xs
xsm
sm
md
lg

รมต.กลุ่มจี7เร่งเพิ่มกดดันรัสเซียเรื่องซีเรีย แต่ไม่เพิ่มมาตรการแซงก์ชั่นหมีขาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<i>บรรยากาศการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี7) ที่เมืองลุกกา ประเทศอิตาลี ในวันอังคาร (11 เม.ย.) </i>
เอพี/เอเจนซีส์ - บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี7) ออกคำแถลงในวันอังคาร (11 เม.ย.) เร่งเร้าให้รัสเซียกดดันรัฐบาลซีเรียเพื่อยุติสงครามกลางเมืองในประเทศนั้นที่ดำเนินมา 6 ปีแล้ว ทว่าปฏิเสธข้อเรียกร้องของอังกฤษที่จะให้ใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรชุดใหม่ต่อมอสโก จากการที่ให้ความสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด

เหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศจากกลุ่ม จี7 บอกว่า มอสโกสามารถแสดงบทบาทอันสร้างสรรค์เพื่อยุติการสู้รบขัดแย้งที่เต็มไปด้วยความเหี้ยมโหดซึ่งสั่นคลอนเสถียรภาพของตะวันออกกลาง, ผลักดันให้ผู้คนหลายล้านคนในซีเรียต้องอพยพหลบหนี, และยิ่งเพิ่มความร้าวฉานในความสัมพันธ์ระหว่างโลกตะวันตกกับรัสเซีย

“รัสเซียสามารถที่จะเป็นส่วนหนึ่งของอนาคตเช่นนั้นได้ และแสดงบทบาทอันสำคัญได้” รัฐมนตรีต่างประเทศ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ของสหรัฐฯ บอกและกล่าวต่อไปว่า “หรือไม่เช่นนั้นรัสเซียก็สามารถที่จะธำรงรักษาความเป็นพันธมิตรของตน” ที่มีอยู่กับซีเรีย, อิหร่าน, และกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ “ซึ่งเราเชื่อว่าจะไม่ได้เป็นผลประโยชน์ในระยะยาวต่อไปของรัสเซีย”

ทิลเลอร์สันบินตรงจากที่ประชุมคราวนี้ซึ่งจัดขึ้นในเมืองลุกกา ประเทศอิตาลี ไปยังกรุงมอสโก พร้อมกับความปรารถนาอย่างแรงกล้าของกลุ่มจี7 ที่ต้องการเห็นการเริ่มต้นกันใหม่ในซีเรีย ทว่าแทบไม่มีข้อเสนอรูปธรรมว่าจะทำให้สิ่งนี้บังเกิดขึ้นได้อย่างไร

กลุ่ม จี7 ประณามกองทัพของอัสซาดว่าเป็นผู้เปิดการโจมตีด้วยอาวุธเคมีเมื่อสัปดาห์ที่แล้วซึ่งสังหารผู้คนไปมากกว่า 80คน บรรดารัฐมนตรีที่พบปะหารือกันที่เมืองลุกกา ซึ่งตั้งอยู่ในแคว้นทัสกานี ยังแสดงความสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อการที่สหรัฐฯยิงจรวดร่อนเข้าโจมตีฐานทัพอากาศแห่งหนึ่งในซีเรียซึ่งเชื่อว่ากันเป็นจุดขึ้นลงของเครื่องบินรบซีเรียที่ทำการโจมตีด้วยอาวุธเคมี ทว่ารัฐมนตรีจี7เหล่านี้มีความคิดเห็นแตกแยกกันเกี่ยวกับวิธีการในการจัดการรับมือกับซีเรียและมอสโก

รัฐมนตรีต่างประเทศอิตาลี อังเกลิโน อัลฟาโน ผู้เป็นเจ้าภาพการประชุมจี7ครั้งนี้แถลงว่า “ไม่มีฉันทามติใดๆ เกี่ยวกับการใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรใหม่ๆ ต่อไปอีก”

“เราต้องเปิดการสนทนากับรัสเซีย” เขาย้ำ “เราต้องไม่ไล่ต้อนรัสเซียเข้าไปที่มุม”

แทนที่จะออกมาตรการคว่ำบาตรใหม่ๆ เพิ่มเติม แถลงการณ์สุดท้ายของการประชุมคราวนี้เรียกร้องให้องค์การเพื่อการห้ามใช้อาวุธเคมี จัดการสอบสวนเพื่อวินิจฉัยว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบสำหรับ “อาชญากรรมสงคราม” คราวนี้ ก่อนหน้านี้สหรัฐฯกับอังกฤษต่างบอกว่าแทบไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลยว่ากองทหารของอัสซาดนั่นแหละคือตัวการที่ทำการโจมตี

จุดยืนเช่นนี้ของจี7 ถือเป็นการพลาดท่าของรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ บอริส จอห์นสัน ผู้ซึ่งกล่าวในวันจันทร์ (10) ว่าจี7กำลังพิจารณามาตรการลงโทษคว่ำบาตรระลอกใหม่ ซึ่งจะมุ่งเล่นงานบุคลากรทางทหารของรัสเซียด้วย เพื่อกดดันมอสโกให้ยุติการให้ความสนับสนุนทางทหารแก่คณะรัฐบาลอัสซาดที่เต็มไปด้วย “พิษภัย” ขณะที่พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯในกรุงวอชิงตันก็แสดงความเห็นชอบกับข้อเสนอเรื่องนี้

ทว่ารัฐมนตรีของอีกหลายชาติโต้แย้งโดยยังคงต้องการให้ใช้ท่าทีรอมชอมมากกว่า เป็นต้นว่า ซิกมาร์ กาเบรียล รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนีบอกว่า ทั้งรัสเซีย และอิหรานซึ่งก็เป็นพันธมิตรใกล้ชิดของอัสซาด จะต้องเข้าร่วมในกระบวนการสันติภาพใดๆ ก็ตามที จึงจะสามารถยุติสงครามกลางเมืองซีเรียได้

“ไม่ใช่ทุกๆ คนที่ชอบให้เป็นอย่างนี้ ทว่าถ้าปราศจากมอสโกและปราศจากเตหะรานแล้ว ก็จะไม่มีหนทางแก้ไขใดๆ สำหรับซีเรีย” เขากล่าว

จอห์นสันยังคงมองในแง่บวกจากผลของการประชุมคราวนี้ โดยกล่าวว่าการลงโทษคว่ำบาตรนายทหารรัสเซียยังคงสามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าหากผลสอบสวนของหน่วยงานอิสระในเรื่องการโจมตีด้วยอาวุธเคมีสามารถระบุตัวการผู้ก่อเหตุได้
<i>บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี7)  และ ผู้แทนระดับสูงด้านกิจการต่างประเทศของสหภาพยุโรป ถ่ายภาพหมู่ในระหว่างการประชุมที่เมืองลุกกา ประเทศอิตาลี ในวันอังคาร (11 เม.ย.) </i>
ชาติสมาชิกกลุ่มจี7 ซึ่งนอกเหนือจากสหรัฐฯแล้ว ยังมี เยอรมนี, ฝรั่งเศส, อังกฤษ, แคนาดา, ญี่ปุ่น, และอิตาลี ผู้เป็นประธานวาระปัจจุบัน ยังกำลังพยายามที่จะทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่านโยบายการต่างประเทศของคณะบริหารชุดปัจจุบันของสหรัฐฯคืออย่างไรกันแน่ ท่ามกลางสัญญาณที่สับสนซึ่งส่งออกมาจากวอชิงตัน

ทิลเลอร์สันเดินทางมาร่วมประชุมคราวนี้ หลังจากมีเจ้าหน้าที่อเมริกันผู้หนึ่งกล่าวว่าสหรัฐฯบรรลุข้อสรุปเบื้องต้นแล้วว่ารัสเซียรู้ล่วงหน้าในเรื่องที่จะมีการโจมตีด้วยอาวุธเคมี อันเป็นข้อกล่าวหาซึ่งยิ่งเพิ่มความเข้มข้นให้แก่ความตึงเครียดระหว่างวอชิงตันกับมอสโก

จวบจนกระทั่งทรัมป์สั่งการเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาให้กองทัพสหรัฐฯใช้จรวดร่อนโจมตีซีเรียเพื่อเป็นการตอบโต้การโจมตีด้วยก๊าซทำลายประสาทในวันที่ 4 เมษายน ประธานาธิบดีอเมริกันผู้นี้มุ่งโฟกัสแต่เรื่องการเอาชนะกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ขณะที่ไม่ได้แสดงความสนใจใยดีในเรื่องการท้าทายเล่นงานอัสซาด หรือผู้สนับสนุนที่แข็งขันของอัสซาดอย่างประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย

แต่หลังเกิดการโจมตีด้วยอาวุธเคมีคราวนี้แล้ว ทรัมป์บอกว่าท่าทีของเขาต่ออัสซาด “ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก” ขณะที่ทิลเลอร์สันกล่าวว่า “กำลังดำเนินขั้นตอนต่างๆ” เพื่อรวบรวมจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรที่จะผลักไสอัสซาดออกจากอำนาจ ทว่าทิลเลอร์สันก็พูดด้วยว่า เรื่องที่สหรัฐฯถือว่าทรงความสำคัญเป็นลำดับแรกสำหรับภูมิภาคนี้ ยังคงเป็นเรื่องการสร้างความปราชัยให้แก่พวกหัวรุนแรงไอเอส

ความไม่แน่นอนในเรื่องเกี่ยวกับวัตถุประสงค์เช่นนี้ ยังคงปรากฏให้เห็นในขณะที่ทิลเลอร์สันเข้าร่วมการประชุมหารือที่จัดขึ้นข้างเคียงการประชุมจี7 ในเมืองลุกกาเมื่อวันอังคาร (11) ซึ่งก็คือการประชุมของพวกประเทศ “ที่มีความคิดเห็นเหมือนๆ กัน” ในเรื่องซีเรีย ทั้งนี้นอกจากสหรัฐฯและชาติจี7 อื่นๆ แล้ว ยังมีประเทศตะวันออกกลางอย่างตุรกี, จอร์แดน, ซาอุดีอาระเบีย, และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เข้าร่วมด้วย

สหรัฐฯนั้นตั้งความหวังว่า ชาติในภูมิภาคเหล่านี้จะสามารถช่วยค้ำประกันความมั่นคงและเสถียรภาพในซีเรียได้ ภายหลังกลุ่มไอเอสประสบความปราชัย

พวกชาติจี7เองนั้น มีความเห็นพ้องต้องกันอย่างกว้างๆ ว่าอัสซาดควรลงจากอำนาจได้แล้ว ทว่ายังไม่เป็นอันหนึ่งอันดียวกันในเรื่องที่ว่าจะให้เขาจากไปเมื่อใดและอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกผู้นำทางยุโรปยังคงสำนึกถึงความหายนะที่เกิดขึ้นในลิเบีย ซึ่งการที่นานาชาติหนุนหลังขับไล่จอมเผด็จการ มูอัมมาร์ กัดดาฟี ให้ตกลงจากอำนาจ กลับติดตามมาด้วยการที่ประเทศนี้ถลำจมลงสู่ความปั่นป่วนวุ่นวายและการสู้รบชิงอำนาจระหว่างฝ่ายต่างๆ ภายในประเทศ

ทิลเลอร์สันเองก็กล่าวในวันอังคาร (11) ว่า “เป็นที่ปรากฏชัดเจนแก่พวกเราทั้งหมดแล้วว่าการกุมบังเหียนของตระกูลอัสซาดนั้นกำลังจะจบสิ้นลงแล้ว”

“ทว่าคำถามที่ว่าจะจบสิ้นลงอย่างไร และตัวกระบวนการเปลี่ยนผ่านเองนั้น สามารถที่จะกลายเป็นเรื่องสำคัญมากในมุมมองของเราต่อความคงทน, ความมีเสถียรภาพภายในซีเรียที่รวมตัวกันเป็นเอกภาพขึ้นมาแล้ว”

“นี่แหละคือเหตุผลที่ทำไมเราจึงไม่ได้กำลังทึกทักกันก่อนล่วงหน้าว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นมาในลักษณะใด” ทิลเลอร์สันกล่าวต่อ

ถึงแม้เรื่องซีเรียจะเป็นประเด็นที่ครอบงำการถกเถียงหารือของจี7 แต่การประชุมคราวนี้ก็เกิดขึ้นในขณะที่สหรัฐฯกำลังส่งหมู่เรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีแล่นมุ่งหน้าไปยังคาบสมุทรเกาหลี เพื่อเป็นการสำแดงแสนยานุภาพภายหลังเกาหลีเหนือทำการทดสอบขีปนาวุธนำวิถีไม่หยุดหย่อน

แถลงการณ์ร่วมของจี7เร่งเร้าเกาหลีเหนือให้ยุติ “การกระทำที่เป็นการสั่นคลอนเสถียรภาพหรือเป็นการยั่วยุ” เพิ่มมากขึ้นอีก และยกเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของตน --ถึงแม้จะเห็นชัดว่าเป็นข้อเรียกร้องซึ่งโสมแดงไม่แยแสสนใจก็ตามที

กำลังโหลดความคิดเห็น