xs
xsm
sm
md
lg

“ทรัมป์” เปิดไฟเขียว ‘กองทัพมะกัน’ ขยายอำนาจรับผิดชอบทำสงครามใน ตอ.กลาง-แอฟริกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ทหารอเมริกันยืนอยู่ข้างๆ ยานหุ้มเกราะของพวกเขา ในค่ายพักที่ใช้ร่วมกับกองทัพอิรัก บริเวณตอนใต้ของเมืองโมซุล  ในภาพซึ่งถ่ายเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2017  ทั้งนี้คณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังมอบอำนาจตัดสินใจทำสงครามแก่เพนตากอนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ </i>
เอพี/MGR ออนไลน์ - กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังเข้าควบคุมการตัดสินใจต่างๆ ในการทำสงครามกับพวกสุดโต่งและพวกกบฏในตะวันออกกลางและแอฟริกามากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเงียบๆ ทั้งด้วยการส่งทหารอีกหลายร้อยคนเพิ่มเข้าไปในสมรภูมิโดยสาธารณชนอเมริกันแทบไม่รู้ไม่เห็น และด้วยการเสาะแสวงหาอำนาจรับผิดชอบเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในเรื่องการรณรงค์สู้รบ

แต่ละสัปดาห์ที่ผ่านไป ดูเหมือนกองทัพอเมริกันจะเข้ามีบทบาทในการตัดสินใจเกี่ยวกับการทำศึกเพิ่มขึ้นไม่หยุดหย่อน ทั้งนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาคือโซมาเลีย ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์ให้อำนาจรับผิดชอบมากขึ้นแก่ฝ่ายทหารของสหรัฐฯ ในการดำเนินการโจมตีทางอากาศเชิงรุกต่อพวกนักรบหัวรุนแรงที่มีความเชื่อมโยงพัวพันกับอัลกออิดะห์ ส่วนในสัปดาห์นี้อาจจะเป็นที่เยเมน ซึ่งพวกผู้นำกองทัพต้องการจัดหาความช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้นแก่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ที่กำลังสู้รบกับพวกกบฏที่หนุนหลังโดยอิหร่าน เช่นเดียวกับอำนาจการตัดสินใจสำคัญๆ เกี่ยวกับการทำสงครามทั้งในอิรัก, ซีเรีย และอัฟกานิสถาน ก็กำลังจะตกมาอยู่ในมือของกองทัพอเมริกันในเร็วๆ นี้ อำนาจดังกล่าวนี้ครอบคลุมถึงการยุติการจำกัดจำนวนทหารอเมริกันที่จะส่งเข้าไปร่วมการศึก ตลอดจนการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ ที่ใช้ชี้แนะพวกผู้บังคับบัญชาทหารสหรัฐฯในภาคสนาม

การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ซึ่งเกิดขึ้นในช่วง 2 เดือนแรกที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง เป็นการตอกย้ำถึงความปรารถนาของเขาที่จะปล่อยให้เพนตากอนเป็นผู้บริหารจัดการการทำศึกในแต่ละวันด้วยตัวเอง ต่างออกไปจากในช่วงคณะบริหารโอบามา ซึ่งพวกผู้นำกองทัพแสดงความรำคาญเกี่ยวกับการที่ประธานาธิบดีใช้วิธีบริหารจัดการแบบตามจี้ลงรายละเอียด เป็นต้นว่า ผู้บังคับบัญชาในสนามต้องขออนุมัติในเรื่องเกี่ยวกับเป้าหมายการเข้าโจมตีและการโยกย้ายตัวบุคคล ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจทางยุทธวิธีตามกิจวัตรปกติ

แต่จากการมอบอำนาจรับผิดชอบให้แก่เพนตากอนเพิ่มขึ้น ตลอดจนการมอบอำนาจการตัดสินใจเกี่ยวกับการสู้รบให้แก่พวกนายทหารระดับล่างๆ ลงมามากยิ่งขึ้น ก็ทำให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯต้องเข้าแบกรับความเสี่ยงทางการทหารและทางการเมืองของตนด้วยตัวเอง โดยที่เรื่องการบาดเจ็บล้มตายของพลเรือนในพื้นที่และของทหารอเมริกัน อาจจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดขึ้นมา

ทั้งนี้ การเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันอย่างล้ำลึกมากขึ้นในการทำศึกปราบกบฏต่อต้านการก่อความไม่สงบ ตั้งแต่การสู้รบแบบเผชิญหน้าไล่ล่าผลักดันกันทีละสายถนนในเมืองโมซุลของอิรักเวลานี้ ไปจนถึงการเข้าโจมตีแบบลับๆ ในเยเมนและที่อื่นๆ กำลังทำให้ทหารอเมริกันมีโอกาสที่จะเสียชีวิตเพิ่มขึ้น โศกนาฏกรรมเช่นนี้หากเกิดขึ้นก็อาจทำให้ความโกรธกริ้วของสาธารณชนอเมริกันพุ่งขึ้นสูงลิ่ว และสร้างความลำบากยุ่งยากทางการเมืองแก่รัฐสภา ในจังหวะเวลาที่คณะบริหารทรัมป์กำลังพยายามยุติปิดเกมกลุ่มไอเอสในอิรักและซีเรีย ตลอดจนเพิ่มขยายความพยายามในการปราบปรามเล่นงานกลุ่มต่างๆ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจในทำนองเดียวกัน

เช่นเดียวกัน การยินยอมเปิดทางให้พวกผู้บังคับบัญชาทหารระดับล่างๆ ลงมา เป็นผู้ตัดสินใจสั่งการทิ้งระเบิดทางอากาศอย่างทันการณ์มากขึ้นในพื้นที่ซึ่งมีประชากรแน่นหนาเฉกเช่นตามถนนในเมืองโมซุล ก็อาจส่งผลทำให้มีพลเรือนเสียชีวิตมากขึ้น ตอนนี้กองทัพสหรัฐฯก็กำลังสอบสวนการทิ้งระเบิดหลายๆ ครั้งในเมืองใหญ่ทางภาคเหนือของอิรักแห่งนี้ในช่วงกลางเดือนมีนาคม ซึ่งพวกพยานผู้เห็นเหตุการณ์กล่าวว่าได้ผลาญชีวิตประชาชนไปอย่างน้อย 100 คน พร้อมกันนั้นกองทัพอเมริกันยังกำลังพิจารณาที่จะใช้ยุทธวิธีใหม่ๆ และข้อระมัดระวังใหม่ๆ ท่ามกลางหลักฐานซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าพวกหัวรุนแรงสุดโต่งกำลังลักพานำเอาพลเรือนเข้าไปอยู่ตามอาคารต่างๆ จากนั้นก็ล่อหลอกให้พันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯเข้าทำการโจมตี
<i>นักรบกบฏซีเรียยืนอยู่ใกล้ๆ ยานยนต์ทหารสหรัฐฯ บริเวณนอกเมืองมานบิจ, ซีเรีย ในภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2017  ทั้งนี้เพนตากอนกำลังเพิ่มทหารอเมริกันเข้าไปในซีเรียคราวละเล็กละน้อย โดยที่ทำเนียบขาวก็รู้เห็น </i>
อลิซ ฮันต์ เฟรนด์ นักวิจัยอาวุโสแห่งศูนย์กลางเพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS) หน่วยงานคลังสมองชื่อดังที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ยังหยิบยกสิ่งที่น่ากังวลใจอีกประการหนึ่ง ได้แก่การที่ยุทธการต่างๆ ทางการทหารกำลัง “หย่าขาดจากนโยบายการต่างประเทศโดยรวม” ซึ่งทำให้พวกผู้นำทั้งฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหารมีจุดอ่อนที่จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่บานปลายควบคุมไม่อยู่

“พวกผู้นำทางการเมืองอาจจะสูญเสียอำนาจควบคุมการรณรงค์ทางการทหาร” เธอกล่าวเตือน

ทว่าพวกผู้นำระดับสูงของฝ่ายทหารบอกว่า พวกเขาจำเป็นที่จะต้องสามารถปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นในการต่อสู้กับศัตรูทั้งหลายของสหรัฐฯ และพวกเขากำลังมีท่าทีสนับสนุนทรัมป์อย่างแข็งขัน ในเรื่องที่ทรัมป์สัญญาจะติดตามไล่ล่าพวกสุดโต่งอิสลามอย่างแข็งกร้าวยิ่งขึ้น รวมทั้งกล่าวสะท้อนทัศนะของพวกผู้นำเพนตากอนที่ว่า คณะบริหารโอบามาเข้าควบคุมการปฏิบัติการของฝ่ายทหารอย่างเข้มงวดเกินไป จนกระทั่งส่งผลในทางจำกัดประสิทธิภาพ

ขณะอธิบายข้อขอร้องของเขาที่ต้องการทางหนีทีไล่เพิ่มมากขึ้นในการต่อสู้กับพวกหัวรุนแรงอัล-ชาบับ ในโซมาเลีย พล.อ.โธมัส วอลด์ เฮาเซอร์ ผู้บัญชาการของกองบัญชาการทหารภาคแอฟริกาของสหรัฐฯ บอกกับรัฐสภาในเดือนมีนาคมว่า เป็นเรื่องจำเป็นที่กระบวนการในการตัดสินใจจะต้องมีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้นและ “ทันเวลา” มากขึ้น

คำขอเกี่ยวกับการปฏิบัติการในโซมาเลียนี้ ได้รับการอนุมัติจากทรัมป์ในวันพุธ (29 มีค.) ที่ผ่านมา และยากที่จะเรียกได้ว่านี่เป็นครั้งแรกของการเพิ่มขยายบทบาทของกองทัพ

อันที่จริงแล้ว กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯได้เพิ่มจำนวนกองทหารสหรัฐฯในซีเรียขึ้นไปอีกเท่าตัวอย่างเงียบๆ นอกจากนั้นยังได้ขยับพวกที่ปรึกษาทางทหารชาวอเมริกันเข้าไปใกล้แนวหน้าในอิรักมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ออกมาเรียกร้องแสดงเหตุผลอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนว่าต้องการได้กำลังทหารเพิ่มขึ้นอีกในอัฟกานิสถาน

ทำเนียบขาวยังวางกำหนดการเอาไว้คร่าวๆ ว่าในสัปดาห์นี้จะมีการถกเถียงหารือเกี่ยวกับการจัดหาจัดส่งข่าวกรอง, การเติมน้ำมันเชื้อเพลิง และความช่วยเหลืออย่างอื่นๆ ไปให้แก่ยูเออี ขณะที่สหพันธรัฐของเจ้าครองแคว้นอาหรับแห่งนี้ทำการสู้รบกับพวกกบฎฮูตี ในเยเมน ทั้งนี้ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่หลายราย ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้พูดเกี่ยวกับการประชุมลับ และขอให้สงวนนามพวกเขา
<i>ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อวันที่ 24 ม.ค.2016  แสดงให้เห็นทหารอเมริกันเข้าร่วมการฝึกอบรมทหารอิรัก ที่ค่ายบาสมายา ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงแบกแดดไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 40 กม. </i>
การเปลี่ยนแปลงบางอย่างบางประการกำลังบังเกิดขึ้นโดยแทบไม่มีการตีฆ้องร้องป่าว ในเวลาเดียวกับที่ชาวอเมริกันยังคงมีความหิวกระหายเพียงจำกัดสำหรับการจัดส่งกองทหารจำนวนมากเข้าไปประจำการในอิรักและซีเรีย ทางกองทัพก็กำลังเพิ่มทหารเข้าไปทีละเล็กละน้อย ในจำนวนเรือนร้อยคน ไม่ใช่เป็นพันๆ คน

ผลที่ออกมาอาจจะกำลังทำให้สาธารณชนบังเกิดความสับสน เนื่องจากทรัมป์ไม่ได้ยกเลิกเพดานจำนวนทหารที่โอบามากำหนดเอาไว้ ดังนั้นตัวเลขที่ว่าต้องมีทหารอเมริกันไม่เกิน 503 คนในซีเรีย และ 5,262 คนในอิรัก จึงยังคงมีผลบังคับอยู่

ทว่าความเป็นจริงในตอนนี้ก็คือ กองทัพกำลังละเลยไม่สนใจตัวเลขเพดานเช่นนี้โดยที่ได้รับการอนุมัติจากทำเนียบขาว และจึงกำลังหันมาอาศัยช่องโหว่ของกฎระเบียบที่มีอยู่แล้ว อันได้แก่การจัดประเภทการประจำการของทหารอเมริกันที่เพิ่มขึ้นมาว่า อยู่ในข่ายเป็นทหารที่เพิ่มขึ้นชั่วคราว ตัวอย่างเช่น นาวิกโยธินและทหารบกหลายร้อยๆ คนได้ถูกส่งไปซีเรียเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อช่วยเหลือกองกำลังอาวุธในซีเรียที่สหรัฐฯ หนุนหลังอยู่ รวมถึงในการสู้รบเพื่อยึดคืนเมืองร็อกเกาะฮ์ ซึ่งพวกไอเอสประกาศเป็นเมืองหลวงของพวกตน ทั้งหมดนี้ถูกระบุว่าเป็นภารกิจชั่วคราว ดังนั้นจึงไม่ได้ถูกนับรวมว่าทำให้เกินเพดานหรือไม่

กระทั่งในวันศุกร์ (31 มี.ค.) ทีผ่านมา เพนตากอนแถลงว่ามีทหารสหรัฐฯ อยู่ในอิรักอย่างเป็นทางการจำนวน 5,262 คน ถึงแม้เจ้าหน้าที่กระทรวงหลายรายยอมรับในเวลาสนทนากันเป็นการส่วนตัวว่า แท้จริงแล้วเวลานี้มีมากกว่านั้นอยู่อย่างน้อยที่สุดสองสามพันคน

กำลังโหลดความคิดเห็น