รอยเตอร์ - “แคร์รี แลม” ข้าราชการพลเรือนที่จีนหนุนหลัง ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าคณะบริหารฮ่องกงคนใหม่ตามคาดในวันอาทิตย์ (26) ท่ามกลางข้อกล่าวหาว่าปักกิ่งยังคงแทรกแซงและปฏิเสธผู้นำที่คนฮ่องกงต้องการ ซึ่งอาจคลายชนวนความตึงเครียดบนเกาะศูนย์กลางการเงินเอเชียแห่งนี้ได้ดีกว่า
ประชาชนส่วนใหญ่ของฮ่องกงจากทั้งหมด 7.3 ล้านคนไม่สามารถเลือกผู้นำของตนเอง แต่ต้องยกสิทธิ์นี้ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง 1,200 คนที่อัดแน่นไปด้วยพวกสนับสนุนจีนและจงรักภักดีต่อสถาบันเป็นผู้เลือก
แลมที่จะเป็นหัวหน้าคณะบริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกงหญิงคนแรกเมื่อเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 1 กรกฎาคม ได้รับคะแนน 777 เสียง ตามมาด้วย 365 คะแนนของคู่แข่งอันดับ 2 “จอห์น จ้าง” อดีตรัฐมนตรีคลัง ที่โพลระบุว่าเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนมากกว่า ส่วนผู้สมัครคนที่สาม อู๋ กว็อก-ฮิง ได้เพียง 21 คะแนน
ที่หน้าศูนย์เลือกตั้งเกิดเหตุชุลมุนระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจจำนวนมากที่ถูกระดมไปควบคุมสถานการณ์ ซึ่งภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้ง มีกลุ่มผู้ประท้วงตะโกนเรียกร้อง “สิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไป” พร้อมชูป้ายที่มีข้อความประณามว่าปักกิ่งแทรกแซง ท่ามกลางรายงานว่ามีการล็อบบี้อย่างกว้างขวางให้คณะกรรมการฯ เลือกแลมแทนที่จะเป็นจ้าง ป้ายสีเหลืองขนาดใหญ่ที่มีข้อความเรียกร้องประชาธิปไตยถูกนำไปแขวนบนภูเขาสิงโต ซึ่งเป็นจุดชมวิวของฮ่องกง
ขณะเดียวกัน ผู้สนับสนุนแลมหลายร้อยคนชูธงชาติจีนและตะโกนเชียร์อยู่ด้านในและด้านนอกศูนย์เลือกตั้งหลังแลมได้รับชัยชนะ
นับจากฮ่องกงคืนกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของจีนในปี 1997 ปักกิ่งค่อยๆ เพิ่มระดับการควบคุมเหนือเกาะนี้แม้ให้สัญญาว่าจะมอบเสรีภาพและอำนาจการปกครองตนเองมากกว่าที่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ได้รับภายใต้หลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” รวมถึงคำสัญญาที่ไม่ระบุกำหนดเวลาในการให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปก็ตาม
ชาวฮ่องกงจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงฝ่ายค้านที่เรียกร้องประชาธิปไตยกลัวว่าแลมจะสานต่อนโยบายแข็งกร้าวของ เหลียง ชุน-อิง หัวหน้าคณะบริหารฮ่องกงคนปัจจุบันที่สนับสนุนจีน และสั่งให้ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 2014 และไม่เคยปกป้องอำนาจการปกครองตนเอง รวมทั้งค่านิยมหลักของฮ่องกง
ทั้งนี้ ผู้นำฮ่องกงทั้งสามคนหลังกลับสู่อ้อมอกจีน ต่างพยายามรักษาสมดุลระหว่างความต้องการของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่หมกมุ่นกับเสถียรภาพ กับความต้องการของประชาชนจำนวนมากในการรักษาแนวทางเสรีนิยมและหลักนิติธรรมที่ค้ำจุนความสำเร็จทางเศรษฐกิจของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางการเงินโลกมายาวนาน
เมื่อปลายปี 2014 บางพื้นที่บนเกาะแห่งนี้กลายเป็นอัมพาตโดยปริยาย หลังผู้ประท้วงหลายหมื่นคนปิดกั้นถนนหลักหลายสายนานเกือบ 3 เดือน เพื่อเรียกร้องให้ปักกิ่งมอบประชาธิปไตยเต็มใบให้ฮ่องกง ผลปรากฏว่า นอกจากข้อเรียกร้องจะถูกเพิกเฉย ยังเกิดการปะทะรุนแรงหลายครั้ง
ชาวฮ่องกงบางส่วนมองว่า การที่จีนคืบคลานเข้าแทรกแซงฮ่องกงในหลายด้าน ทั้งธุรกิจ สื่อ การเมือง การศึกษา และระบบตุลาการ เป็นการบ่อนทำลายเสน่ห์ของฮ่องกงที่ดึงดูดบริษัททั่วโลก
คนฮ่องกงจำนวนมากยังหวาดหวั่นกับข่าวการควบคุมตัวคนขายหนังสือฮ่องกง 5 คนที่ขายหนังสือที่วิพากษ์วิจารณ์ปักกิ่ง
การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่จากปักกิ่งที่เกิดกับการปกครองตนเองและการปฏิรูปประชาธิปไตยของฮ่องกง ส่งผลต่อเศรษฐกิจฮ่องกงที่ธนาคารโลกจัดให้อยู่ในอันดับ 33 เมื่อปี 2015
สัปดาห์ที่แล้ว ลี กา-ชิง มหาเศรษฐีเบอร์หนึ่งของเกาะนี้เตือนว่า ฮ่องกงคงรับไม่ไหวหากจะมีความขัดแย้งยืดเยื้ออีก 5 ปี
ฮ่องกงเคยนำเสนอแผนปฏิรูปการเลือกตั้งที่เสนอความเป็นไปได้ในการเลือกตั้งผู้นำโดยตรง แต่ผู้สมัครจะต้องได้รับการคัดสรรจากปักกิ่งก่อน ทว่า ร่างพิมพ์เขียวการปฏิรูปนี้ถูกคว่ำโดยสมาชิกรัฐสภาที่สนับสนุนประชาธิปไตยในปี 2015 ที่โจมตีว่า เป็นประชาธิปไตยจอมปลอมสไตล์จีน
ความแตกแยกทางการเมืองและสังคมทำให้การวางแผนด้านกฎหมายและนโยบายบางส่วนหยุดชะงัก เช่นเดียวกับโครงการขนาดใหญ่ เช่น ฮับวัฒนธรรม และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อกับจีน
ขณะเดียวกัน แม้ที่ตั้งที่อยู่ใกล้จีนช่วยดึงดูดการลงทุนและการใช้จ่ายจากแดนมังกร ธุรกิจฮ่องกงต้องเผชิญการแข่งขันดุเดือดจากบริษัทจีนในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น บริการ และอสังหาริมทรัพย์
นอกจากนี้ยังเชื่อกันอย่างกว้างขวางว่า ราคาที่พักอาศัยที่ถือว่าติดอันดับสูงที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ถูกปั่นจากแรงซื้อที่ถาโถมของเศรษฐีจีน ส่งผลให้กระแสต่อต้านแผ่นดินใหญ่ในฮ่องกงรุนแรงขึ้น
แม้ปักกิ่งไม่เคยประกาศสนับสนุนผู้สมัครคนใดอย่างชัดเจน แต่เจ้าหน้าที่อาวุโสย้ำเงื่อนไขบางอย่างที่ผู้สมัครต้องมี ซึ่งรวมถึงการได้รับความไว้วางใจจากผู้นำคอมมิวนิสต์จีนแผ่นดินใหญ่