ชาวรัสเซียทั่วประเทศต่างอกสั่นขวัญผวา หลังเกิดเหตุระเบิดบนขบวนรถไฟใต้ดินในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อวันจันทร์ที่ 3 เม.ย. จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตไปถึง 14 ราย บาดเจ็บอีกร่วม 50 คน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแดนหมีขาวกำลังกลายเป็นเป้าหมายของลัทธิก่อการร้ายไม่ต่างจากหลายๆ ประเทศในโลกตะวันตก
เหตุระทึกขวัญครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อเวลา 14.20 น. ตามเวลาท้องถิ่น บนขบวนรถไฟใต้ดินที่แล่นอยู่ระหว่างสถานีสถาบันเทคโนโลยี (Tekhnologicheskiy institut) กับสถานีจตุรัสเซนนายา (Sennaya Square) ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ต่อมามีคำยืนยันว่าหน่วยงานความมั่นคงรัสเซียสามารถเก็บกู้ระเบิดอีกลูกหนึ่ง ซึ่งพนักงานรถไฟใต้ดินไปพบเข้าที่สถานีจัตุรัสวอสสตานิยา (Vosstaniya Square) ซึ่งอยู่ย่านใจกลางเมืองเช่นกัน
ทำเนียบเครมลินระบุว่า เหตุระเบิดครั้งนี้เป็นความพยายามท้าทายประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน รวมถึง “ชาวรัสเซียทั้งมวล”
หลายฝ่ายได้ออกมาแสดงความชื่นชมพนักงานขับรถไฟ อเล็กซานเดอร์ คาเวริน ซึ่งมีสติดีเยี่ยม และตัดสินใจไม่หยุดรถหลังเกิดเหตุระเบิดขึ้น แต่ยังคงนำขบวนรถแล่นต่อไปจนถึงสถานีสถาบันเทคโนโลยี ซึ่งพนักงานสอบสวนชี้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ช่วยลดความสูญเสียลงได้มาก เนื่องจากสามารถเคลื่อนย้ายคนเจ็บได้อย่างรวดเร็ว
เหตุโจมตีครั้งนี้สร้างความตกตะลึงแก่ผู้คนในเมืองใหญ่อันดับ 2 ของรัสเซีย และทำให้หลายฝ่ายออกมาตั้งคำถามเรื่องภัยก่อการร้ายก่อนที่แดนหมีขาวจะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2018
คนร้ายที่ลงมือก่อเหตุสังหารหมู่ครั้งนี้คือ อักบาร์จอน จาลิลอฟ (Akbarjon Djalilov) พลเมืองรัสเซียเชื้อสายอุซเบก วัย 22 ปี ซึ่งเกิดในคีร์กีซสถาน
เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นบ้านพักของ จาลิลอฟ และพบภาพจากกล้องวงจรปิดที่ยืนยันได้ว่า ชายคนนี้ออกจากบ้านไปพร้อมกับ “กระเป๋าและเป้” ก่อนจะเกิดเหตุระเบิดขึ้น
แม้จะยังไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างความรับผิดชอบ แต่เหตุระเบิดรถไฟครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ได้ประกาศเชิญชวนให้สาวกลงมือโจมตีแดนหมีขาว เพื่อแก้แค้นที่มอสโกส่งเครื่องบินเข้าไปโจมตีทางอากาศช่วยรัฐบาลซีเรียปราบปรามนักรบญิฮาด
อเล็กซานเดอร์ บาสตริกิน ประธานคณะกรรมการสอบสวน ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เร่งสืบหาความเชื่อมโยงระหว่าง จาลิลอฟ กับกลุ่มไอเอส
เวโรนิกา สควอร์ตโซวา รัฐมนตรีสาธารณสุขรัสเซีย ยืนยันเมื่อวันอังคาร (4) ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิดได้เพิ่มจาก 11 เป็น 14 คน เนื่องจากผู้บาดเจ็บสาหัส 3 คนได้เสียชีวิต โดยยังเหลือผู้บาดเจ็บอีก 49 คนที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล
เหยื่อเหล่านี้มีอายุระหว่าง 17-71 ปี มีทั้งพลเมืองของเบลารุส คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน อาเซอร์ไบจาน ตลอดจนชาวรัสเซียจากรัฐต่างๆ รวม 13 รัฐ
เหตุระเบิดครั้งนี้ยังกระตุ้นให้หน่วยงานความมั่นคงรัสเซียลงมือกวาดล้างผู้ต้องสงสัยอิสลามิสต์ โดยล่าสุดได้มีการจับกุม “ผู้แสวงหาแนวร่วมก่อการร้าย” 6 คนจากเอเชียกลางในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่า คนเหล่านี้ทำงานให้กับกลุ่มก่อความไม่สงบหลายกลุ่ม รวมถึงไอเอส แต่ย้ำว่ายังไม่มีหลักฐานที่เชื่อมโยงไปถึงตัว จาลิลอฟ
เจ้าหน้าที่กู้ภัยพบร่างอันแหลกเหลวของ จาลิลอฟ อยู่ในที่เกิดเหตุ แต่ยังไม่ยืนยันว่าตัวเลขผู้เสียชีวิต 14 รายนั้นนับรวมเขาด้วยหรือไม่
บิดามารดาของ จาลิลอฟ ขึ้นเครื่องบินจากเมืองออช (Osh) ทางภาคใต้ของคีร์กีซสถานไปยังนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กทันทีที่ทราบข่าว โดยทั้งคู่ยังอยู่ในอาการตกตะลึงและเศร้าโศกกับสิ่งที่เกิดขึ้น
รัฐบาลคีร์กีซสถานซึ่งมีพลเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมยืนยันว่า จาลิลอฟ และพ่อแม่ของเขาเป็นคนเชื้อสายอุซเบกที่ถือสัญชาติรัสเซีย และมือระเบิดรายนี้ก็อาศัยอยู่ในรัสเซียตั้งแต่อายุ 16 ปี
รัสเซียเคยเผชิญการก่อวินาศกรรมรุนแรงในช่วงทศวรรษ 1990 และ 2000 โดยส่วนใหญ่เป็นฝีมือของพวกกบฏเชชเนียที่ยกระดับจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกลายมาเป็นกลุ่มก่อการร้ายอิสลามิสต์
ระบบขนส่งมวลชนรัสเซีย เช่น รถไฟใต้ดินในกรุงมอสโก ตกเป็นเป้าหมายของมือระเบิดฆ่าตัวตายมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปเป็นจำนวนมาก ทว่าเมืองใหญ่ๆ ก็ว่างเว้นจากโศกนาฏกรรมเช่นนี้ไปนานหลายปี นับตั้งแต่เกิดเหตุระเบิดที่เมืองโวลโกกราดทางตอนใต้ เมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2013 เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกส์ฤดูหนาวที่เมืองโซชิจะเริ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม เครื่องบินโดยสารรัสเซียซึ่งนำนักท่องเที่ยวที่ไปพักผ่อนช่วงวันหยุดที่อียิปต์กลับมายังนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กได้ถูกลอบวางระเบิดกลางอากาศ เมื่อเดือน ต.ค. ปี 2015 ทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือบนเครื่อง 224 คนเสียชีวิตยกลำ โดยไอเอสออกมาประกาศอ้างความรับผิดชอบ
ชาวรัสเซียจำนวนมากได้นำช่อดอกไม้ไปวางไว้อาลัยบริเวณประตูของสถานีรถไฟใต้ดิน โดยหลายคนยอมรับว่ายังรู้สึกช็อกที่เมืองของพวกเขาต้องเผชิญกับภัยก่อการร้าย ไม่ต่างจากมหานครใหญ่ๆ ของโลกอย่าง ปารีส เบอร์ลิน หรือลอนดอน
ประธานาธิบดี ปูติน ได้โทรศัพท์พูดคุยกับผู้นำทั่วโลก รวมถึงประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เพื่อหารือแนวทางที่จะร่วมป้องกันเหตุวินาศกรรมในอนาคต ขณะเดียวกันก็เตือนว่าโศกนาฏกรรมในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเป็นสิ่งเตือนใจว่าทุกประเทศในโลกล้วนมีโอกาสที่จะตกเป็นเป้าหมายได้ทั้งสิ้น