xs
xsm
sm
md
lg

‘ทรัมป์’หารือ‘สี จิ้นผิง’ ย้ำสหรัฐฯ-จีนไร้ทางเลือกอื่น ต้องร่วมมือกันทางเศรษฐกิจเท่านั้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เคน โมค

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

US-China economic cooperation is the only way going forward
By Ken Moak
31/03/2017

สภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและทางภูมิรัฐศาสตร์เรียกร้องให้สหรัฐฯกับจีนไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องกระชับเพิ่มความร่วมมือกัน นี่เป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งซึ่งทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ เปลี่ยนท่าทีจากที่เคยต่อต้านจีนในระหว่างการรณรงค์หาเสียงและช่วงไม่นานหลังจากเขาได้รับการเลือกตั้ง โดยหันมาแสดงความเป็นมิตรกับแดนมังกรมากขึ้น ทั้งนี้การพบปะหารือซัมมิตครั้งแรกระหว่างเขากับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนในสัปดาห์นี้ คือสิ่งที่ยืนยันถึงเรื่องนี้

ถึงแม้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวถ้อยคำแสดงท่าทีต่อต้านจีนทั้งในระหว่างการรณรงค์หาเสียงและช่วงไม่นานหลังจากเขาได้รับเลือกตั้ง แต่ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนที่มีลักษณะสร้างสรรค์มากขึ้นและร่วมมือกันมากขึ้น น่าที่จะปรากฏขึ้นมาหลังจากที่เขาพบปะหารือเป็นครั้งแรกในสัปดาห์หน้ากับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ทั้งนี้นอกจากทรัมป์ส่งจดหมายแสดงความรอมชอมถึงสีเมื่อเร็วๆ นี้และติดตามมาด้วยการสนทนากันทางโทรศัพท์อย่างฉันมิตรแล้ว ความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและทางภูมิรัฐศาสตร์ก็เรียกร้องให้ต้องปรับปรุงยกระดับความสัมพันธ์นี้

ประเทศเจ้าของเศรษฐกิจที่มีขนาดบิ๊กเบิ้มเป็นอันดับที่ 2 ของโลกอย่างแดนมังกรนั้น ใหญ่โตมโหฬารเกินกว่าที่จะใช้กำลังเข้าบังคับ อีกทั้งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเข้าปิดล้อม และจีนก็ได้ตอบโต้ต่อสิ่งที่ตนเองมองเห็นว่าเป็นภัยคุกคามจากภายนอก ด้วยการก่อสร้างเกาะเทียมหลายแห่งขึ้นในทะเลจีนใต้ และกำลังนำเอาขีปนาวุธ, เครื่องบินขับไล่ไอพ่นและทรัพย์สินทางทหารอย่างอื่นๆ ไปประจำการบนเกาะเหล่านั้นด้วย ยิ่งกว่านั้น จึนยังได้เพิ่ม (และจะยังคงเพิ่มต่อไปอีก) จำนวนเรือดำน้ำและเรือผิวน้ำเพื่อพิทักษ์ป้องกันสิ่งที่ตนเองเห็นว่าเป็นการก้าวร้าวรุกรานของสหรัฐฯ คาดหมายกันว่าเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 2 ของแดนมังกรคงจะสามารถปล่อยลงน้ำได้ในปีนี้ ขณะที่จีนกำลังอยู่ระหว่างการต่อ เรือพิฆาตตลอดจนเรือดำน้ำนิวเคลียร์จำนวนมากขึ้นและขนาดใหญ่โตยิ่งขึ้น ว่ากันว่าจีนยังกำลังต่อเรือโจมตีขนาด 40,000 ตันลำแรกของตน ซึ่งมีศักยภาพที่จะบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธได้เป็นจำนวน 30 ลำ กระทั่งถ้าหากชาติต่างๆ ในเอเชียพากันเข้าข้างสหรัฐฯกันหมด การที่จะคิดเล่นงานประเทศซึ่งมีประชาชนมากกว่า 1,360 ล้านคนแถมติดอาวุธเพียบทั้งอาวุธตามแบบแผนธรรมดาและอาวุธนิวเคลียร์ให้พังพาบล้มครืน โดยที่ไม่ต้องเสียสละชีวิตชาวเอเชียและชาวอเมริกันเป็นจำนวนเรือนล้านๆ ถึงยังไงมันก็ยังดูเป็นอาการละเมอหลงผิดอยู่นั่นเอง

เศรษฐกิจของสหรัฐฯและของจีนเวลานี้ยังมีความเกี่ยวข้องพัวพันถักร้อยเข้าด้วยกันอย่างใกล้ชิด ถึงแม้มีการโฆษณามุ่งเล่นงานแดนมังกรอย่างไม่หยุดไม่หย่อน แต่การค้าสองทางของ 2 ประเทศก็กระโจนพุ่งพรวดจากระดับไม่ถึง 35,000 ล้านดอลลาร์ในปี 1990 มาเป็นเกือบๆ 600,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว ยิ่งกว่านั้นกว่าสองในสามของสินค้าส่งออกจีนซึ่งส่งมายังสหรัฐฯนั้นก็ผลิตโดยกิจการอเมริกันหรือกิจการร่วมทุนสหรัฐฯ-จีน ไม่เพียงเท่านั้น ประเทศทั้งสองยังมีสายโซ่อุปทาน (supply chain) ซึ่งพึ่งพาอาศัยกันและกันอย่างลึกซึ้งกว้างไกล เมื่อช่วงทศวรรษ 1990 ในทางปฏิบัติแล้วการลงทุนของจีนในสหรัฐฯมีมูลค่าอยู่ในระดับเท่ากับ 0 แต่มาถึงปี 2016 ได้ทะยานขึ้นไปเป็นกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกัน การลงทุนของสหรัฐฯในจีนก็ขยายตัวจากระดับ 0 ในปี 2000 กลายเป็น 228,000 ล้านดอลลาร์เมื่อถึงปี 2016 โดยที่มีพวกบริษัทอเมริกันยักษ์ใหญ่ทำยอดขายติด 500 อันดับแรกในบัญชีรายชื่อซึ่งรวบรวมจัดทำโดยนิตยสารฟอร์จูน (Fortune 500) เป็นตัวนำขบวน

จีนแสดงบทบาทสำคัญยิ่งในสุขภาพทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

ตามการศึกษารวบรวมของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ใน 33 จาก 50 มลรัฐของสหรัฐอเมริกาทีเดียว ปรากฏว่าจีนกำลังเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งและเป็นนักลงทุนรายสำคัญของรัฐเหล่านี้ ทั้งนี้จีนแสดงบทบาทอันสำคัญมากในการกระตุ้นหรือในการประคับประคองอัตราการเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจของแคลิฟอร์เนีย, วอชิงตัน, เทกซัส, มิชิแกน, และรัฐอื่นๆ อีกหลายรัฐ นครใหญ่อย่างชิคาโก, ลอสแองเจลิส, และฟิลาเดลเฟีย เมื่อเร็วๆ นี้ต่างได้ลงนามในสัญญากับสาขาในสหรัฐฯของบริษัทรถไฟจีนแห่งหนึ่ง เพื่อการผลิตรถไฟจำนวนหลายร้อยขบวน โดยคาดหมายกันว่าน่าจะยังมีอะไรอย่างอื่นติดตามมาอีกมาก เมื่อพิจารณาจากสภาพโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังทรุดโทรมย่ำแย่ของอเมริกัน และคำมั่นสัญญาในตอนหาเสียงของทรัมป์ที่จะซ่อมสร้างโครงสร้างเหล่านี้กันอย่างขนานใหญ่

การที่จีนกำลังกลายเป็นตลาดซึ่งมั่งคั่งร่ำรวยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือเหตุผลอธิบายว่าทำไมจึงมีชาวอเมริกันทั้งที่เป็นนักการเมือง, ผู้คนในแวดวงธุรกิจ, นักท่องเที่ยว, และนักศึกษา เดินทางไปจีนมากขึ้นทุกที เศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวของจีนกำลังเสนอลู่ทางโอกาสที่ดีที่สุดให้แก่พวกบริษัทวิสาหกิจของสหรัฐฯ ตัวอย่างเช่น โบอิ้งขายเครื่องบินรวมแล้วเป็นมูลค่ามากกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์ให้แก่จีนนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา และพวกมลรัฐที่มีธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ๆ ต่างได้กำไรจากการขายชิ้นส่วนไก่, ถั่วเหลือง, และสินค้าประเภทอาหารอย่างอื่นๆ ให้แก่ชนชั้นกลางระดับกลางและระดับสูงของแดนมังกรที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นมา จนเวลานี้มีเกือบๆ 700 ล้านคนแล้วและยังคงกำลังขยายตัวต่อไปอีก

แท้ที่จริงแล้ว พวกนักการเมืองซึ่งเคยประณามติเตียนจีน ทว่าเป็นตัวแทนของมลรัฐที่พึ่งพาอาศัยการส่งออกและกระหายอยากได้เม็ดเงินลงทุน ต่างได้ผ่อนเพลาการวิพากษ์วิจารณ์ของพวกเขาในประเด็นเรื่องการค้าและสิทธิมนุษยชนลงมาเป็นแถว ริก เพอร์รี (Rick Perry) อดีตผู้ว่าการรัฐเทกซัสและผู้มุ่งหวังจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯผู้หนึ่ง ในอดีตที่ผ่านมาได้เคยกล่าวหาจีนทั้งเรื่องการปฏิบัติทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรมและการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน ทว่าเขาได้เปลี่ยนน้ำเสียงของเขาเมื่อปีที่แล้วระหว่างทริปเดินทางเยือนจีนเพื่อโปรโมตมลรัฐเทกซัส โดยเขาเรียกจีนว่าเป็น “เพื่อนมิตร” ผู้ยิ่งใหญ่รายหนึ่งของรัฐของเขา พวกผู้แข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกันทั้งหลาย ไล่ตั้งแต่ บิลล์ คลินตัน ไปจนถึงโดนัลด์ ทรัมป์ ต่างเคยรณรงค์หาเสียงด้วยการเสนอหลักนโยบายให้ใช้ท่าทีแข็งกร้าวหนักแน่นกับจีนมาแล้วทั้งนั้น แต่แล้วก็กลับยูเทิร์นหันหัวเลี้ยวกลับในทันทีที่ขึ้นครองทำเนียบขาว

ถ้อยคำโวหารต่อต้านจีนเป็นสิ่งที่ไร้เหตุผล

ว่ากันไปแล้ว การกลับหลังหัน 180 องศาในทางนโยบายของพวกเขาเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นเพราะสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและทางภูมิรัฐศาสตร์เท่านั้นด้วยซ้ำไป หากยังเนื่องจากถ้อยคำโวหารต่อต้านจีนเท่าที่พูดๆ กันมา คือสิ่งที่ไร้เหตุผลอีกด้วย จีนไม่ได้ “ข่มขืน” อเมริกา หรือ “ขโมย” ตำแหน่งงานของอเมริกา อย่างที่ทรัมป์ และ ปีเตอร์ นาวาร์โร (Peter Navarro) ผู้อำนวยการคณะกรรมการการค้าแห่งชาติของเขา กล่าวอ้างป่าวร้องเลย ในความเป็นจริงนั้น ตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯที่เป็นงานที่สามารถทำโดยแรงงานไร้ฝีมือหรือเพียงแค่คนงานกึ่งมีฝีมือ ได้หดหายไปเพราะมีการนำเอาระบบจักรกลอัตโนมัติเข้ามาแทนที่ ขณะเดียวกัน มันก็เป็นการตัดสินใจของ “อเมริกา อิงก์” (America Inc.) หรือประชาคมบรรษัทอเมริกัน ที่จะนำเอาพวกอุตสาหกรรมด้านบริการเข้ามาแทนที่บรรดาโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตสร้างมลพิษทั้งหลาย จนกระทั่งนำไปสู่การปิดโรงงานต่างๆ ในสหรัฐฯ การกล่าวหาจีนว่ากำลังปั่นค่าเงินตราของตนเพื่อให้ได้เปรียบในการส่งออกและบิดเบือนมูลค่าการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดนั้น เป็นคำพูดที่ก่อให้เกิดการเข้าใจผิดและเดินหลงทิศ ตัวการซึ่งทำให้การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯอยู่ในสภาพที่บิดเบี้ยวผิดรูป อันที่จริงไม่ใช่เนื่องจากการขาดดุลการค้ากับจีนเท่านั้น แต่กับประเทศอื่นๆ อีกด้วย นอกจากนั้นยังต้องตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า “สินค้านำเข้า” สหรัฐฯนั้น ส่วนใหญ่เลยเป็นสินค้าซึ่งผลิตโดยพวกกิจการที่สหรัฐฯเป็นเจ้าของที่ตั้งอยู่ในต่างแดน หรือโดยกิจการในต่างแดนที่กิจการสหรัฐฯใช้เป็นแหล่งเอาต์ซอร์ส ปกติแล้ววิธีการปฏิบัติเช่นนี้จะถูกบันทึกจดบัญชีเอาไว้โดยอยู่ในรายการการค้าระหว่างบริษัทภายในเครือ

การโยกย้ายการดำเนินการด้านอุตสาหกรรมการผลิตไปยังต่างแดน ทำให้อเมริการ่ำรวยยิ่งขึ้นและมีปัญหามลพิษลดน้อยลง สินค้านำเข้าที่มีราคาต่ำช่วยทำให้ครอบครัวชาวอเมริกันโดยเฉลี่ยสามารถประหยัดเงินได้มากกว่า 1,000 ดอลลาร์ต่อปี ซึ่งกลายเป็นการเปิดทางให้พวกผู้บริโภคชาวอเมริกันสามารถที่จะซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ได้เพิ่มมากขึ้น ด้วยการปิดโรงงานทั้งหลายที่เป็นตัวสร้างมลพิษ อเมริกาก็กำลังส่งออกมลพิษไปยังประเทศอื่นๆ อย่างเช่นจีน

จีนทั้งไม่มีความสามารถและก็ไม่มีความปรารถนาที่จะท้าทายฐานะความเป็นเจ้าใหญ่ยิ่งกว่าใครในโลกของสหรัฐฯ กองทัพของแดนมังกรถึงแม้มีศักยภาพที่จะสร้างความเสียหายอย่างชนิดวินาศสันตะโรให้แก่สหรัฐฯและเหล่าพันธมิตรของสหรัฐฯ ทว่าก็ยังคงอ่อนแอกว่าและมีความก้าวหน้าทันสมัยด้อยกว่าสหรัฐฯ จีนยังมีปัญหาต่างๆ มากมาย –ไล่ตั้งแต่การทุจริตคอร์รัปชั่นที่อาละวาดหนัก, ความตึงเครียดด้านเชื้อชาติ, ความเสื่อมถอยของสภาพแวดล้อม ฯลฯ— จนเกินกว่าที่จะต้องการสร้างศัตรูใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาอีก ประธานาธิบดีสีกล่าวเอาไว้อย่างถูกต้องแล้ว นั่นคือ ความร่วมมือกันระหว่างสหรัฐฯกับจีนเป็นหนทางเดียวเท่านั้นสำหรับการก้าวเดินกันต่อไป ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯจะก่อให้เกิดผลในระดับวิบัติหายนะไม่เพียงเฉพาะแก่ประเทศทั้งสองเท่านั้น หากยังแก่ส่วนอื่นๆ ที่เหลือของโลกอีกด้วย การพบปะหารือกันระหว่างทรัมป์กับสีระหว่างวันที่ 6 และ 7 เมษายนนี้ ดูเหมือนจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯผู้นี้มีความตระหนักเป็นอันดีว่าความสัมพันธ์นี้จะต้องทำให้เปิดกว้างและผลิดอกออกผลต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น เสียงส่วนข้างมากของสาธารณชนอเมริกันตลอดจนของมลรัฐในสหรัฐฯ ต่างก็ต้องการความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

(ข้อเขียนซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ ทางเอเชียไทมส์ไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)

เคน โมค สอนวิชาทฤษฎีเศรษฐกิจ, นโยบายภาคสาธารณะ, และกระแสโลกาภิวัตน์ในระดับมหาวิทยาลัยมาเป็นเวลา 33 ปี เขายังเป็นผู้เขียนร่วมของหนังสือเรื่อง China's Economic Rise and Its Global Impact (Palgrave McMillan, 2015) สำหรับหนังสือเล่มล่าสุดของเขาซึ่งใช้ชื่อว่า Developed Nations and the Impact of Globalization มีกำหนดจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Palgrave McMillan Springer ในปี 2017
กำลังโหลดความคิดเห็น