เอเอฟพี - อัยการเกาหลีใต้ยื่นขอศาลออกหมายจับอดีตประธานาธิบดีพัค กึน-ฮเย ในวันนี้ (27 มี.ค.) หลังจากที่ได้เรียกตัวอดีตผู้นำหญิงมาสอบปากคำในคดีทุจริตและใช้อำนาจโดยมิชอบซึ่งทำให้เธอถูกถอดพ้นตำแหน่ง
ศาลรัฐธรรมนูญได้พิพากษารับรองมติถอดถอน พัค วัย 65 ปี ออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศเมื่อต้นเดือนนี้ ซึ่งทำให้เธอสูญเสียความคุ้มกันจากการถูกดำเนินคดี ในขณะที่ชาวเกาหลีใต้หลายล้านคนที่เคยออกมาชุมนุมขับไล่ พัค ก็เรียกร้องให้มีการนำตัวเธอเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
อดีตผู้นำหญิงรายนี้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาหลายข้อ ทั้งการติดสินบน, เปิดเผยข้อมูลลับของรัฐบาล และใช้อำนาจโดยมิชอบ
“ผู้ต้องหาได้ใช้อำนาจอันกว้างขวางของเธอไปในทางมิชอบ และใช้สถานะประธานาธิบดีรับเงินสินบนจากบริษัทต่างๆ, แทรกแซงเสรีภาพในการบริหารองค์กร และเปิดเผยข้อมูลสำคัญที่เป็นความลับเกี่ยวกับกิจการของรัฐ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความผิดอุกฉกรรจ์” คำแถลงของอัยการระบุ
“แม้จะมีการรวบรวมหลักฐานได้แล้วจำนวนหนึ่ง แต่ผู้ต้องหายังคงปฏิเสธที่จะยอมรับผิดในเกือบทุกข้อหา และมีความเสี่ยงที่จะเกิดการทำลายหลักฐานในอนาคต”
ชอย ซุน-ซิล เพื่อนหญิงคนสนิทของพัค ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคนสำคัญในคดีนี้ กำลังถูกไต่สวนฐานใช้อิทธิพลข่มขู่ให้กลุ่มบริษัทชั้นนำของเกาหลีใต้บริจาคเงินเกือบ 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐเข้ามูลนิธิไม่แสวงผลกำไร 2 แห่ง ซึ่งเธอได้นำเงินเหล่านั้นออกมาใช้ประโยชน์ส่วนตัว
อัยการให้เหตุผลว่า หาก พัค ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับคดีนี้ไม่ถูกออกหมายจับ “ก็จะขัดกับหลักความยุติธรรม”
ทั้งนี้ หากศาลแขวงกรุงโซลอนุมัติหมายจับตามที่อัยการร้องขอ พัค จะกลายเป็นอดีตผู้นำประเทศคนที่ 3 ของเกาหลีใต้ที่ถูกจับกุมและดำเนินคดีข้อหาคอร์รัปชัน ถัดจากอดีตประธานาธิบดี ชุน ดู-ฮวาน และ โรห์ แต-วู ผู้นำเผด็จการทหารในทศวรรษ 1980-90 ที่ต้องรับโทษจำคุกข้อหาทุจริตรับสินบนหลังจากที่เกษียณอายุ
เรื่องอื้อฉาวของ พัค และ ชอย บวกกับปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในเกาหลีใต้ได้กลายเป็นชนวนนำมาสู่การประท้วงขับไล่รัฐบาลครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี จนกระทั่งเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว รัฐสภาจึงได้มีมติให้ถอดถอนผู้นำหญิงรายนี้ออกจากตำแหน่ง
พัค ถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดในการเอื้อประโยชน์ให้แก่นักธุรกิจรายใหญ่ๆ ที่บริจาคเงินเข้ากระเป๋า ชอย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ลี แจ-ยอง ทายาทและประธานโดยพฤตินัยของ ซัมซุง กรุ๊ป ซึ่งถูกออกหมายจับและตั้งข้อหาจ่ายสินบนเมื่อเดือนที่แล้ว
พัค ยังถูกกล่าวหาว่าปล่อยให้ ชอย ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมเข้ามาก้าวก่ายกิจการของรัฐหลายอย่าง รวมถึงการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูง ทั้งที่เธอคนนี้ไม่มีตำแหน่งในรัฐบาล และไม่มีใบอนุญาตเข้าถึงข้อมูลชั้นความลับ
ว่ากันว่า พัค สั่งให้ผู้ช่วยคนสนิทเปิดเผยแฟ้มข้อมูลลับของรัฐบาลให้ ชอย รับรู้ และยังใช้อำนาจกลั่นแกล้งศิลปินหลายพันคนที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ตัวเธอ รวมถึงอดีตผู้นำเผด็จการ พัค จุง-ฮี บิดาของเธอซึ่งปกครองเกาหลีใต้ในช่วงปี 1961-1979
พัค เติบโตขึ้นมาในทำเนียบสีน้ำเงิน ซึ่งผู้สนับสนุนรัฐบาลบางกลุ่มปฏิบัติต่อครอบครัวของเธอราวกับเป็นเชื้อพระวงศ์ และให้ฉายาแก่เธอว่า “เจ้าหญิง” จนเป็นคำเรียกที่ติดตัวเธอมาตลอดหลายสิบปี
เหตุการณ์ลอบสังหารบิดามารดาของเธอในทศวรรษ 1970 ยิ่งทำให้ พัค ได้รับความเห็นอกเห็นใจจากสังคมมากขึ้นไปอีก
ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ พัค ชนะศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2012 ก็คือฐานเสียงผู้สูงวัย และพวกอนุรักษนิยมที่เคยได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วภายใต้การปกครองของ พัค จุง-ฮี และถึงแม้ว่าระยะหลังๆ คะแนนนิยมของเธอจะตกต่ำลงมาก แต่ผู้สนับสนุนบางกลุ่มก็ยังเลือกที่จะภักดีต่อเธออยู่