xs
xsm
sm
md
lg

‘ดูเตอร์เต’ดูเหมือนคิดคนละอย่างกับ‘ฝ่ายทหารฟิลิปปินส์’ในเรื่อง‘จีน-สหรัฐฯ’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ริชาร์ด จาวัด เฮย์ดาเรียน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Does Duterte see eye-to-eye with his generals?
By Richard Javad Heydarian
14/03/2017

ขณะที่ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ แสดงท่าทีสบายอกสบายใจในการคบหาสนิทสนมกับจีน รัฐมนตรีกลาโหมของเขากลับลั่นระฆังส่งสัญญาณเตือนภัยเกี่ยวกับการขยายตัวทางยุทธศาสตร์ของปักกิ่งในทะเลจีนใต้

“คุณสามารถมองเห็นได้จริงๆ ถึงความจริงใจของฝ่ายจีน ดังนั้นขอให้ผมได้แสดงความขอบคุณอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่งต่อประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และประชาชนชาวจีนผู้มีความรักใคร่พวกเรา” ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต แห่งฟิลิปปินส์ กล่าวเช่นนี้เมื่อไม่นานมานี้ภายหลังรับมอบความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากจีนเป็นจำนวน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อใช้ในการพัฒนาทางการเกษตร และในงานบูรณะฟื้นฟูหลังประสบภัยแผ่นดินไหวของพื้นที่ในจังหวัดแห่งหนึ่งของแดนตากาล็อก

ในคำปราศรัยคราวเดียวกันนี้ ผู้นำฟิลิปปินส์ซึ่งปกติพูดจาโผงผางดุดันผู้นี้ยังเอ่ยมธุรสวาจาบรรยายว่า จีน “กำลังให้ทางเบี่ยงแก่เราอย่างเพียงพอที่จะอยู่รอดผ่านความเข้มงวดรุนแรงแห่งชีวิตทางเศรษฐกิจบนพื้นพิภพแห่งนี้” นอกจากนั้น ดูเตอร์เตยังจะติดตามเรื่องความช่วยเหลือต่างๆ ต่อไปอีก ในระหว่างการเดินทางไปเยือนจีนในเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะเป็นการไปแดนมังกรครั้งที่ 2 ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ เพื่อเข้าร่วมการประชุมซัมมิตที่เขาตั้งความหวังว่าจะสามารถโน้มน้าวให้ได้เม็ดเงินลงทุนจากจีนเข้ามาสู่โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของฟิลิปปินส์

ทว่าในเวลาเดียวกับที่ดูเตอร์เตกล่าวสรรเสริญจีนว่าเป็นหุ้นส่วนรายหนึ่งในการช่วยพัฒนาประเทศชาติอยู่นี้เอง เดลฟิน ลอเรนซานา (Delfin Lorenzana) รัฐมนตรีกลาโหมของเขา กลับลั่นระฆังส่งสัญญาณอันตรายเกี่ยวกับเรื่องที่จีนกำลังขยายกิจกรรมในพื้นทีทางทะเลซึ่งมะนิลาอ้างกรรมสิทธิ์อยู่ ก่อนหน้านี้ในปีนี้ ลอเรนซานาก็เคยกล่าวเตือนว่า ในเร็วๆ นี้จีนอาจจะผลักดันเดินหน้าในการอ้างกรรมสิทธิ์อย่างโต้งๆ เหนือแนวปะการังสคาร์โบโร โชล (Scarborough Shoal) ที่พิพาทอยู่กับฟิลิปปินส์ โดยที่แนวปะการังแห่งนี้อยู่ห่างเพียง 100 ไมล์ทะเลจากฐานทัพทหารแห่งสำคัญ 2 แห่งของฟิลิปปินส์ คือที่อ่าวซูบิก และที่ คลาร์ก

ลอเรนซานา ผู้เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยทูตทหารของฟิลิปปินส์ประจำกรุงวอชิงตัน แถลงว่า “ถ้าเรายินยอมปล่อยปละพวกเขาแล้ว พวกเขาก็จะสร้าง” สิ่งปลูกสร้างทางทหารบนแนวปะการังแห่งนี้ และเขาบอกว่า การขยายดินแดนของจีนในทะเลจีนใต้เป็นเรื่องที่ “รบกวนใจเป็นอย่างมาก” อีกทั้ง “ยอมรับไม่ได้” ลอเรนซานาผู้นี้แสดงท่าทีซึ่งเป็นที่จับตามองกันมาก่อนหน้านี้ ได้แก่การปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเสนอของดูเตอร์เตที่จะให้เขากลับไปประจำยังกรุงวอชิงตันอีกครั้ง ในตำแหน่งเอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ โดยเขาตัดสินใจว่าจะยังคงรักษาฐานะบทบาทการเป็นผู้ทำงานด้านการทหารอันดับหนึ่งของประเทศต่อไป

ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ดูเตอร์เต กับ ลอเรนซานา กำลังแยกกันเล่นบทเป็น “ตำรวจดีคนหนึ่ง, ตำรวจเลวคนหนึ่ง” อยู่หรือเปล่า เพื่อที่จะได้สามารถสกัดเอาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างสูงที่สุดจากประเทศจีน ขณะเดียวกับที่ยังคงรักษาความใกล้ชิดกับสหรัฐฯเพื่อวัตถุประสงค์ในทางยุทธศาสตร์ หรือว่าพวกเขามีทัศนะที่ตรงกันข้ามกันจริงๆ ในเรื่องเกี่ยวกับวิธีการที่ดีที่สุดเพื่อรักษาสมดุลในเกมการทูตของฟิลิปปินส์ ทั้งนี้วาจาถ้อยคำนิยมชมชื่นจีนของดูเตอร์เต ยังมักถูกวิจารณ์ทัดทานจากชนชั้นนำในแวดวงความมั่นคงของประเทศซึ่งยังคงมีความคิดอนุรักษนิยมและระแวงสงสัยจีน

วิธีการของดูเตอร์เตที่มุ่งสร้างความสนิทสนมกับปักกิ่ง เป็นสิ่งที่แตกต่างอย่างแรงจากวิธีการของเบนีโญ อากีโน ประธานาธิบดีแดนตากาล็อกคนก่อน ซึ่งได้เคยกล่าวในหลายๆ โอกาสเปรียบเทียบจีนว่าเหมือนกับ “นาซีเยอรมัน” มหาอำนาจผู้ต้องการแก้ไขประวัติศาสตร์ และมีแนวโน้มมุ่งขยายดินแดนด้วยการช่วงชิงเอาจากเหล่าชาติเพื่อนบ้านที่มีขนาดเล็กกว่า เรื่องนี้ทำให้หลายๆ คนมองว่าดูเตอร์เตทำตัวเป็นบริวารผู้นิยมชมชื่นจีน ด้วยความปรารถนาที่จะเสียสละบูรณภาพแห่งดินแดนเพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ดูเตอร์เตก็มีการปรับเปลี่ยนน้ำเสียงถ้อยคำอยู่เหมือนกัน โดยเมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา เขาบอกให้ฝ่ายทหารแสดงตนยืนยันว่าฟิลิปปินส์มีกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่นอกชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ในบริเวณซึ่งมีการพบเห็นเรือสำรวจของจีนหลายลำในระยะไม่กี่เดือนหลังๆ มานี้ นอกจากนั้นดูเตอร์เตยังเคยพูดก่อนหน้านั้นว่า เขาสามารถที่จะ “รีเซต” ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองที่กำลังปรับปรุงดีขึ้นเสียใหม่ก็ได้ หากจีนยังคงมีการปฏิบัติการตามอำเภอใจฝ่ายเดียวและแสดงการก่อกวนภายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone หรือ EEZ) ของฟิลิปปินส์

ในการสำรวจความคิดเห็นหลายครั้งเมื่อเร็วๆ นี้ แสดงให้เห็นว่าชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่เชื่อว่ารัฐบาลควรที่จะต้องใช้จุดยืนที่แข็งขันเหนียวแน่นยิ่งขึ้นในการพิทักษ์ปกป้องการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนืออาณาเขตและน่านน้ำในทะเลจีนใต้ของตน ต่อจากนั้นไม่นาน ลอเรนซานาได้เปิดเผยในการให้สัมภาษณ์สื่อครั้งหนึ่งว่า จีนกำลังเริ่มต้นแสดงให้เห็นสิ่งที่เขาระบุว่า เป็นความสนใจ “อย่างน่ากังวล” ต่อพื้นที่ “เบนแฮม ไรซ์” (Benham Rise) ซึ่งเป็นสันภูเขาไฟดับแล้วที่อยู่ใต้น้ำ ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์ในมหาสมุทรแปซิฟิก

ลอเรนซานากล่าวว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เรือตรวจการณ์ของจีนซึ่งไปประจำอยู่ที่เบนแฮม ไรซ์ ได้ดำเนินการวิจัยทางสมุทรศาสตร์เพื่อสำรวจดูความเป็นไปได้ที่จะนำเอาเรือดำน้ำจีนลำหนึ่งไปประจำการยังบริเวณดังกล่าว รัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์เรียกสถานการณ์เช่นนี้ว่า “น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง” และบอกว่าได้สั่งการให้กองทัพ “เริ่มต้นเข้าไปเผชิญหน้าทักทายพวกเขา และผลักดันพวกเขาให้ออกจากพื้นที่ด้านตะวันออกของฟิลิปปินส์ดังกล่าวนี้” [1]

ในเวลาต่อมากระทรวงกลาโหมยังได้แจ้งต่อพวกนักการทูตฟิลิปปินส์ ให้ถ่ายทอดแสดงความไม่พอใจของฝ่ายทหารเกี่ยวกับสถานการณ์เช่นนี้

ไม่เหมือนกับดูเตอร์เต ซึ่งกระตือรือร้นต้อนรับการร่วมมือทางทหารอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับเหล่ามหาอำนาจตะวันออก ลอเรนซานากลับตั้งข้อสังเกตครั้งแล้วครั้งเล่าที่ดูมืดมนกว่าถ้าหากไม่ถึงกับแสดงความระแวงข้องใจ เกี่ยวกับความร่วมมือด้านความมั่นคงกับจีนและรัสเซีย ซึ่งเพิ่งมีการทำความตกลงกันไปทว่ายังไม่ได้มีการนำไปปฏิบัติในวิถีทางที่มีความหมายใดๆ

ในเวลาเดียวกัน ลอเรนซานากับพวกเจ้าหน้าที่กลาโหมระดับท็อปคนอื่นๆ ยังพยายามล็อบบี้ไม่ยอมเลิก เพื่อให้ฟิลิปปินส์ดำเนินการร่วมมือทางทหารอย่างแข็งขันกับอเมริกา ที่ปรึกษาใหญ่ของดูเตอร์เต ซึ่งได้แก่ อดีตประธานาธิบดีฟิเดล รามอส ได้ส่งเสียงดังฟังชัดเน้นย้ำว่าเป็นเรื่องจำเป็นขาดไม่ได้ที่จะต้องสงวนรักษารากฐานต่างๆ ของความเป็นพันธมิตรทางทหารระหว่างฟิลิปปินส์กับอเมริกาเอาไว้ ตลอดจนเน้นย้ำความสำคัญของการธำรงรักษาความสามารถของ 2 ชาติที่มีสนธิสัญญาผูกพันธมิตรกันทางทหารมาอย่างยาวนานแล้วนี้ ในการใช้กำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ในการปฏิบัติการอย่างสอดคล้องประสานกัน

กองทัพฟิลิปปินส์ซึ่งทั้งได้รับการฝึกอบรม, ได้รับเงินสนับสนุน, และได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯเป็นอันมาก เพิ่งประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมดูเตอร์เต ให้ไม่เพียงแค่ธำรงรักษารากฐานของความเป็นพันธมิตรฟิลิปปินส์-สหรัฐฯเอาไว้เท่านั้น แต่ยังผลักดันเดินหน้าปฏิบัติตามข้อตกลงเสริมสร้างเพิ่มพูนความร่วมมือด้านกลาโหม (Enhanced Defense Cooperation Agreement ใช้อักษรย่อว่า EDCA) ซึ่งจะอนุญาตให้สหรัฐฯเข้าก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในค่ายทหารที่มีอยู่แล้วของฟิลิปปินส์อย่างน้อยที่สุด 3 ค่าย

อย่างไรก็ดี ในการกระทำที่ดูเหมือนเป็นการพยักหน้ารู้กันกับจีน ดูเตอร์เตได้ระงับแผนการของอเมริกันภายใต้ข้อตกลงฉบับดังกล่าว ที่จะพัฒนาฐานทัพอากาศบาวติสตา (Bautista Airbase) บนเกาะที่ตั้งของจังหวัดปาลาวัน (Palawan) ซึ่งในทางภูมิศาสตร์นั้นตั้งอยู่ใกล้ๆ กับหมู่เกาะสแปรตลีย์ ที่จีนพิพาทช่วงชิงอยู่กับหลายประเทศรวมทั้งฟิลิปปินส์ด้วย

ไม่นานนักหลังจากดูเตอร์ประกาศตัดสินใจเรื่องปาลาวันนี้ ลอเรนซานา, รัฐมนตรีคลัง คาร์ลอส โดมินเกซ (Carlos Dominquez), และรัฐมนตรียุติธรรม วิตาเลียโน อากีร์เร (Vitaliano Aquirre) ก็ได้ฉวยคว้าโอกาสขึ้นไปทัวร์เยี่ยมชมเรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกัน ยูเอสเอส คาร์ล วินสัน (USS Carl Vinson) ที่กำลังอยู่ระหว่างเดินทางเพื่อการปฏิบัติการสำแดง “เสรีภาพในการเดินเรือ” ในทะเลจีนใต้

การไปเยี่ยมชมคราวนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนไม่มีผิดพลาดว่า ความเป็นพันธมิตรที่มีอายุยาวนานเป็นศตวรรษแล้วระหว่างฟิลิปปินส์กับสหรัฐฯ ยังคงปรากฏเสียงก้องสะท้อนอยู่แม้กระทั่งในหมู่พันธมิตรทางการเมืองระดับอาวุโสที่สุดของดูเตอร์เต ถึงแม้คนเหล่านี้ปากอาจจะพูดจาสนับสนุนข้อเรียกร้องต้องการของดูเตอร์เตที่จะดำเนินนโยบายการต่างประเทศซึ่งเป็นอิสระมากยิ่งขึ้นก็ตาม ดูเตอร์เตนั้นได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนอย่างแข็งแกร่งก็จริงอยู่ แต่เขามีความตระหนักรับรู้เช่นกันว่า เขาไม่สามารถที่จะเพิกเฉยละเลยต่ออารมณ์ความรู้สึกของฝ่ายทหารที่ยังคงทรงอำนาจ และได้รับการจับจ้องยอมรับจากชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากว่าเป็นผู้พิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติผู้ทรงเกียรติภูมิ

ขณะที่ดูเตอร์เตแบมือขอความช่วยเหลือและการลงทุนจากจีนอยู่นั้น ลอเรนซานาก็ยังคงกำลังยืนมือของเขาออกไปในเชิงยุทธศาสตร์เพื่อแสดงการยินดีต้อนรับสหรัฐอเมริกา

ริชาร์ด จาวัด เฮย์ดาเรียน เป็นอาจารย์รัฐศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเดอลาซาล (De La Salle University), ฟิลิปปินส์ เขาเขียนบทความเผยแพร่สื่อชื่อดังต่างๆ จำนวนมาก และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Asia’s New Battlefield: US, China, and the Struggle for Western Pacific” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Zed ในกรุงลอนดอน

หมายเหตุผู้แปล

[1] กรณี “เบนแฮม ไรซ์” (Benham Rise) มีรายงานข่าว 3 ชิ้นที่เผยแพร่ในช่วงใกล้ๆ นี้ คือ เรื่อง Philippines stresses rights to undersea area amid suspicions about China ของสำนักข่าวรอยเตอร์ เมื่อวันที่ 14 มี.ค. เรื่อง China can’t conduct surveys at Benham Rise – Justice Carpio ของ inquirer.net เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ฟิลิปปิน เดลี่ อินไควเรอร์ (Philippine Daily Inquirer) วันที่ 14 มี.ค. และเรื่อง China says has no dispute with Philippines over Benham Rise ในวันที่ 23 มี.ค. ซึ่งให้มุมมองและข้อมูลข้อเท็จจริงที่เพิ่มเติมและแตกต่างออกไปจากข้อเขียนของ ริชาร์ด จาวัด เฮย์ดาเรียน ชิ้นนี้ จึงขอเก็บความนำมาเสนอไว้ ณ ที่นี้:

ฟิลิปปินส์ย้ำสิทธิเหนือพื้นที่ใต้ทะเลท่ามกลางความระแวงสงสัยจีน
โดย สำนักข่าวรอยเตอร์

Philippines stresses rights to undersea area amid suspicions about China
By Reuters
14/03/2017

ฟิลิปปินส์เปิดฉากรุกในวันอังคาร (14 มี.ค.) เพื่อยืนกรานสิทธิอธิปไตยเหนือพื้นที่จับปลาแห่งหนึ่งในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเน้นย้ำว่าจำเป็นที่จะต้องเข้าพิทักษ์ปกป้องบริเวณดังกล่าว หลังจากตรวจพบเรือสำรวจของจีนลำหนึ่งเข้าไปในพื้นที่นั้นเมื่อปีที่แล้ว

มะนิลาได้ยื่นประท้วงทางการทูตต่อปักกิ่ง หลังจากตรวจสอบพบเรือของจีนลำหนึ่งแล่นไปๆ มาๆ เหนือ เบนแฮม ไรซ์ ซึ่งเป็นพื้นที่กว้างขวางใหญ่โตทางด้านตะวันออกของฟิลิปปินส์ที่สหประชาชาติประกาศรับรองในปี 2012 ว่าเป็นส่วนหนึ่งของไหล่ทวีปของฟิลิปปินส์

ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ได้เรียกร้องในวันจันทร์ (13 มี.ค.) ให้จัดสร้าง “สิ่งก่อสร้างต่างๆ” ขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อแสดงเขตอำนาจของฟิลิปปินส์ รวมทั้งยังบอกกับกองทัพเรือว่า ถ้าหากเรือของจีนกลับมายังบริเวณดังกล่าวอีก “ก็ให้ไปที่นั่นและบอกพวกเขาตรงไปตรงมาว่าตรงนี้เป็นของเรา”

การผลักดันในลักษณะเปิดฉากรุกก่อนของฟิลิปปินส์เที่ยวนี้ เป็นการตอกย้ำความไม่ไว้วางใจจีนเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของแดนมังกรในทะเลจีนใต้ที่ดำรงคงอยู่มาอย่างยาวนานหลายสิบปี ถึงแม้ความบาดหมางเช่นนี้ได้ถูกวางพักเอาไว้ก่อนเป็นส่วนใหญ่ นับตั้งแต่ที่ดูเตอร์เตขึ้นนับตำแหน่งและมุ่งเน้นติดต่อสัมพันธ์กับปักกิ่งเพื่อผลทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ออกคำแถลงว่า เบนแฮม ไรซ์ พื้นที่ใต้ทะเลใหญ่โตกว้างขวางขนาด 13 ล้านเฮกตาร์ (ราว 81.25 ล้านไร่) ซึ่งอุดมด้วยปลาทูนาครีบเหลืองและสิ่งมีชีวิตต่างๆ อย่างหลากหลายนั้น ไม่ได้มีปัญหาอะไร และไม่ได้มีผู้อ้างสิทธิ์อย่างเป็นปรปักษ์

“มันไม่สามารถที่จะมาพิพาทโต้แย้งใดๆ ได้เลย เพราะไม่มีประเทศอื่นใดทั้งสิ้นซึ่งประกาศอ้างสิทธิ์ทับซ้อนเหนืออาณาบริเวณตรงนั้น” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชาร์ลส์ โฮเซ ระบุในคำแถลง

“ดังนั้น ในเรื่องประเทศหนึ่งประเทศใดซึ่งใช้สิทธิอธิปไตยและเขตอำนาจ (เหนือเบนแฮม ไรซ์) แล้ว เราคือประเทศเดียวเท่านั้นซึ่งมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการสำรวจและในการใช้ประโยชน์เหนือทรัพยากรแห่งชาติในเบนแฮม ไรซ์ มันจึงเป็นความรับผิดชอบของเราที่จะต้องปกป้องพื้นที่นี้”

พวกเจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์กำลังสงสัยข้องใจ และกล่าวว่าเรือจีนลำดังกล่าวไม่ได้เพียงแค่แล่นผ่านพื้นที่ตรงนั้นเฉยๆ แต่กำลังทำการสำรวจ

โดยทางการแล้ว ไม่ได้มีข้อพิพาทใดๆ เหนือเบนแฮม ไรซ์ และคำแถลงต่างๆ ของฝ่ายจีนในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ก็ไม่ได้แสดงท่าทีท้าทายคำแถลงทั้งหลายของฝ่ายฟิลิปปินส์ในเรื่องเขตอำนาจของพื้นที่ดังกล่าว

เป็นต้นว่า กระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงในวันศุกร์ (10 มี.ค.) ที่ผ่านมาว่า เรือลำนั้นของแดนมังกร เพียงกำลังแสดง “เสรีภาพในการเดินเรือตามปกติและสิทธิของการผ่านโดยสุจริตตามปกติ” และไม่มีอะไรมากกว่านั้น

ทางด้าน เออร์เนสโต อาเบญา โฆษกประจำทำเนียบประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ระบุว่า การเดินทางผ่านเช่นนั้นเป็นเรื่องที่สามารถยอมรับได้ แต่เขาก็ย้ำว่า “พวกเขา (จีน) จะไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ตรงนั้นและจัดสร้างสิ่งก่อสร้างใดๆ ทั้งสิ้น” เขาย้ำ

(ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ http://www.reuters.com/article/us-philippines-china-idUSKBN16L1CD)

จีนไม่สามารถทำการสำรวจพื้นที่ ‘เบนแฮม ไรซ์’- ผู้พิพากษาคาร์ปิโอยืนยัน
โดย inquirer.net

China can’t conduct surveys at Benham Rise – Justice Carpio
By inquirer.net
14/03/2017

รัฐบาลจีนไม่สามารถที่จะทำการสำรวจด้วยคลื่นไหวสะเทือน (seismic surveys) เพื่อค้นหาน้ำมัน, ก๊าซ, และแร่ธาตุต่างๆ ในพื้นที่เบนแฮม ไรซ์ ผู้พิพากษาอาวุโสของศาลสูงสุด (Supreme Court Senior Associate Justice) อันโตนิโอ คาร์ปิโอ (Antonio Carpio) ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่ง

คาร์ปิโอ ซึ่งร่วมอยู่ในคณะผู้แทนฟิลิปปินส์ที่ไปให้การต่อศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration หรือ PCA) ในกรุงเฮก ที่อยู่ในความอุปถัมภ์ของสหประชาชาติ เมื่อปี 2015 และได้รับคัดเลือกจากประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ให้เป็นที่ปรึกษาในประเด็นปัญหาทางดินแดนซึ่งฟิลิปปินส์มีอยู่กับจีน กล่าวในคำแถลงว่า ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea หรือ UNCLOS) น้ำมัน, ก๊าซ, และแร่ธาตุ ซึ่งอยู่ในส่วนขยายของไหล่ทวีป (Extended Continental Shelf หรือ ECS) สงวนเอาไว้ให้แก่ฟิลิปปินส์เท่านั้น

ผู้พิพากษาศาลสูงสุดผู้นี้บอกว่า ในขณะที่เบนแฮม ไรซ์ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนแห่งชาติของฟิลิปปินส์ แต่คณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยข้อจำกัดต่างๆ ของไหล่ทวีป (UN Commission on the Limits of the Continental Shelf) ได้ยืนยันแล้วว่า มันเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ ECS ของฟิลิปปินส์

“เรามีสิทธิอธิปไตยเหนือพื้นที่นี้ เพราะเรามีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะทำการสำรวจและใช้ประโยชน์จากน้ำมัน, ก๊าซ, และทรัพยากรแร่ธาตุอื่นๆ ในพื้นที่ดังกล่าว” คาร์ปิโอแจกแจง

“ถ้าเรือของจีนดำเนินการสำรวจด้วยคลื่นไหวสะเทือน เพื่อค้นหาน้ำมัน, ก๊าซ, และแร่ธาตุแล้ว พวกเขาไม่สามารถกระทำได้เพราะ UNCLOS สงวนน้ำมัน, ก๊าซ, และแร่ธาตุในพื้นที่ ECS เอาไว้ให้แก่ฟิลิปปินส์เท่านั้น” คาร์ปิโอกล่าวต่อ

แต่คาร์ปิโออธิบายด้วยว่า รัฐอื่นๆ อย่างเช่นจีนมีสิทธิที่จะดำเนินการวิจัยด้านการจับปลาในเบนแฮม ไรซ์ “เพราะพวกปลาในพื้นที่ ECS ถือเป็นสมบัติของมนุษยชาติ”

นอกเหนือจากวิจัยด้านการประมงแล้ว เขากล่าวว่าประเทศอื่นๆ อย่างเช่นจีน ยังสามารถที่จะดำเนินการสำรวจเกี่ยวกับความเค็มของน้ำและกระแสน้ำ เพราะส่วนของน้ำ (water column) ในพื้นที่ ECS ก็ถือเป็นสมบัติของมนุษยชาติ

จีนและประเทศอื่นๆ ยังได้รับอนุญาตให้ดำเนินการวัดความลึกเพื่อวัตถุประสงค์ในการเดินเรือ เพราะประเทศต่างๆ มีเสรีภาพที่จะเดินเรือในพื้นที่ ECS

“ถ้าเรือของจีนกำลังมองหาช่องทางสำหรับให้เรือดำน้ำแล่นผ่าน และพื้นที่สำหรับการจอด นั่นจะเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพในการเดินเรือ และฟิลิปปินส์ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะทำการร้องเรียน” คาร์ปิโอกล่าวต่อ

(อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ฟิลิปปิน เดลี่ อินไควเรอร์http://globalnation.inquirer.net/153320/china-cant-conduct-surveys-benham-rise-justice-carpio#ixzz4bMehEmLA)

จีนไม่ได้มีข้อพิพาทกับฟิลิปปินส์เรื่องพื้นที่ ‘เบนแฮม ไรซ์’
โดย สำนักข่าวรอยเตอร์

China says has no dispute with Philippines over Benham Rise
By Reuters
23/03/2017

จีนกับฟิลิปปินส์ไม่ได้มีและก็จะไม่มีข้อพิพาทกันในเรื่องเบนแฮม ไรซ์ กระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงในวันพฤหัสบดี (23 มี.ค.) อันเป็นการอ้างอิงถึงอาณาบริเวณอันกว้างขวางในทะเลทางด้านตะวันออกของฟิลิปปินส์ ซึ่งสหประชาชาติประกาศว่าเป็นส่วนหนึ่งของไหล่ทวีปของแดนตากาล็อก

ก่อนหน้านี้ในเดือนนี้ รัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์เคยกล่าวว่า เขาเชื่อว่าจีนได้ดำเนินภารกิจสำรวจหลายๆ ครั้งลึกเข้าไปในพื้นที่เบนแฮม ไรซ์ ซึ่งอยู่นอกชายฝั่งด้านตะวันออกของแดนตากาล็อก และอยู่ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลของฟิลิปปินส์

ฝ่ายจีนได้เคยบอกปัดความวิตกกังวลเหล่านี้มาแล้วหลายครั้ง โดยระบุว่าเรือของตนเพียงแค่แล่นผ่านน่านน้ำบริเวณดังกล่าวเท่านั้น

ในคำแถลงฉบับใหม่ซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศจีน ทางกระทรวงบอกว่า ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งหมด “ถูกทำให้ตื่นเต้นโครมครามขึ้นมา”

“จีนให้ความเคารพอย่างเต็มที่ต่อสิทธิต่างๆ แห่งพื้นที่ทางทะเลของฟิลิปปินส์ ที่มีเหนือเบนแฮม ไรซ์ ในจุดนี้ มันไม่ได้เคยเป็น, เวลานี้ก็ไม่เป็น, และในอนาคตก็จะไม่เป็นข้อพิพาทระหว่างจีนกบฟิลิปปินส์ขึ้นมา” กระทรวงการต่างประเทศจีนบอก

จีนกับฟิลิปปินส์ได้ทำงานกันหนักมากในช่วงปีที่ผ่านมาเพื่อปรับปรุงยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกัน และจีน และจีนก็ตั้งความหวังอย่างสูงต่อเรื่องนี้ คำแถลงนี้กล่าว

จีนจะยังคงอุทิศตนเพื่อ “จัดการอย่างถูกต้องเหมาะสม” กับประเด็นปัญหาทางทะเลต่างๆ กระทรวงการต่างประเทศจีนบอก

(ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ http://www.reuters.com/article/us-china-philippines-idUSKBN16U165)


กำลังโหลดความคิดเห็น