xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ อังกฤษเงิบ EU สวนไม่เจรจาสัมพันธ์ในอนาคตกับ UK ควบคู่กระบวนการเบร็กซิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ของสหราชอาณาจักร ลงนามเมื่อวันอังคาร (28 มี.ค.) ในจดหมายอย่างเป็นทางการซึ่งจะส่งถึงประธานคณะมนตรียุโรป โดนัลด์ ทัสค์ ในวันพุธ (29) แจ้งขอใช้มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน เป็นการบอกกล่าวเจตนารมณ์ของสหราชอาณาจักรที่จะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป
รอยเตอร์ - อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในวันพุธ (29 มี.ค.) จะไม่เจรจาความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างสหภาพยุโรปกับสหราชอาณาจักร จนกว่าการเจรจาเงื่อนไขรายละเอียดต่างๆ ของเบร็กซิตจะได้บทสรุป

ในการให้สัมภาษณ์ไม่กี่ชั่วโมงหลังจาก เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศใช้มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน นับถอยหลัง 2 ปีแห่งการถอนสหราชอาณาจักรพ้นจากอียู แมร์เคิลระบุว่าเยอรมนีจะทำงานหนักเพื่อรับประกันว่าจะมีความวุ่นวายเพียงเล็กน้อย ในระหว่างที่ประชาชนค่อยๆ เคยชินกับการใช้ชีวิต การทำงานและการเดินทางอย่างไร้รอยต่อระหว่างอียูกับสหราชอาณาจักร

แมร์เคิล ยังให้สัญญาว่าจะใช้แนวทางที่ยุติธรรมและสร้างสรรค์ในการเจรจาเบร็กซิต แต่ยอมรับว่าการแยกตัวเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน เนื่องจากสหราชอาณาจักรเป็นสมาชิกอียูมานานกว่า 4 ทศวรรษ “สหราชอาณาจักรและอียู ซึ่งรวมถึงเยอรมนี โอบกอดกันอย่างใกล้ชิดในฐานะสมาชิกมานานหลายปี” แมร์เคิลกล่าว “แต่ในการเจรจา เราควรพูดให้ชัดว่าความสัมพันธ์ใกล้ชิดนี้สามารถคลายได้ เราต้องต่อรองเกี่ยวกับสิทธิและภาระผูกพันมากมายที่เกี่ยวข้องกับความเป็นสมาชิกภาพ และจากนั้นเราถึงจะสามารถพูดถึงมิตรภาพในอนาคตระหว่างเรา”

เจ้าหน้าที่ในยุโรปและสหราชอาณาจักรยอมรับว่าเส้นตาย 2 ปีของการเจรจาต่อรองเบร็กซิตถือว่ากระชั้นมาก

ในจดหมาย 6 หน้าเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการถอนตัวจากอียูภายใต้มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน ที่ส่งถึงโดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรป อย่างเป็นทางการในวันพุธ (29) เมย์ ระบุว่ารัฐบาลของเธอเชื่อว่ามีความจำเป็นที่ต้องเจรจาเงื่อนไขความเป็นหุ้นส่วนในอนาคตระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียู ไปพร้อมๆกับการเจรจาถอนตัว

ขณะที่ แมร์เคิล ให้สัญญาจะเจรจาด้วยความจริงใจ แต่ ซิกมาร์ กาเบรียล รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี กลับยอมรับว่าเขารู้สึกแย่ต่อการตัดสินใจถอนตัวจากอียูของสหราชอาณาจักร และคาดหมายว่าการเจรจาคงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทั้งสองฝ่าย

“มีหลายอย่างที่ยากที่จะเข้าใจ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ยุ่งเหยิงเช่นนี้ พวกเขาเชื่อได้อย่างไรว่าการอยู่ตัวคนเดียวจะดีกว่า” กาเบรียลกล่าว ขณะที่โฆษกของเขาเตือนว่าความไม่แน่นอนที่ยืดเยื้อจะเป็นภัยต่อพลเมืองอียู รวมถึงการค้าและการลงทุน “บางครั้งคุณคงฉงนว่า พวกที่อยู่ในลอนดอนตระหนักถึงผลสะท้อนกลับของมันหรือไม่ โดยเฉพาะกับเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร”

ดีเทอร์ เคมป์ฟ ประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมของเยอรมนี เรียกร้องขอมาตรการจำกัดความเสียหายขั้นสูงสุด แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงผลลัพธ์ในทางลบต่อบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทที่มีฐานปฏิบัติการในสหราชอาณาจักร


กำลังโหลดความคิดเห็น