 โดยนายกรัฐมนตรีตุรกีได้ประกาศเมื่อวานนี้(16 เม.ย)ว่า เขาระเริ่มเดินหน้าเตรียมการจัดการเลือกตั้งืทั่วไปปี 2019
รอยเตอร์รายงานต่อว่า และในการเปลี่ยนแปลงหลังแก้ไข ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเติร์กจะแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีของตัวเอง และรองประธานาธิบดีของตัวเองอีกจำนวนหนึ่ง
นอกจากนี้ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงจะพบว่าประธานาธิบดีตุรกีมีอำนาจ สามารถปลดหรือแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงได้โดยไม่ต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภาผู้ออกกฎหมาย
และในบรรยากาศฉลองชัยเมื่อวานนี้ (16 เม.ย.) นายกรัฐมนตรีตุรกี บินาลี ยิลดิริม (Binali Yildirim) ที่กำลังจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายของตุรกี ลุกขึ้นปราศรัยต่อฝูงชนกลางกรุงอังการา ท่ามกลางเสียงแตรที่ถูกบีบออกมาจากบรรดาประชาชนนั่งหลังพวงมาลัยในรถที่คราคร่ำบนถนนสายหลัก ในขณะที่ขบวนรถเหล่านี้มุ่งหน้าไปยังที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรค AK ส่วนคนที่นั่งด้านหลังต่างโบกธงออกนอกตัวรถอย่างสนุกสนาน
รอยเตอร์รายงานว่า อย่างไรก็ตาม พรรคฝ่ายค้านตุรกีประกาศจะขออุทธรณ์ต่อผลการลงคะแนนการลงประชามติ โดยพรรครีพับลิกัน พีเพิล CHP ได้ประกาศว่า ทางพรรคจะร้องขอให้มีการตรวจนับผลคะแนนใหม่ถึง 60% ของทั้งหมด หลังจากที่คณะกรรมการเลือกตั้งตุรกี YSK ประกาศว่า ทางคณะจะทำการตรวจนับบัตรลงคะแนนที่ไม่ได้มีตราประทับจากเจ้าหน้าที่ในการยืนยันความถูกต้อง
จากการที่อ้างอิงจากสื่อรัสเซีย RT ระบุว่า มีผู้ร้องเรียนจำนวนมากที่อ้างว่า เจ้าหน้าที่ได้ยื่นบัตรลงคะแนนที่ไม่มีตราประทับให้กับพวกเขาในการลงคะแนนประชามติ
โดยเคมาล คิลิดาโรกลู (Kemal Kilicdaroglu)จากพรรครีพับลิกัน พีเพิล CHP ชี้ว่า ความชอบธรรมในประชามติที่ถูกจัดขึ้นนี้ยังน่าสงสัย รอยเตอร์ชี้ว่า คิลิดาโรกลูได้ออกมาตั้งคำถาม โดยชี้ไปว่า ประธานาธิบดีแอร์โดอัน วางแผนต้องการให้ตัวเขาเป็นคนเดียวที่เป็นรัฐบาลของตุรกี ที่เรียกว่า รัฐบาลกูเอง หรือ “one-man regime”
ในข้อกล่าวหาของผู้นำฝ่ายค้านตุรกียังเลยไปถึงว่า ข้อเสนอในการเปลี่ยนการปกครองประเทศของแอร์โดอันจะพาตุรกีไปสู่หายนะ
รอยเตอร์รายงานต่อว่า ในบางพื้นที่ซึ่งเป็นที่อยู่ของประชาชนที่มีรายได้สูงในนครอิสตันบูล พบประชาชนที่ไม่เห็นด้วยต่างลงถนน เดินขบวน และมีบางส่วนตีหม้อและกะทะส่งสัญญาณแสดงความไม่พอใจจากที่บ้าน แสดงความไม่เห็นด้วยในผลการลงประชามติ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในช่วงประท้วงใหญ่ต้านแอร์โดอันปี 2013
RT รายงานเพิ่มเติมว่า ประธานคณะกรรมาการเลือกตั้งตุรกี ออกมายืนยันในผลประชามติในวันอาทิตย์(16 เม.ย.) ประกาศผลชัยชนะของกลุ่มสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงกฎหมายรัฐธรรมนูญตุรกี และพร้อมกล่าวต่อว่า สำหรับผลอย่างเป็นทางการจะถูกสามารถประกาศได้ไม่เกิน 12 วันข้างหน้า
และในการรายงานของสื่อรัสเซีย แอร์โดอันยังส่งสัญญาณไปยังประชาคมโลก โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพันธมิตรตุรกี ให้ต้องเคารพและฟังเสียงพลังประชาชนชาวเติร์กต่อมติการลงประชามติที่ออกมา
ทั้งนี้ สำนักข่าวอนาโดลูของตุรกีรายงานว่า มีการนับผลคะแนนไปแล้วราว 98% โดยมีผลการลงสนับสนุน “เยส โหวต” ยอมรับนำอยู่ที่ 51.32% นำแค่ 3 จุดเท่านั้น โดยที่ฝ่าย “โน โหวต” ไม่เห็นด้วยมีคะแนน 48.68%
ส่วนประตูคูหาลงประชามติปิดลงเวลา 16.00 น.ตามเวลาท้องถิ่นทางฝั่งตะวันออกของตุรกี แต่ในพื้นที่อื่นทั่วประเทศ คูหาเลือกตั้งปิดในเวลา 17.00 น. โดยจากผู้มีสิทธิลงคะแนน 55 ล้านคน พบว่ามีประชาชนตุรกีออกมาใช้สิทธิราว 86% สื่อฮาร์เบอร์เติร์ก รายงาน