รอยเตอร์ - รัฐบาลจีนออกกฎหมายห้ามพลเมืองในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ปกปิดใบหน้าในที่สาธารณะ, ไว้หนวดเครา “ยาวกว่าปกติ” หรือปฏิเสธการเสพสื่อของรัฐ ซึ่งถือเป็นมาตรการสกัดกั้นลัทธิสุดโต่งทางศาสนา (religious extremism) ที่จะเริ่มมีผลบังคับในวันนี้ (1 เม.ย.)
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีผู้คนถูกสังหารไปหลายร้อยศพในซินเจียงซึ่งเป็นถิ่นฐานของชาวมุสลิมอุยกูร์ โดยปักกิ่งกล่าวโทษว่าเป็นฝีมือพวกนักรบอิสลามิสต์และกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ในขณะที่นักสิทธิมนุษยชนแย้งว่า เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะรัฐบาลจีนใช้นโยบายกดขี่วัฒนธรรมชาวอุยกูร์
ทางการจีนปฏิเสธเรื่องการกดขี่ข่มเหงชาวมุสลิมในซินเจียง และยืนยันว่าชาวอุยกูร์ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เติร์กได้รับการปกป้องอย่างเต็มที่ทั้งในด้านกฎหมาย วัฒนธรรม และศาสนา
ในขณะที่จีนรับรองเสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่ก็ยังมีการออกกฎระเบียบหลายอย่างในช่วงไม่กี่ปีมานี้เพื่อยับยั้งการแผ่ขยายของลัทธิสุดโต่ง
กฎหมายใหม่ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาท้องถิ่นซินเจียงเมื่อวันพุธ (29 มี.ค.) และเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของทางการแล้วนั้น จะเป็นการขยายเพิ่มเติมกฎหมายเดิมที่มีอยู่ โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. เป็นต้นไป
ผู้ที่แต่งกายมิดชิดทุกส่วนและปกปิดใบหน้าจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปใช้สถานที่สาธารณะ เช่น สถานีรถไฟ และสนามบิน เป็นต้น และพนักงานประจำสถานที่เหล่านั้นก็มีหน้าที่จะต้องแจ้งให้ตำรวจทราบด้วย
นอกจากนี้ กฎหมายใหม่ยังห้ามการปฏิเสธที่จะรับสื่อวิทยุ โทรทัศน์ หรือบริการสาธารณะอื่นๆ, ห้ามการแต่งงานทางศาสนาโดยไม่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย และห้ามนำคำว่า ‘ฮาลาล’ มาเป็นข้ออ้างก้าวก่ายชีวิตทางโลกของผู้อื่น
กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดให้พ่อแม่ผู้ปกครอง “อบรมสั่งสอนบุตรหลานให้เป็นคนดีมีศีลธรรม สอนให้รู้จักเชื่อในวิทยาศาสตร์ รักษาวัฒนธรรมและความเป็นเอกภาพทางเชื้อชาติ และต้องปฏิเสธลัทธิความเชื่อแบบสุดโต่ง”
กฎหมายใหม่ยังห้ามพ่อแม่ปฏิเสธการส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนปกติ, ฝ่าฝืนนโยบายคุมกำเนิด, ทำลายเอกสารทางราชการ และ “ไว้หนวดเครายาวผิดปกติ หรือตั้งชื่อบุตรหลานให้สื่อถึงความเคร่งศาสนา”
ทางการจีนเคยบังคับใช้กฎเกณฑ์ลักษณะนี้ในบางพื้นที่ของซินเจียงมาแล้ว ตัวอย่างเช่นในเมืองแห่งหนึ่งที่ห้ามคนคลุมฮิญาบ ปิดหน้า และไว้หนวดเครายาวขึ้นรถประจำทาง ทว่ากฎหมายใหม่นี้จะถูกบังคับใช้ทั่วทั้งภูมิภาค
แม้ว่าชาวอุยกูร์ส่วนใหญ่จะนับถือและปฏิบัติตามหลักอิสลามสายกลาง แต่ผู้หญิงก็นิยมปิดหน้ากันมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อสื่อถึงการต่อต้านนโยบายกดขี่ของจีน