xs
xsm
sm
md
lg

Sleepless in China ระบาดที่จีน 60 ล้านคนเสี่ยงต่อโรคใหลตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โจฮัน ไนลันเดอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Choking in China: 60m people untreated for sleep apnea
By Johan Nylander, @johannylander
17/03/2017

ขณะที่วันนอนหลับโลกเน้นแก้ปัญหาโรคเรื้อรังที่พันอยู่กับโรคนอนไม่หลับนั้น ปัญหาโรคนอนไม่หลับกำลังระบาดหนักในจีน โดยมีอัตราผู้ป่วยพุ่งทะยาน อันเป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงด้านอาหารและสไตล์การใช้ชีวิต

หนึ่งในโรคที่พันอยู่กับโรคนอนไม่หลับ ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวดุเดือดที่สุดในจีนคือ โรคใหลตายประเภท Sleep Apnea ซึ่งเป็นอาการหยุดหายใจด้วยเหตุอันอปกติในขณะหลับใหล ทั้งนี้ สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคนี้คือปัญหาน้ำหนักมากเกิน และปัญหาโรคอ้วน ซึ่งคนจีนในยุคนี้อ้วนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในการนี้ ดร.ฮั่น ฟาง ประธานสถาบันวิจัยการนอนในจีน หรือ China Sleep Research Society และผู้อำนวยการศูนย์การนอนแห่งโรงพยาบาล Peking University People’s Hospital ให้ข้อมูลว่าผู้คนราว 60 ล้านรายในประเทศจีนป่วยด้วยโรค Sleep Apnea แต่มีไม่ถึง 1% ที่รู้ตัวว่าป่วยด้วยโรคนี้ ยิ่งกว่านั้น มีไม่ถึง 0.1% ที่เข้ารับการรักษา

“เนื่องจากการรักษาโรคเกี่ยวกับการหลับนอนยังมีพัฒนาการน้อย บริการเพื่อช่วยรักษาโรคนี้จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้คน” ดร.ฮั่น ฟางกล่าว พร้อมให้ข้อมูลว่าปัจจุบัน จีนมีเตียงเพื่อทดสอบปัญหาโรคนอนหลับเพียง 1-2 เตียงต่อประชากร 1 ล้านราย ขณะที่เยอรมนีมีอัตราในเรื่องนี้อยู่ที่ระดับ 10 ต่อ 1 ล้าน

ผลการวิจัยหลายโครงการพบว่าคนเอเชียมีแนวโน้มที่จะป่วยด้วยโรค Sleep Apnea มากกว่าคนคอเคเชียน เพราะโครงหน้าของคนเอเชียทำให้ช่องอากาศส่วนบนมีขนาดเล็กกว่า ทั้งนี้มีรายงานชิ้นหนึ่งในนิตยสารการนอนและการหายใจ หรือ Sleep and Breathing ที่ตีเผยแพร่ใน ปี 2011 ระบุว่าเกือบ 70% ของคนเอเชียมีอาการของโรค Sleep Apnea ในรูปแบบต่างๆ

สำหรับในกรณีของชาวจีนนั้น ระดับรายได้ของคนจีนจำนวนมากปรับตัวสูงขึ้น พร้อมกับปรับเปลี่ยนนิสัยการบริโภค ส่งผลเป็นปัญหาด้านสุขภาพในด้านต่างๆ รวมทั้งอัตราป่วยด้วยโรค Sleep Apnea ที่พุ่งสูงขึ้น

การวิจัยโดยคณะจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง และมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย รายงานว่าเมือปีที่แล้วชาวจีนที่เป็นผู้ใหญ่จำนวนมากกว่า 1 ใน 5 ราย ป่วยด้วยอาการของโรค Sleep Apnea ประเภทสามัญ และปัญหาความป่วยไข้จากโรคที่สืบเนื่องกับการนอนหลับได้พุ่งสูงขึ้นจนกระทั่งกลายเป็นประเด็นที่ต้องเร่งดูแลแก้ไขในทางสาธารณสุข

ในการนี้ รายงานการวิจัยฉบับข้างต้นเสนอให้ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารสนับสนุนการแพทย์ทางไกล เพื่อเข้าไปช่วยคุณหมอรากหญ้าในพื้นที่ชนบท ตลอดจนช่วยโรงพยาบาลในเขตทุรกันดาร ให้สามารถวินิจฉัยโรคและรักษาผู้ป่วยได้ดีขึ้น

ในวันนอนหลับโลกเมื่อ 17 มีนาคมที่ผ่านมา สถาบัน World Sleep Society ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ทำการรณรงค์ในเรื่องนี้ ตั้งเป้าหมายที่จะจัดการกับปัญหาโรค Sleep Apnea พร้อมกับมุ่งสร้างความตื่นตัวต่อความสำคัญของการนอนหลับภายในแวดวงการแพทย์ การศึกษา วงการรณรงค์ทางสังคม และการรณรงค์ให้เกิดการขับขี่ปลอดภัย ในการนี้ แต่ละประเทศจะมีประเด็นรณรงค์ในแต่ละปีเป็นของตนเอง และสำหรับประเทศจีน ในปีนี้ได้มีการกำหนดที่จะปลุกความตื่นตัวต่อปัญหาโรคภัยเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับโรคนอนไม่หลับ

“เราถือว่าความตื่นตัวต่อการนอนอย่างมีคุณภาพและการแก้ปัญหาโรคเรื้อรังที่สืบเนื่องจากโรคนอนไม่หลับ คือประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในประเทศจีน” กล่าวโดยดร.ฮั่น ฟาง ผู้เป็นหนึ่งในผู้จัดกิจกรรมรณรงค์การนอนหลับอย่างมีสุขอนามัยภายในจีน

นอกจากรายงานวิจัยต่างๆ ที่นำเสนอไว้ข้างต้น ยังมีแหล่งข้อมูลอื่นอีกที่ระบุว่า ประมาณ 40% ของคนจีนทั่วประเทศป่วยด้วยปัญหานอนไม่หลับในลักษณะต่างๆ

ทั้งนี้ ดร.ฮั่น ฟางอธิบายว่าการนอนไม่หลับ และการนอนหลับไม่เพียงพอ มักเป็นผลจากการที่คนเรายอมเสียสละอดนอนเพื่อทำการงาน เพื่อเสพความบันเทิง และเพื่อศึกษาเล่าเรียน ดร.ฮั่นกล่าวด้วยว่าปัญหาในโรคการนอนผิดปกตินับว่าเกิดขึ้นในเอเชียสูงกว่าในส่วนอื่นๆ ของโลกอย่างมากมาย

“เนื่องจากเอเชียเป็นพื้นที่ซึ่งมีความเคลื่อนไหวรวดเร็วมากที่สุด การที่ไม่สามารถนอนหลับอย่างเพียงพอ หรือการอดนอนต่างๆ มักเกิดจากการทำงานเป็นกะ การเดินทาง หรือกระทั่งการที่ต้องทำการงานต่อเนื่องยาวนานเกินไป..” ดร.ฮั่ง ฟางกล่าว และย้ำด้วยว่า “เอเชียยังมีพัฒนาการไม่มากในด้านการแพทย์เพื่อรักษาโรคเกี่ยวกับการนอนหลับ ขณะที่การศึกษาเกี่ยวกับการนอนหลับ และความตื่นตัวของสาธารณชนต่อการนอนที่เหมาะสมก็อยู่ในระดับต่ำ”

โรค Sleep Apnea เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป โดยที่ผู้ป่วยจะมีอาการหยุดหายใจ หรือหายใจเข้าสู่ร่างกายเพียงตื้นๆ สั้นๆ มากกว่าหนึ่งครั้งในระหว่างที่นอนหลับ การหยุดหายใจอาจเกิดขึ้นนานตั้งแต่ระดับสองสามวินาที ไปกระทั่งหยุดหายใจกันเป็นหลายนาที ในบางราย อาจหยุดหายใจในอัตราสูงถึง 30 ครั้งหรือกว่านั้น ต่อหนึ่งชั่วโมง โดยทั่วไป ผู้ป่วยจะกลับมาหายใจต่อได้เอง และบ่อยครั้งที่ว่าก่อนจะกลับมาหายใจต่อ จะมีการกรนเสียงดัง หรือมีเสียงสำลักอากาศแล้วจึงหายใจต่อ ในการนี้ ปัญหาดังกล่าวมักมีสหสัมพันธ์ใกล้ชิดกับปัญหาโรคอ้วน อีกทั้ง มีบ้างที่ปัญหาการหยุดหายใจเป็นอะไรที่เกี่ยวพันกับเนื้อเยื่อนุ่มภายในช่องปากและคอหอย กล่าวคือ ในระหว่างนอนหลับ เมื่อคอหอยและกล้ามเนื้อลิ้นผ่อนคลายลงมากๆ เนื้อเยื่อนุ่มๆ ตรงนี้อาจทำให้ช่องทางลำเลียงอากาศเข้าสู่ร่างกายถูกปิดกั้น

นอกจากนั้น ในรายงานล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) ระบุว่าจีนมีจำนวนผู้คนที่เป็นโรคอ้วนสูงสุดอันดับที่ 2 ของโลก ด้านสมาพันธ์โรคอ้วนโลก หรือ World Obesity Federation ให้ประมาณการว่าภายในปี 2025 จีนจะมีเด็กที่เป็นโรคอ้วนมากที่สุดในโลก โดย WHO รายงานว่าในปี 2014 ที่ผ่านมา เด็กวัยต่ำกว่า 5 ปีเกือบครึ่งหนึ่งเป็นเด็กที่อาศัยอยู่ในทวีปเอเชีย

ในประเด็นของการนอนอย่างเกื้อกูลต่อสุขภาพนั้น ดร.ฮั่น ฟางกล่าวว่า มีการทำทดลองออกมาแล้วว่าการงีบช่วงสั้นตอนเที่ยงเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อสุขภาพและประสิทธิภาพการทำงาน คนเราควรจะงีบหลับช่วงสั้นๆ ตอนเที่ยงอย่างสม่ำเสมอ ส่วนสำหรับผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับ อาทิ โรค Narcolepsy อันเป็นอาการป่วยแบบที่ไม่สามารถควบคุมการหลับได้นั้น การงีบหลับช่วงสั้นๆ ตอนเที่ยง เป็นการรักษาที่ทรงประสิทธิภาพกว่าการรักษาด้วยยาขนานใดๆ

ปัจจุบันนี้ บริษัทจำนวนมากในญี่ปุ่นส่งเสริมให้พนักงานงีบหลับในระหว่างชั่วโมงทำงานได้ โดยเชื่อว่าจะทำให้พนักงานมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น และเช่นกัน จำนวนบริษัทในจีนที่ยอมให้พนักงานงีบหลับระหว่างเวลาทำงาน ก็มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ บริษัทหัวเว่ย ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจเทคโนโลยีนั้นถึงกับอนุญาตให้พนักงานปูเสื่อนอนข้างโต๊ะทำงานในช่วงหยุดพักกลางวันกันเลยทีเดียว

นักวิจัยเชียร์ให้ผู้คนเห็นถึงพลังการนอนหลับ ว่าจะเสริมสร้างสุขอนามัยที่ดีแก่ประชาชน โดยชี้ว่าการนอนหลับที่เหมาะสมทำให้คนเราฉลาดมากขึ้น มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่ดีขึ้นในการงาน การตัดสินใจก็เฉียบคมดีขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงที่จะกระทำงานผิดพลาดเพราะงุ่มง่ามมึนงง

อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยระบุว่า ไม่ควรงีบหลับนานๆ เพราะนั่นกลับจะทำให้คนเราซึมและสัปหงกเรื้อรังไปตลอดวัน

โจฮัน ไนลันเดอร์ เป็นผู้สื่อข่าวอิสระชาวสวีเดนที่ตั้งฐานอยู่ในฮ่องกง โดยมุ่งทำข่าวเกี่ยวกับจีนและเอเชีย ผลงานของเขาได้รับการเผยแพร่อยู่บ่อยครั้งทาง ซีเอ็นเอ็น, ฟอร์บส์, เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์, นิกเกอิเอเชียนรีวิว, อัลจาซีรา, เอเชียไทมส์, และ ดาเกนส์ อินดัสตรี (Dagens Industri) หนังสือพิมพ์รายวันทางธุรกิจชั้นนำของสวีเดน เขาจบการศึกษาปริญญาโทเอ็มบีเอจากมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก และเป็นผู้เขียนหนังสือด้านการบริหารที่ได้รับรางวัลมาแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น