เอเอฟพี/เอพี/เอเจนซีส์ - เกาหลีเหนืออวดโฉมอาวุธที่เดากันว่าอาจจะเป็นขีปนาวุธนำวิถีข้ามทวีปรุ่นใหม่ ในระหว่างการเดินสวนสนามครั้งมโหฬารที่กรุงเปียงยางวันเสาร์ (15 เม.ย.) บรรดานักวิเคราะห์ระบุ พร้อมกับชี้ว่ายังไม่สามารถยืนยันชัดเจนว่าสิ่งที่นำมาโชว์คราวนี้มีแต่เพียงเปลือกนอก หรือสามารถนำมาใช้งานได้แล้วจริงๆ
ระหว่างการสวนสนามเนื่องในวาระวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 105 ปีของคิล อิลซุง ผู้ก่อตั้งประเทศเกาหลีเหนือในวันเสาร์ (15) โสมแดงได้นำเอาขีปนาวุธ 10 แบบจำนวนรวมเกือบๆ 60 ลูกเคลื่อนผ่านไปตามจัตุรัสคิม อิลซุง อันเป็นจัตุรัสสำคัญที่สุดในกรุงเปียงยาง เพื่อเป็นการสำแดงแสนยานุภาพในขณะที่ความตึงเครียดกำลังพุ่งพรวดขึ้นอย่างแรง สืบเนื่องจากความทะเยอทะยานทางทหารของรัฐที่อยู่โดดเดี่ยวเดียวดายแห่งนี้
เป้าหมายสูงสุดของเกาหลีเหนือ ได้แก่ขีปนาวุธนำวิถีข้ามทวีป (intercontinental ballistic missile หรือ ICBM) ที่สามารถบรรจุหัวรบนิวเคลียร์และยิงไปถึงแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ ได้ แต่นี่ก็เป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของอเมริกาประกาศเอาไว้ว่า “จะไม่มีทางเกิดขึ้น”
ในการสวนสนามในวันเสาร์ (15) โสมแดงได้อวดขีปนาวุธที่ดูเหมือนมีประเภทต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับการสวนสนามอย่างเป็นทางการคราวก่อนๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขีปนาวุธสีเขียวขนาดยักษ์ 4 ลูกซึ่งอยู่บนรถบรรทุกเทรลเลอร์ที่ดูออกแบบมาอย่างเหมาะเจาะถี่ถ้วน ในช่วงท้ายๆ ของขบวนสวนสนาม คือสิ่งที่เตะตาพวกผู้ชำนาญการทางทหารมากเป็นพิเศษ
“นี่ดูเหมือนกับเป็นขีปนาวุธไอซีบีเอ็มรุ่นใหม่” สำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลีใต้อ้างคำพูดของนายทหารโสมขาวผู้หนึ่งที่มิได้มีการระบุชื่อ นายทหารผู้นี้บอกอีกว่าจรวดยักษ์สีเขียว 4 ลูกดังกล่าวนี้ ดูเหมือนมีความยาวกว่าขีปนาวุธ เคเอ็น-08 และ เคเอ็น-14 ซึ่งโสมแดงเคยนำมาอวดโฉมก่อนหน้านี้
ปัจจุบันเปียงยางยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าตนเองมีขีปนาวุธไอซีบีเอ็มซึ่งสามารถใช้ปฏิบัติการได้อยู่ในครอบครอง ทว่า แชด โอแคร์รอลล์ กรรมการผู้จัดการของเอ็นเคนิวส์ ซึ่งมุ่งให้บริการข่าวเกี่ยวกับเกาหลีเหนือแบบผู้ชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า จรวดใหม่ๆ เหล่านี้อาจจะเป็นขีปนาวุธนำวิถีข้ามทวีปแบบใช้เชื้อพลิงเหลว หรือไม่ก็เป็นต้นแบบระยะแรกๆ ของขีปนาวุธเช่นนี้
ขีปนาวุธพิสัยไกลเหล่านี้สามารถจะกลายเป็น “ตัวเปลี่ยนเกมครั้งใหญ่ในทันทีที่มันถูกนำเข้าประจำการพร้อมใช้งาน” เขากล่าว แต่ก็บอกต่อไปว่าเกาหลีเหนือคงยังจะต้องมีกำหนดการทดสอบกันอีกยาวทีเดียว ก่อนที่จะมีการทดลองยิงขีปนาวุธชนิดนี้กันจริงๆ
นอกจากนั้น ขีปนาวุธแบบใช้เชื้อเพลิงเหลวยังมีจุดอ่อนสำคัญ ตรงที่ต้อง “ใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ ในการเติมเชื้อเพลิง และถ้ามีข่าวกรองว่าพวกเขากำลังทำเรื่องนี้อยู่ ก็จะง่ายดายมากๆ ที่จะหยุดยั้งมันก่อนที่มันจะถูกยิงขึ้นไป” เขาบอกกับเอเอฟพี
ขีปนาวุธไอซีบีเอ็มชนิดใช้เชื้อเพลิงแข็ง จะเป็น “ภัยคุกคามซึ่งยากแก่การป้องกันยิ่งกว่านักหนา” โอแคร์รอลล์กล่าว พร้อมกับปลอบว่า ความเสี่ยงในเรื่องนี้ยังคงห่างไกลออกไป “หลายๆ ปี”
กระนั้น คิม ดงยุป ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเกาหลีเหนือ แห่งสถาบันเพื่อตะวันออกศึกษา (Institute for Eastern Studies) ของเกาหลีใต้เตือนว่า เปียงยางอาจจะเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีชนิดนี้แล้ว
เขากล่าวกับยอนฮัปว่า เมื่อพิจารณาจากการที่เกาหลีเหนืออวดขีปนาวุธเหล่านี้ในลักษณะที่มันถูกบรรจุอยู่ในท่อยิงจรวด ตลอดจนดูจากรถบรรทุกที่ใช้ลำเลียงขนส่งขีปนาวุธเหล่านี้ บ่งบอกให้เห็นว่า โสมแดงกำลังพัฒนาเทคโนโลยีไอซีบีเอ็มแบบ “ยิงเย็น” (cold-launch) ซึ่งขีปนาวุธจะดีดตัวออกมาจากท่อยิงก่อนที่จะจุดระเบิดเครื่องยนต์ของจรวด ความสามารถเช่นนี้จะเปิดทางให้เกาหลีเหนือสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้รถบรรทุกที่สามารถยิงไอซีบีเอ็มซึ่งโสมแดงมีอยู่ในจำนวนจำกัดต้องเกิดความเสียหายในขณะยิง นอกจากนั้นยังทำให้ขีปนาวุธหลังจากยิงไปแล้วจะติดตามได้ยากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นการ “ยิงเย็น” ยังเปิดทางให้ยิงขีปนาวุธออกจากโรงเก็บ (silo) ที่มีการอำพรางเอาไว้ได้ด้วย
คิมกล่าวอีกว่า เกาหลีเหนือยังน่าที่จะกำลังพัฒนาไอซีบีเอ็มแบบใช้เชื้อเพลิงแข็ง และขีปนาวุธบางลูกซึ่งอยู่ภายในท่อยิงจรวดที่นำมาอวดในวันเสาร์ (15) อาจจะเป็นต้นแบบของจรวดแบบนี้ก็ได้
เกาหลีเหนือพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว
ในการบรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุดของตนเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งมีศักยภาพที่จะโจมตีเป้าหมายต่างๆ ในสหรัฐฯ ได้นั้น เปียงยางไม่เพียงจำเป็นต้องปรับปรุงยกระดับพิสัยทำการของขีปนาวุธของตน แต่ยังต้องสามารถย่อส่วนระเบิดนิวเคลียร์จนนำมาติดตั้งเอาไว้บนส่วนปลายของหัวรบที่ใช้บรรจุในขีปนาวุธได้ด้วย
พวกผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องรายละเอียดเกี่ยวกับสมรรถนะทางด้านขีปนาวุธของเปียงยาง ถึงแม้ทั้งหมดต่างเห็นพ้องกันว่าโสมแดงสามารถคืบหน้าไปได้อย่างรวดเร็วในระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้
เกาหลีเหนือได้นำเอาสิ่งที่คิดกันว่าคือขีปนาวุธไอซีบีเอ็มแบบ เคเอ็น-08 ออกมาสวนสนามรวม 3 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2012 และในปี 2015 โสมแดงยังได้เผยโฉมขีปนาวุธแบบที่ดัดแปลงปรับปรุงขึ้นมาใหม่ ได้แก่ เคเอ็น-14
ทั้ง เคเอ็น-08 และ เคเอ็น-14 ยังไม่เคยมีการยิงให้โลกภายนอกเห็นจะจะเลย ถึงแม้ตัวคิม จองอึน เคยกล่าวในคำปราศรัยเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 2017 ของเขาว่า โสมเหนือกำลังอยู่ใน “ขั้นตอนท้ายๆ” ของการพัฒนาไอซีบีเอ็ม
ในการสวนสนามวันเสาร์ (15) ขีปนาวุธแบบท้ายสุดซึ่งติดตั้งอยู่บนยานบรรทุก 16 ล้อขนาดยักษ์ พวกนักวิเคราะห์บอกว่าอาจจะเป็น เคเอ็น-14 ซึ่งบรรจุพร้กพร้อมอยู่ในท่อสำหรับยิง
ขีปนาวุธอีกแบบหนึ่งที่เกาหลีเหนือนำออกมาอวดในครั้งนี้และได้รับความสนใจจากโลกภายนอกมากเป็นพิเศษ ได้แก่ขีปนาวุธทาสีขาวติดตั้งอยู่บนรถบรรทุกเทรลเลอร์สีน้ำเงิน ซึ่งถูกระบุว่าคือ “พุกกุกซอง” (Pukkuksong) ขีปนาวุธนำวิถีแบบยิงจากเรือดำน้ำ (submarine-launched ballistic missile หรือ SLBM) ซึ่งมีพิสัยทำการไกลกว่า 1,000 กิโลเมตร
จรวดนำวิถีแบบที่สามารถยิงจากเรือดำน้ำได้นี้ ทำให้เกาหลีเหนือมีความสามารถที่จะทำการโจมตีด้วยเรือซึ่งอาจแล่นไปอยู่ตรงไหนสักที่หนึ่งในมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้ยากที่จะตรวจจับล่วงหน้า
นอกจากนั้น ขีปนาวุธแบบนี้ยังอาจลดประสิทธิภาพของระบบป้องกัน Terminal High Altitude Area Defense หรือ TTHAAD (ทาด) ซึ่งเป็นระบบยิงสกัดขีปนาวุธโจมตีของข้าศึกในบริเวณพิกัดตำแหน่งสูง ที่วอชิงตันกับโซลกำลังนำมาติดตั้งประจำการในเกาหลีใต้ และสร้างความเดือดดาลให้ปักกิ่ง ตลอดจนกระทั่งมอสโก เนื่องจาก “ทาด” มีระบบเรดาร์ที่สอดแนมเข้าไปไกลในดินแดนจีนและกระทั่งดินแดนตะวันออกไกลของรัสเซีย
ขีปนาวุธแบบใหม่ๆ ที่เปียงบางนำออกมาโชว์คราวนี้ ยังมีขีปนาวุธนำวิถีพิสัยกลาง (intermediate-range ballistic missile หรือ IRBM) แบบใหม่ที่เกาหลีเหนือเรียกชื่อว่า พุกกุกซอง 2 หรือรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า เคเอ็น-15 ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นอัปเกรดขึ้นมาของขีปนาวุธเอสแอลบีเอ็ม
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือได้ทดสอบยิงพุกกุกซอง-2 ซึ่งปรากฏว่าสามารถเคลื่อนที่ไปเป็นระยะทางกว่า 500 กิโลเมตรก่อนตกลงในทะเลญี่ปุ่น จากนั้นเปียงยางก็แถลงว่าการทดลองยิง “ประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์”
จรวดอื่นๆ ที่นำมาแสดง ยังได้แก่ ขีปนาวุธนำวิถี สกั๊ด-อีอาร์ (Scud-ER ballistic missiles), ขีปนาวุธยิงจากภาคพื้นสู่อากาศ เคเอ็น-06 (KN-06 surface-to-air missiles), ขีปนาวุธต่อสู้เรือที่สามารถยิงได้ครั้งละหลายๆ ลูก (multiple-launch anti-ship missiles), และจรวดลูกปืนใหญ่ขนาด 300 มิลลิเมตร (300-mm artillery rockets)
“ของจริง” หรือ “ของปลอม”
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายกล่าวเตือนด้วยว่าจำเป็นต้องตรวจสอบข่าวสารข้อมูลต่างๆ อย่างรอบคอบ
โอแคร์รอลล์ชี้ว่า ส่วนปลายของขีปนาวุธลูกหนึ่งในกลุ่มสุดท้ายที่นำออกมาสวนสนามคราวนี้ “อยู่ในอาการสั่นคลอนแคลนอย่างเห็นชัด” ทำให้เกิดคำถามว่ามันเป็นของจริงหรือเป็นของปลอม
เนื่องจากขีปนาวุธรุ่นใหม่ๆ ที่โสมแดงนำมาอวดคราวนี้ เป็นต้นว่า ขีปนาวุธสีเขียวที่อาจเป็นไอซีบีเอ็มรุ่นใหม่ หรือกระทั่ง เอ็นเค-14 ล้วนแต่ถูกบรรจุเอาไว้ในท่อสำหรับยิงโดยที่ไม่ได้เห็นตัวขีปนาวุธแท้ๆ ลี อิลวู นักวิเคราะห์อาวุโสของ โคเรีย ดีเฟนซ์ เน็ตเวิร์ก (Korea Defence Network) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาคเอกชนในเกาหลีใต้ จึงบอกกับเอเอฟพีว่า “ผมสงสัยข้องใจว่าทั้งหมดเหล่านี้อาจจะเป็นเพียงของปลอมที่ทำขึ้นมาด้วยจุดมุ่งหมายให้โลกภายนอกเกิดความประทับใจ”