บีบีซี/ MGR Online - สหรัฐฯ เพิ่งหย่อนระเบิดที่ไม่ใช่ระเบิดนิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในโลกลงสู่สมรภูมิรบเป็นครั้งแรก ถล่มฐานที่มั่น อุโมงค์ของกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในจังหวัดนันการ์ฮาร์ ทางภาคตะวันออกของอัฟกานิสถานเมื่อวันพฤหัสบดี (13 เม.ย.) คงมีคนไม่มากนักที่รู้ถึงแสนยานุภาพของระเบิดชนิดนี้ และต่อไปนี้คือรายงานของสำนักข่าวบีบีซี ที่จะอธิบายว่ามันเป็นอาวุธทรงพลังแค่ไหน
ระเบิดจีบียู-43/บี (GBU-43/B) หรือในชื่อเล่น เอ็มโอเอบี (Massive Ordnance Air Blast) ถูกเรียกขานกันว่าเป็น เจ้าแม่แห่งระเบิด (Mother of all bombs) ถูกทิ้งจากเครื่องบินแบบ เอ็มซี-130 ของหน่วยปฏิบัติการพิเศษกองทัพอากาศสหรัฐฯเมื่อวันพฤหัสบดี (13 เม.ย.) โดยมีเป้าหมายเพื่อทำลายอุโมงค์ใต้ดินของกลุ่มไอเอสในเขตอะชิน
บีบีซีระบุว่า ด้วยมันอยู่ในฐานะที่ไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์ ดังนั้นการใช้เอ็มโอเอบีจึงไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ
การโจมตีครั้งนี้มีขึ้น หลังเกิดเหตุทหารในหน่วยรบพิเศษของกองทัพสหรัฐฯ ถูกไอเอสสังหารในจังหวัดนานกาฮาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ฌอน สไปเซอร์ โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ แถลงว่า การโจมตีด้วยระเบิดขนาดยักษ์ครั้งนี้มุ่งเป้าทำลายเครือข่ายอุโมงค์ใต้ดินและถ้ำที่เป็นแหล่งหลบซ่อนและเคลื่อนไหวของไอเอส ซึ่งช่องทางใต้ดินเหล่านี้ทำให้ทหารสหรัฐฯ และกองกำลังอัฟกานิสถานถูกซุ่มโจมตีได้ง่าย อย่างไรก็ตาม มีการดำเนินมาตรการป้องกันไม่ให้พลเรือนต้องได้รับบาดเจ็บหรือเกิดความเสียหายจากการโจมตีต่อพื้นที่ใกล้เคียงแล้ว
ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำอัฟกานิสถานรายงานว่า พื้นที่ซึ่งสหรัฐฯ โจมตีด้วยระเบิดขนาดยักษ์นั้นเป็นแถบภูเขาที่มีประชากรอาศัยอยู่น้อย ส่วนเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรายงานว่า ระเบิดได้สังหารสมาชิกของไอเอสไปจำนวนมาก ซึ่งอาจรวมถึงพี่ชายของผู้นำระดับสูงด้วย แต่ทางกองทัพสหรัฐฯ ยังไม่ได้ยืนยันผลการโจมตีอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ ไอเอสประกาศตั้งเขตปกครองของตนในอัฟกานิสถานเมื่อเดือนมกราคม ปี 2015 โดยเป็นครั้งแรกที่มีการขยายเขตปกครองสาขาออกมานอกกลุ่มประเทศอาหรับ และถือเป็นคู่แข่งทางการเมืองสำคัญของกลุ่มตอลิบัน
เอ็มโอเอบี ยาว 9 เมตรและหนัก 9,800 กิโลกรัม(21,600 ปอนด์) นำร่องด้วยระบบจีพีเอส ถูกทิ้งจากประตูของเครื่องบินลำเลียง เอ็มซี-130 และจุดชนวนระเบิดไม่นานก่อนที่มันตกกระทบพื้น
ทั้งนี้ หลังเอ็มโอเอบีถูกหย่อนลงจากเครื่องบินพร้อมกับแท่น จากนั้นร่มชูชีพจะทำหน้าที่กระตุกแท่นออกไป เปิดทางให้ระเบิดร่อนลงสู่เบื้องล่างอย่างมั่นคงและตรงเป้าหมายโดยครีบ 4 แฉก
ในทางทฤษฎีนั้นมันจะก่อให้เกิดคลื่นระเบิดขนาดใหญ่ ซึ่งว่ากันว่าครอบคลุมรัศมีราว 1 ไมล์(1.6 กิโลเมตร) ในทุกทิศทุกทาง อันเนื่องจากระเบิดทีเอ็นที 18,000 ปอนด์ ขณะที่ปลอกอะลูมีเนียมบางๆของระเบิดถูกออกแบบมาเพื่อให้ระเบิดมีขอบเขตทำลายล้างกว้างที่สุด
ระเบิดชนิดนี้ถูกออกแบบมาเพื่อทำลายฐานทัพและอุโมงค์ใต้ดินของศัตรู มีราคาตกลูกละ 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเบื้องต้นมันถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในสงครามอิรักและดำเนินการทดสอบครั้งแรกเมื่อปี 2003 ทว่ายังไม่เคยถูกใช้ในปฏิบัติการจริง จนกระทั่งล่าสุด
อย่างไรก็ตาม เอ็มโอเอบีไม่ใช่ระเบิดที่ไม่ใช่ระเบิดนิวเคลียร์หนักที่สุดของกองทัพสหรัฐฯ โดยตำแหน่งดังกล่าวเป็นของเอ็มโอพี (massive ordnance penetrator) ซึ่งมีน้ำหนัก 30,000 ปอนด์
ในส่วนของรัสเซียก็ได้พัฒนาระเบิดขนาดใหญ่ของตนเองเช่นกัน คือ Aviation Thermobaric Bomb of Increased Power (ATBIP) ซึ่งถูกขนานนามว่าเจ้าพ่อแห่งระเบิด (Father Of All Bombs) โดยมันเป็นรูปแบบระเบิดเชื้อเพลิงอากาศ
ทั้งนี้ ระเบิดเชื้อเพลิงอากาศเป็นระเบิดที่ใช้ออกซิเจนจากอากาศโดยรอบเพื่อสร้างความรุนแรงของการระเบิดที่อุณหภูมิสูง ส่งผลให้เกิดแรงอัดอากาศและมวลคลื่นที่มีความรุนแรงมหาศาล