เอเจนซีส์ - นักวิทยาศาสตร์เยอรมันกำลังจะเปิดเครื่องพระอาทิตย์เทียมที่ใหญ่สุดในโลก ด้วยความหวังว่าแหล่งกำเนิดแสงที่เข้มข้นนี้จะถูกนำไปใช้สร้างพลังงานที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศ
การทดลองที่มีชื่อว่า Synlight ในเมืองจูลิช ห่างจากเมืองโคโลญไปทางตะวันตกราว 19 ไมล์ เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ประกอบด้วย เครื่องฉายแสงสปอตไลต์ที่ให้ความร้อนสูง 149 เครื่อง ซึ่งจะสร้างแสงเข้มข้นกว่าแสงธรรมชาติในโลกถึง 10,000 เท่า
เมื่อเครื่องฉายแสงทั้งหมดหันหน้าไปส่องแสงรวมกันที่เป้าเดียว มันจะสามารถสร้างความร้อนสูงถึงประมาณ 3,500 องศาเซลเซียส ซึ่งร้อนประมาณ 2-3 เท่าของอุณหภูมิในเตาหลอมเหล็ก
“หากคุณเข้าไปในห้องทดลองตอนที่เปิดเครื่อง คุณไหม้แน่นอน” กล่าวโดยศาสตราจารย์ แบร์นาร์ด ฮอฟฟ์ชมิดต์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย ศูนย์อวกาศเยอรมนี
เป้าหมายของการทดลองนี้ เพื่อจะสร้างตัวเลือกต้นกำเนิดแสงสำหรับใช้เป็นพลังงานทำปฏิกิริยาผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจน
ที่ผ่านมาสถานีพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้กระจกรวมแสงเล็งไปที่น้ำได้เคยถูกสร้างไว้แล้ว ซึ่งจะทำงานโดยการควบคุมความร้อนจากพระอาทิตย์เพื่อสร้างไอน้ำไปหมุนกังหันแล้วสร้างกระแสไฟฟ้า
แต่สำหรับการทดลอง Synlight นั้นเป็นการสำรวจความเป็นไปได้ที่จะใช้พลังงานทำปฏิกิริยาเพื่อสกัดไฮโดรเจนออกมาจากไอน้ำ ซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแหล่งเชื้อเพลิงของเครื่องบินและรถ
ในปัจจุบัน Synlight ใช้พลังงานอย่างมาก ปฏิบัติการแค่ 4 ชั่วโมงนั้นกินพลังงานเท่ากับกระแสไฟฟ้า 1 ปีของบ้านที่มีสมาชิก 4 คน อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์หวังว่าในอนาคตแสงอาทิตย์ตามธรรมชาติอาจจะใช้ผลิตไฮโดรเจนด้วยวิธีการแบบปลอดคาร์บอน
“เราจำเป็นต้องใช้ไฮโดรเจนหลายพันล้านตัน หากเราต้องการจะใช้ขับเครื่องบินและรถยนต์ด้วยเชื้อเพลิงปลอดคาร์บอนไดออกไซด์ สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ดังนั้นเราต้องเร่งนวัตกรรม” ฮอฟฟ์ชมิดต์กล่าว