เอเอฟพี/ MGR Online - กลุ่มมือปืนก่อเหตุสังหารโหด 17 ศพ ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก หลังบุกจู่โจมชุมชนเกษตรกรแห่งหนึ่งแถบตอนกลางของไนจีเรีย จากการเปิดเผยของตำรวจในวันอังคาร (21 มี.ค.) ความรุนแรงหนล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทแย่งสิทธิที่ทำกิน
โมเซส ยามู โฆษกตำรวจเปิดเผยกับเอเอฟพีว่า เหตุโจมตีในรัฐเบนเวเกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ (20 มี.ค.) โดยพวกคนร้ายใช้จักรยานยนต์และรถยนต์เป็นพาหนะ กราดยิงถล่มตลาดแห่งหนึ่งและจุดไฟอาคารหลายแห่ง
“เหตุโจมตีเกิดขึ้นเมื่อช่วงบ่ายวานนี้ ที่ตลาดแห่งหนึ่งในเมืองซากี ไบรัม โดยกลุ่มคนไม่ทราบฝ่ายมีผู้ถูกสังหาร 17 ราย และบาดเจ็บ 11 คน” ยามูกล่าว “เรายังไม่ได้จับกุมใคร และเรายังไม่ทราบแรงจูงใจในการก่อเหตุ เราได้ชื่อของผู้ต้องสงสัยบางส่วนและเรากำลังตามล่าพวกเขา”
ก่อนหน้านี้สื่อมวลชนท้องถิ่นรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตระหว่าง 30 ถึง 50 คน ในเหตุโจมตีในดินแดนที่ถูกฉีกขาดเป็นชิ้นๆ จากความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนานระหว่างคนเลี้ยงสัตว์ชนเผ่าฟูลานี กับชาวไร่ชาวนาในท้องถิ่น เกี่ยวกับสิทธิที่ทำกิน
มูฮัมมาดู บูฮารี ประธานาธิบดีไนจีเรีย ออกถ้อยแถลงในวันอังคาร (21 มี.ค.) ประณามเหตุคร่าชีวิตผู้คนดังกล่าว “ประธานาธิบดีประณามการโจมตีอันชั่วช้าและสั่งการโดยตรงถึงหน่วยงานด้านความมั่นคงให้เริ่มสืบสวนในทันที ในความพยายามนำตัวผู้ก่อเหตุที่ลงมืออย่างขี้ขลาดตาขาวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม” ทำเนียบประธานาธิบดีระบุ
ในเดือนกรกฎาคมปีก่อน เจ้าหน้าที่ของรัฐเปิดเผยว่ามีชาวบ้านจำนวนมากเสียชีวิตในเบนเว จากเหตุปะทะนานหลายสัปดาห์ ด้วยสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นระบุว่ามีผู้เสียชีวิตมากถึง 81 ราย
ความขัดแย้งประเด็นสิทธิในที่ดินทำกินระหว่างคนเลี้ยงสัตว์ชนเผ่าฟูลานีกับชาวไร่ชาวนาในท้องถิ่น ถือเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานานกว่า 1 ทศวรรษในหลายรัฐของไนจีเรีย โดยบรรดาผู้นำชนเผ่าฟูลานีเคยร้องทุกข์เรื่องการขาดแคลนที่ดินสำหรับเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำมาหาเลี้ยงชีพของพวกเขา ตลอดจนความแค้นเคืองระหว่างผู้เลี้ยงปศุสัตว์กับเพื่อนบ้านที่เป็นชาวไร่ ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา
ตามกฎหมายไนจีเรีย คนชาติพันธุ์ต่างๆ มีสิทธิในที่ดินทำกินซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของตนเอง ตลอดจนมีสิทธิที่จะได้รับอนุเคราะห์เป็นพิเศษในการเข้าถึงระบบการศึกษาสาธารณสุข และโอกาสในการทำงาน
อย่างไรก็ดี ชนเผ่าชาวฟูลานีอ้างว่าพวกเขาถูกเพิกถอนสิทธิพิเศษเหล่านี้ โดยประเด็นขัดแย้งเหล่านี้จะแตกต่างกันไปตามแต่ละรัฐ ซึ่งบ่อยครั้งมีเรื่องของศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์