เอเจนซีส์/รอยเตอร์ - หลังจากผู้นำตุรกี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน ประกาศใช้ BREXIT นำทางตุรกีเข้าสู่สหภาพยุโรป ล่าสุด รัฐมนตรีกลาโหมกรีซ ประกาศท้ากลางพิธีสวนสนามวันประกาศเอกราช เมื่อวานนี้ (26 มี.ค.) กองทัพกรีซพร้อมทุกเมื่อในการตอบรับการยั่วยุจากแดนเติร์ก
หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน รายงานวันวันนี้ (26 มี.ค.) ว่า ความตึงเครียดเกิดขึ้นอีกครั้งในความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีและยุโรป หลังจากประธานาธิบดีเติร์ก เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน ออกมาส่งสัญญาณในช่วงสุดสัปดาห์ล่าสุด ว่า ทางอังการาอาจจะใช้ BREXIT เป็นโมเดลนำ “ตุรกีก้าวเข้าสู่ความเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป”
และอีกครั้งเมื่อวานนี้ (26 มี.ค.) กลางพิธีสวนสนามวันประกาศเอกราชกรีซ ครั้งที่ 196 ที่มีประธานาธิบดีกรีซ โปรโคปิส พาฟโลปูลอส (Prokopis Pavlopoulos) รัฐมนตรีกลาโหมกรีซ พานากิโอติซ คัมเมนอซ (Panagiotis Kammenos) เป็นประธานการสวนสนาม จากการรายงานของสปูนิก สื่อรัสเซีย
โดยผู้นำกลาโหมเอเธนส์ ประกาศกลางพิธี ว่า กองทัพกรีซพร้อมเสมอรับการยั่วยุจากตุรกี
ซึ่งสื่ออังกฤษชี้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอังการา และชาติสมาชิกอียูนั้น ตกต่ำก่อนหน้าที่จะเกิดปัญหาประชามติแก้รัฐธรรมนูญฉาวของอังการา ที่ได้มีการส่งรัฐมนตรีของตัวเองเดินสายเข้าแผ่นดินยุโรป เพื่อหาเสียงกับพลเมืองเติร์กให้ออกเสียงในการลงประชามติวันที่ 16 เม.ย. ที่จะถึงนี้ เพื่อให้แอร์โดอันสามารถกระชับอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ
โดยประเทศยุโรปต่างออกมาตำหนิ โดยชี้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเติร์กใหม่จะทำให้การถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร และตุลาการของตุรกี ต้องถูกทำลายไป พร้อมกับอำนาจในมือใหม่ของผู้นำตุรกี ที่จะแสดงความเป็นผู้นำแบบใช้อำนาจนิยมอย่างชัดเจน
และส่งผลทำให้ประธานาธิบดีตุรกีต้องโกรธเกรี้ยวจากการที่ถูกประเทศต่างๆ ในยุโรป “แบนการเดินทางเข้าประเทศของตัวแทนอังการา” หลังจากก่อนหน้านี้ เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ได้ออกคำสั่งการห้ามเข้าของเจ้าหน้าที่อังการามาแล้ว
และล่าสุด ในสวิตเซอร์แลนด์ ได้มีการจัดการเดินขบวนเรียกร้องให้มีการลงคะแนน “โหวตโน” ไม่เห็นด้วยต่อการแก้ประชามติตามอังการา ซึ่งในการจัดการประท้วงร่วมหลายพันคนกลางเมืองหลวงของสวิตเซอร์แลนด์ ในวันเสาร์ (25 มี.ค.) นั้น มีผู้ประท้วงชาวเคิร์ดเข้าร่วม ส่งผลทำให้กระทรวงการต่างประเทศของตุรกีเรียกตัวแทนจากสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อประท้วงในวันเดียวกันนั้น โดยอ้างว่า การจัดการประท้วงที่เกิดขึ้นนั้นมี “กลุ่มผู้สนับสนุนผู้ก่อการร้าย” เป็นแม่งาน โดยมีเป้าหมายโจมตีผู้นำตุรกี รอยเตอร์ชี้
ซึ่งแหล่งข่าวของกระทรวงต่างประเทศตุรกี เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า อุปทูตสวิสเป็นผู้ถูกเรียกเข้าพบ เนื่องมาจากเอกอัครราชทูต วาลเตอร์ ฮาฟฟ์เนอร์ (Walter Haffner) ไม่ได้อยู่ในกรุงอังการาในขณะนั้น
ทั้งนี้ ในช่วงสุดสัปดาห์ เดอะการ์เดียน ชี้ว่า ต่อหน้ารัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ บอริส จอห์นสัน แอร์โดอัน ได้กล่าวกลางเวทีฟอรัม ตุรกี - อังกฤษ ว่า “ เรามีการลงประชามติในวันที่ 16 เมษาฯ และผมคิดว่า หลังจากนั้น ทางเราน่าจะจัดการลงประชามติแบบ BREXIT ในการเจรจากับสหภาพยุโรปบ้าง”
และผู้นำตุรกีกล่าวต่อว่า “และไม่ว่าประชาชนตุรกีจะออกความเห็นมาเช่นใด ทางเราพร้อมรับจะทำตาม ซึ่งนี่จะเป็นการแสดงให้เห็นว่า ความอดทนในการเผชิญหน้าต่อทัศนคติบางประการที่ออกมาจากบางประเทศในยุโรปนั้น ต้องมีข้อจำกัด”
ในขณะเดียวกัน ในประเทศที่มีพรมแดนติดกัน ในพิธีสวนสนามวันประกาศเอกราชสงครามกรีซ - ตุรกี ครั้งที่ 196 ที่ครบรอบในวันอาทิตย์ (26 มี.ค.) รัฐมนตรีกลาโหมกรีซ คัมเมนอซ ได้ออกมาแถลงต่อหน้ากองทัพกรีซ ท้าทายโดยตรงไปถึงแอร์โดอันว่า “กองทัพกรีซนั้นพร้อมต่อการยั่วยุใดๆ” และกล่าวต่อว่า “การที่เราเตรียมความพร้อมเช่นนี้ เพราะนี่เป็นวิถีในการปกป้องสันติภาพของเรา”
ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า ถึงแม้ทั้ง 2 ประเทศ จะเป็นสมาชิกนาโต แต่ต่างมีเรื่องระหองระแหงกันมาตลอด ซึ่งในสงครามประกาศอิสรภาพของกรีซ เกิดมาจากสงครามในการประกาศเอกราชจากผู้ปกครองจักรวรรดิออตโตมันในอดีต
และล่าสุด ศาลสูงกรีซปฏิเสธคำขอการเนรเทศของทหารเติร์กฝ่ายรัฐประหาร 8 นาย ที่หนีภัยเข้าสู่กรีซสำเร็จ รวมไปถึงความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวันระหว่างเครื่องบินและกองเรือของกองทัพกรีซ และเรือสำรวจทางทะเลของตุรกี เดอะการ์เดียนรายงาน