xs
xsm
sm
md
lg

เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น-สหรัฐฯ จัดซ้อมรบต่อสู้เรือดำน้ำโสมแดง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ จัดการซ้อมรบทางทะเลร่วมในวันนี้ (3 เม.ย.) เพื่อตอบโต้ภัยคุกคามด้านขีปนาวุธจากเรือดำน้ำของเกาหลีเหนือ กระทรวงการต่างประเทศของโซล ระบุ ท่ามกลางความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับโครงการอาวุธของรัฐสันโดษแห่งนี้

เปียงยางกำลังพยายามพัฒนาศักยภาพด้านขีปนาวุธพิสัยไกลให้สามารถโจมตีแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ ได้ด้วยหัวรบนิวเคลียร์ และจนถึงตอนนี้ได้ทำการทดสอบนิวเคลียร์แล้ว 5 ครั้ง 2 ครั้งเมื่อปีที่แล้ว

การซ้อมรบนาน 3 วันนี้ที่มีทหารเข้าร่วมกว่า 800 คนเริ่มขึ้นหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เตือนเมื่อวานนี้ (2) ว่า สหรัฐฯ พร้อมที่จะจัดการกับโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือด้วยตัวเองหากจีนไม่แสดงความตั้งใจที่จะช่วย

การซ้อมรบนี้เริ่มขึ้นนอกชายฝั่งทางใต้ของแดนโสมขาวใกล้ญี่ปุ่น มีเรือพิฆาตและเฮลิคอปเตอร์หลายลำที่ถูกใช้ในการสู้รบต่อต้านเรือดำน้ำ กระทรวงฯ ระบุ

การซ้อมรบนี้มีเป้าหมายเพื่อ “รับประกันการตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพต่อภัยคุกคามจากเรือดำน้ำของโสมแดงรวมถึงขีปนาวุธยิงจากเรือดำน้ำ (SLBM)” และ “แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจอันแรงกล้าของสามประเทศ” อ้างจากกระทรวงฯ

ความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาคนี้ภายหลังการทดสอบยิงขีปนาวุธหลายครั้งโดยเกาหลีเหนือในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาและรายงายที่บ่งชี้ว่า เปียงยางอาจกำลังเตรียมการทดสอบนิวเคลียร์อีกครั้งหนึ่ง

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์เกาหลีเหนือทดสอบยิงขีปนาวุธ 4 ลูกนอกชายฝั่งทางตะวันออก สามลูกตกลงใกล้กับญี่ปุ่น ในสิ่งซึ่งพวกเขาอธิบายว่าเป็นการซ้อมโจมตีฐานทัพสหรัฐฯ ในแดนอาทิตย์อุทัย

เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้วเปียงยางยังประสบความสำเร็จในการทดสอบยิง SLBM เป็นระยะ 500 กิโลเมตรสู่ญี่ปุ่น ไกลกว่าการทดสอบครั้งไหนๆ ก่อนหน้านี้ ผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จองอึน ยกย่องมันว่าเป็น “ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุด”

ระบบ SLBM ที่สามารถรองรับหัวรบนิวเคลียร์จะทำให้เกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามมากขึ้น ทำให้เกาหลีเหนือสามารถติดตั้งอาวุธห่างจากคาบสมุทรเกาหลีและสามารถตอบโต้กลับหากฐานทัพบกของพวกเขาถูกโจมตี

นักวิเคราะห์ระบุว่า ถึงแม้ว่าเปียงยางจะพัฒนาระบบ SLBM ได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่มันยังคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีถึงจะสามารถนำไปติดตั้งใช้งานจริงได้ รัฐสันโดษแห่งนี้ถูกห้ามภายใต้มติของยูเอ็นไม่ให้ใช้เทคโนโลยีขีปนาวุธใดๆ ก็ตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น