xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : ยุโรปผวาสหรัฐฯ เอาใจออกห่าง “นาโต” หันไปกระชับมิตร “จีน-รัสเซีย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เริ่มเป็นที่น่าจับตามอง เมื่อ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศจะไม่เดินทางไปร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศนาโตที่กรุงบรัสเซลส์ โดยให้เหตุผลว่าต้องอยู่ต้อนรับประธานาธิบดี สี่ จิ้นผิง ของจีนซึ่งมีกำหนดเยือนสหรัฐฯ ในช่วงเวลาเดียวกัน และยังมีข่าวกระเซ็นกระสายออกมาว่า ทิลเลอร์สัน มีแผนจะไปเยือนรัสเซียในเร็วๆ นี้ด้วย

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้นักวิเคราะห์การเมืองตั้งข้อสังเกตว่า สหรัฐฯ เริ่มให้ความสำคัญกับนาโตน้อยลงหรือไม่

สตีฟ เซดแมน อาจารย์มหาวิทยาลัยคาร์ลตันในแคนาดาซึ่งศึกษาบทบาทและความสัมพันธ์ในกลุ่มนาโต ระบุว่า การตัดสินใจของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ครั้งนี้นับว่าเป็น “หายนะเต็มๆ” เช่นเดียวกับ อีโว ดาลเดอร์ อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำนาโต ซึ่งระบุว่า “ไม่เคยพบเห็นเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน”

มิตรประเทศของสหรัฐฯ เริ่มหวาดระแวงตั้งแต่ โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาวิจารณ์นาโตว่าเป็นองค์กรที่ล้าสมัย (obsolete) และต้องการให้สหรัฐฯ แสดงออกทั้งโดยคำพูดและการกระทำว่ายังพร้อมที่จะปกป้องพันธมิตรจากการถูกคุกคามโดยรัสเซียและชาติศัตรูอื่นๆ อย่างไรก็ตาม การที่ ทิลเลอร์สัน ยอมละทิ้งการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศนาโตครั้งแรกของตนเองเพื่อพบกับ สี จิ้นผิง และยังเตรียมบินไปกระทบไหล่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ในเดือนเดียวกัน อาจทำให้ยุโรปตีความได้ว่า รัฐบาลทรัมป์เลือกที่จะผูกมิตรกับมหาอำนาจระดับบิ๊กๆ มากกว่าเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับนาโต

“การจัดประชุมร่วมกันถือเป็นกลไกหลักในการกำหนดนโยบายของนาโต การปรากฏตัวในที่ประชุมจึงมีความสำคัญถึง 85% ของงานทั้งหมด... และนั่นคือสิ่งที่ ทิลเลอร์สัน เลือกที่จะไม่ทำ” ดาลเดอร์ กล่าว

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศนาโตซึ่งกำหนดไว้ระหว่างวันที่ 5-6 เม.ย. ถือเป็นการหารือในเบื้องต้น เพื่อปูทางไปสู่การประชุมสุดยอดผู้นำนาโตในเดือน พ.ค.

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และอดีตนักการทูตนาโตคนหนึ่งซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันจันทร์ (20) ว่า นาโตได้เสนอที่จะเลื่อนวันประชุมเพื่อให้ ทิลเลอร์สัน สามารถเดินทางมาเข้าร่วมได้โดยไม่ต้องพลาดการประชุมกับสี จิ้นผิง ทว่ากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือน ทิลเลอร์สัน จะเริ่มตระหนักถึงผลของการละเลยนาโตครั้งนี้ โดย มาร์ก โทเนอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันเมื่อวันอังคาร (21) ว่า ทิลเลอร์สัน ได้เสนอให้นาโตเลื่อนประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเป็นวันอื่นที่เขาสะดวก และกำลังรอการตัดสินใจของสมาชิกนาโตทั้ง 28 ประเทศว่าจะเป็นไปได้หรือไม่

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลทรัมป์พยายามอย่างยิ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่นว่าสหรัฐฯ ไม่ได้มองนาโตสำคัญน้อยไปกว่าจีนหรือรัสเซีย โดยได้ส่งทั้งรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ และรัฐมนตรีกลาโหม เจมส์ แมตทิส ไปเยือนยุโรป เพื่อรับรองว่าวอชิงตันยังเต็มใจรักษาพันธกรณีที่มีต่อนาโต “อย่างไม่มีวันสั่นคลอน”

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ผลงานที่ เพนซ์ และ แมตทิส ได้สร้างไว้กำลังถูกทำลายลงอย่างไม่มีชิ้นดีเพราะการตัดสินใจของ ทิลเลอร์สัน
เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้นาโตคงบทบาทอยู่ได้ก็คือ การที่รัฐสมาชิกต่างเคารพในหลักที่ว่า เมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งถูกคุกคามก็เท่ากับนาโตทั้ง 28 ประเทศถูกคุกคามด้วย ทว่าในความเป็นจริงนาโตไม่ได้มีอำนาจในทางกฎหมายที่จะบังคับให้สหรัฐฯ หรือรัฐสมาชิกใดๆ ต้องช่วยปกป้องประเทศอื่น มาตรา 5 ในสนธิสัญญานาโตที่ว่าด้วยการป้องกันร่วม (collective self-defense) ก็ไม่ได้มีผลผูกพันเทียบเท่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่อาศัยเพียงการรับรองจากรัฐสมาชิกว่าจะเคารพในหลักการพื้นฐานนี้ และส่งสัญญาณป้องปรามไปยังรัสเซียหรือชาติคู่อริอื่นๆ ว่าสหรัฐฯ พร้อมที่จะใช้แสนยานุภาพทางทหารป้องกันพันธมิตรที่ถูกรุกราน

นัยสำคัญจากการที่ ทิลเลอร์สัน ไม่เข้าร่วมประชุมจึงอยู่ที่ว่า นาโตจะสูญเสียอำนาจในการ “ป้องปราม” นี้ไป หากประธานาธิบดีปูตินมองการกระทำของเขาและสรุปว่าสหรัฐฯ ไม่ได้จริงจังกับการปกป้องพันธมิตรที่มอสโกจ้องโจมตีอยู่

อดีตรัฐในสหภาพโซเวียตอย่างเอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย น่าจะเป็นสมาชิกนาโตที่กังวลเรื่องนี้มากที่สุด เพราะดูเหมือนประธานาธิบดี ปูติน จะยังเชื่อว่า ประเทศเหล่านี้สมควรเป็นส่วนหนึ่งของแดนหมีขาว

มอสโกใช้อิทธิพลคุกคามประเทศเล็กๆ เหล่านี้เรื่อยมา ทั้งการลักพาตัวเจ้าหน้าที่ความมั่นคงเอสโตเนียเมื่อปี 2015, ส่งเรือรบรุกล้ำน่านน้ำลัตเวียถึง 40 ครั้งในปี 2014 และยังส่งเครื่องบินบุกรุกน่านฟ้าทั้ง 3 ประเทศอีกนับครั้งไม่ถ้วน

ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่า ทรัมป์ ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายที่สหรัฐฯ มีต่อรัสเซียมากเท่าใดนัก บทลงโทษทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลโอบามาประกาศใช้ก็ยังคงอยู่ ทหารอเมริกันยังคงประจำการอยู่ในยุโรป ส่วนเรื่องที่สหรัฐฯ จะร่วมมือทางทหารโดยตรงกับรัสเซียเพื่อปราบปรามกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในอิรักและซีเรียก็ยังไกลความจริง

ในขณะที่ชาติพันธมิตรมองการกระทำของ ทิลเลอร์สัน ว่าเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการที่สหรัฐฯ เริ่มเอาใจออกห่างจากนาโต แต่ในความเป็นจริงเขาอาจไม่ได้ตั้งใจจะสื่อเช่นนั้นเลยก็เป็นได้ เพราะต้องไม่ลืมว่า ทิลเลอร์สัน นั้นไม่ใช่นักการทูตอาชีพ งานสุดท้ายของเขาก่อนจะมาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศก็คือตำแหน่งผู้บริหารบริษัทน้ำมันเอ็กซ์ซอนโมบิล เขาไม่มีประสบการณ์เข้าร่วมการประชุมระดับสูง และไม่มีพื้นความรู้เกี่ยวกับการเมืองนาโต จึงเป็นไปได้ว่า ทิลเลอร์สัน ไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการประชุมครั้งนี้ และคาดไม่ถึงว่าพันธมิตรนาโตจะตีความการเบี้ยวประชุมของเขาอย่างไร

“คนที่อยู่รอบตัว ทิลเลอร์สัน ล้วนแต่ยังไม่เข้าใจการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศดีพอ” อิลัน โกลเดนเบิร์ก อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลโอบามา ซึ่งปัจจุบันทำงานกับศูนย์เพื่อความมั่นคงอเมริกันใหม่ ระบุ

อย่างไรก็ดี เป็นไปได้เช่นกันว่าเรื่องนี้อาจเป็นการแสดงออกอย่างจงใจ เพื่อนำไปสู่ยุทธศาสตร์ปรับสมดุลจากนาโตสู่รัสเซีย

ด้วยระยะเวลาเพียง 2 เดือนเศษที่ ทรัมป์ เข้าบริหารประเทศจึงอาจเร็วเกินไปที่จะสรุปว่านโยบายที่แท้จริงของเขาเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่น่าจับตามองหลังจากนี้ก็คือท่าทีตอบสนองของบรรดาชาติพันธมิตร เมื่อมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลกกำลังเดินสวนทางกับค่านิยมดั้งเดิม และขัดแย้งแม้กระทั่งกับเป้าหมายที่ได้ประกาศเอาไว้เอง

กำลังโหลดความคิดเห็น