xs
xsm
sm
md
lg

‘ทรัมป์’ขึ้นเป็น‘ประธานาธิบดี’ยิ่งเร่งทวีจินตนาการโลกเลวร้าย‘ดิสโทเปีย’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: จอห์น เฟฟเฟอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

The Trump presidency doubling down on dystopia
By John Feffer
14/03/2017

นวนิยาย/ภาพยนตร์/แฟชั่นในแนวเล่าถึงสังคมหรือโลกที่เต็มไปด้วยความมืดมนแบบ “ดิสโทเปีย” นั้น เป็นที่นิยมชมชื่นในปัจจุบัน กระทั่งกลายเป็น “แนวการเล่าเรื่องแบบที่ขาดไม่ได้สำหรับคนรุ่นนี้” ไปแล้ว ครั้นเมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งผู้คนจำนวนมากเห็นกันว่าคือ “ดิสโทเปีย” ในชีวิตจริง ปรากฏว่าผลงาน “ดิสโทเปีย” ก็ยิ่งได้รับการต้อนรับเพิ่มมากขึ้นอีก

นวนิยาย/ภาพยนตร์/แฟชั่นในแนว “ดิสโทเปีย” (Dystopia สังคมหรือรัฐที่เงื่อนไขการดำรงชีวิตมีความเลวร้ายเป็นอย่างยิ่ง โดยอาจเนื่องมาจากความยากไร้ขาดแคลน, การถูกกดขี่, การเผชิญกับความโหดเหี้ยมสยดสยอง –คำอธิบายจาก WordNet (r) 3.0 (2006)-ผู้แปล) กำลังประสบความสำเร็จได้รับความนิยมอย่างสูงจนแลดูกลาดเกลื่อนล้นหลามไปหมดในช่วงหลังๆ มานี้ เด็กๆ ถูกดึงดูดจากเรื่องราวของ The Giver, Hunger Games เช่นเดียวกับการทำตัวเป็นพวก “โกธ” (Goth ที่แต่งกายด้วยชุดดำ ย้อมผมทาเล็บด้วยสีดำ และนิยมดนตรีแนวโกธิค ร็อก Gothic Rock) หรือแฟชั่นเจาะเนื้อตัวร่างกาย หนังชุดทางทีวีที่มีเนื้อเรื่องพูดถึงอวสานของโลกจากการออกอาละวาดของพวกผีดิบซอมบี้, จากการระบาดของเชื้อโรคร้าย, หรือจากความคลุ้มคลั่งในทางเทคโนโลยี ถูกผลิตออกมาให้ดูกันอย่างท่วมท้น ขณะที่บนจอใหญ่ในโรงภาพยนตร์ เราได้เห็นโลกตกอยู่ในสภาพเลวร้ายชวนสยองกันเป็นพันเป็นหมื่นครั้ง

การไหลทะลักออกมาของเรื่องราวแห่งอวสานของโลกเช่นนี้ ดำเนินไปอย่างดุเดือดมาก จนกระทั่งเริ่มมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเกี่ยวกับ “จุดสูงสุดของการเล่าเรื่องแนวดิสโทเปีย” (peak dystopia) [1] ตั้งแต่เมื่อหลายปีมาแล้ว กระนั้นสต็อกของนิยาย/หนังเกี่ยวกับวันสุดท้ายของโลกก็ไม่ได้มีสัญญาณส่อแสดงให้เห็นว่ากำลังลดต่ำเสื่อมมนตร์ขลังลงไป ถึงแม้ยังคงมีการผลิตงานใหม่ๆ ออกมาเต็มแน่นไปหมดไม่ขาดสาย (ตรงนี้ผมต้องขอสารภาพบาปหน่อยนะครับ จากนวนิยายที่ได้รับการตีพิมพ์เมื่อเร็วๆ นี้ของผม คือ เรื่อง Splinterlands [2] ตัวผมเองก็มีส่วนอยู่เล็กน้อยเหมือนกันในการทำให้ตลาดดิสโทเปียเกิดการท่วมท้นล้นหลาม) อย่างที่นักเขียนนวนิยาย จูโนต์ ดิแอซ (Junot Diaz) แสดงความคิดเห็นเอาไว้เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมานั่นแหละ แทนที่จะถึงจุดสูงสุดที่ใครๆ จะพากันเบื่อหลายบอกศาลา ดิสโทเปียกลับกลายเป็น “การเล่าเรื่องแบบที่ขาดไม่ได้สำหรับคนรุ่นนี้” ไปแล้วด้วยซ้ำ [3]

ไม่นานนักหลังจากดิแอซแสดงความเห็นในเรื่องนี้ ดิสโทเปียยังกลายเป็นการเล่าเรื่องแบบที่ขาดไม่ได้สำหรับการเมืองอเมริกันไปอีกด้วย เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวออกมาจากฉากของรายการทีวีเรียลลิตี้โชว์ “ดิ เซเลบริตี้ แอปเพรนทิซ” (The Celebrity Apprentice) และเดินเข้าสู่ห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาว ทั้งนี้จากการได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของบุรุษผู้หลงตัวเองระดับโคตร ๆ ซึ่งไร้ความสามารถที่จะจำแนกแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงกับจินตนาการผู้นี้ ฝันร้ายแบบดิสโทเปียทั้งหลายทั้งปวงที่ชุมนุมเฝ้ารออยู่เหมือนดังเมฆครึ้มดำมหึมาของมหาพายุร้ายตรงบริเวณขอบฟ้า --ฉับพลันนั้นก็ได้เคลื่อนตัวลอยมาอยู่ตรงเหนือศีรษะ (ในภาพยนตร์ ถึงตรงนี้ต้องเป็นคิว เสียงคำรามของฟ้าร้อง และแสงแปรบปราบของฟ้าแลบ)

ปฏิกิริยาตอบโต้ของผู้คนจำนวนมากในหมู่ชนที่รู้สึกหวาดผวาสยดสยองจากผลของการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดนั้น ปรากฏออกมาให้เห็นเป็น 4 ขั้น 4 จังหวะด้วยกัน

เริ่มแรกสุดคือการปฏิเสธไม่ยอมรับ –นับตั้งแต่ความรู้สึกหวั่นกลัวสุดชีวิตที่กระแทกใส่ร่างแหประสาทบริเวณช่วงท้องขณะที่ผลการนับคะแนนค่อยๆ ไหลเอื่อยๆ เข้ามาเรื่อยๆ ในคืนวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2016 ไปจนถึงความรู้สึกลังเลรีรออย่างจืดชืดตีบตันจนกระทั่งไม่อยากลุกขึ้นจากเตียงนอนในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น ขั้นถัดมาคือจินตนาการที่ปรารถนาจะหลบหนีไปไกลๆ อย่างที่มีชาวอเมริกันหลายหมื่นคนพากันตรวจเช็กดูว่าพาสปอร์ตของพวกเขายังไม่ได้หมดอายุและใช้เดินทางไปต่างประเทศได้อยู่ ตลอดจนยังมีช่องทางอะไรบ้างไหมสำหรับการอพยพลี้ภัยไปพำนักอาศัยในนิวซีแลนด์ แล้วก็ถึงระยะที่สาม ได้แก่การต่อต้าน โดยมีผู้คนเรือนล้านๆ หลั่งไหลลงสู่ท้องถนนเพื่อแสดงการประท้วงคัดค้าน, ระดมกำลังรวมตัวกันตามสนามบินต่างๆ เพื่อแสดงการต้อนรับผู้อพยพที่ถูกห้ามเดินทางเข้าสหรัฐฯอยู่พักหนึ่ง, รวมทั้งหลั่งไหลไปเข้าร่วมรายการพบประชาชนของพวกสมาชิกรัฐสภาเพื่อแสดงความทุกข์ร้อนคับข้องใจของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นชาวพรรครีพับลิกันหรือจะเป็นชาวพรรคเดโมแครต

ขั้นตอนที่สี่ ซึ่งอันที่จริงก็เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันกับขั้นตอนอื่นๆ ทั้งหมด ได้แก่การขุดคุ้ยเข้าไปในบรรดางานแนวดิสโทเปียของยุคอดีต ราวกับว่างานเหล่านี้บรรจุเอาไว้ด้วยรหัสลับดาวินชี (Da Vinci code) บางอย่างบางประการ ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถไขปริศนาทำความเข้าใจต่อสภาพสุดกล้ำกลืนฝืนทนของพวกเราในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้ว่า ผลงานคลาสสิกอย่าง It Can’t Happen Here ของซินแคลร์ ลิวอิส (Sinclair Lewis), 1984 ของ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) และ The Handmaid’s Tale ของ มาร์กาเร็ต แอตวูด (Margaret Atwood) กลับมาไต่อันดับเข้าสู่รายชื่อหนังสือเบสต์เซลเลอร์กันอย่างรวดเร็ว [4]

การเปลี่ยนความสนใจจากดิสโทเนียแห่งความเป็นจริง ไปสู่ดิสโทเปียแห่งนวนิยายเช่นนี้ อาจจะดูเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับสามัญสำนึก หรือกระทั่งมองได้ว่าเป็นรูปแบบที่ดื้อรั้นดึงดันของลัทธิหลบหนีความเป็นจริง กระนั้นก็ขอให้ตระหนักด้วยว่า การที่นวนิยายเหล่านี้กลายเป็นผลงานเบสต์เซลเลอร์ในยุคสมัยของพวกมันเองได้นั้น ที่สำคัญทีเดียวเป็นเพราะงานเหล่านี้ให้ที่หลบภัยพักพิงแก่คนอ่าน และเล่าบรรยายเรื่องราวการต้านทานต่อสู้ของพวกผู้คนซึ่งหวาดกลัว ต่อการก้าวผงาดขึ้นมาของลัทธินาซี (ในกรณีของ It Can’t Happen Here), ต่อการแพร่กระจายของลัทธิสตาลิน (ในกรณีของ 1984), และต่อการฟื้นคืนกลับมาของแนวคิดเกลียดชังผู้หญิงโดยที่รัฐก็หนุนหลังความเกลียดชังเช่นนี้ด้วย ในยุคของ (อดีตประธานาธิบดีโรนัลด์) เรแกน (ในกรณีของ The Handmaid’s Tale)

ในทุกวันนี้ เมื่อพวกนักหนังสือพิมพ์กำลังมัวสาละวนยื้อแย่งแข่งกันทำรายงานข่าวเกี่ยวกับโทสะความกราดเกรี้ยวล่าสุดที่คำรามออกมาจากทำเนียบขาว บางทีมันก็อาจจะเป็นเรื่องตามธรรมชาติธรรมดาอยู่แล้วที่บรรดาผู้อ่านจะมุ่งแสวงหาแหล่งหลบภัยในผลงานต่างๆ เหล่านี้ของนักเขียนซึ่งเป็นผู้ที่มุ่งพินิจเสนอมุมมองด้วยทัศนะอันกว้างขวางยาวไกลยิ่งกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นย่อมเป็นที่เข้าใจกันได้อยู่แล้วถึงแรงกระตุ้นที่ทำให้ต้องการพลิกไปยังหน้าถัดไปและค้นพบว่าเกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น การบอกเล่าบรรยายเรื่องในแนวดิสโทเปียมีให้อ่านให้เสพอยู่ตรงนั้น ส่วนหนึ่งก็มีส่วนช่วยให้เราสามารถทำใจยอมรับความเป็นจริงที่เลวร้ายมากยิ่งขึ้นได้ ขณะเดียวกันก็ระบุบ่งบอกถึงหนทางต่างๆ ที่เป็นไปได้สำหรับหลุดออกมาจากการหมุนวนดำดิ่งสู่นรกล้ำลึกลงทุกทีๆ

อย่างไรก็ตาม ผลงานคลาสสิกแนวดิสโทเปีย ใช่ว่าจะมีความเหมาะสมสอดคล้องกับช่วงขณะปัจจุบันของเราเสมอไป โดยทั่วไปแล้วผลงานเหล่านี้บรรยายเล่าเรื่องพวกรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ตกอยู่ใต้การควบคุมบัญชาของตัวบุคคลที่เป็น “บิ๊ก บราเธอร์” (Big Brother) และผู้ทรงอำนาจเหนือทุกๆ ส่วนซึ่งควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างจากส่วนกลาง อันเป็นฉากสถานการณ์ของระบอบเผด็จการฟาสซิสต์หรือคอมมิวนิสต์ หรือเฉกเช่นเกาหลีเหนือในปัจจุบัน แน่นอนทีเดียวว่าโดนัลด์ ทรัมป์นั้นต้องการให้ใบหน้าของเขาปรากฏโฉมอยู่ในทุกหนทุกแห่ง, ชื่อของเขาประทับอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง, และตัวของเขาเข้าไปจุ้นจ้านอยู่ในทุกๆ เรื่อง ทว่าอันตรายของชั่วขณะแห่งดิสโทเปียในปัจจุบัน ยังไม่ได้อยู่ตรงที่ว่ากำลังมีการรวมศูนย์อำนาจการควบคุม ยังไงก็ยังไม่ใช่ในขณะนี้

ยุคสมัยของทรัมป์เท่าที่ผ่านมาจนถึงบัดนี้ ล้วนแต่เป็นเรื่องของการทำให้ศูนย์กลางอยู่ในสภาพไม่สามารถยึดกุมอะไรเอาไว้ได้ มันเป็นยุคสมัยซึ่งถ้าใช้คำของกวี วิลเลียม บัตเลอร์ เยตส์ (William Butler Yeats) ก็ต้องบอกว่า “สิ่งต่างๆ กำลังแตกกระจุยกระจาย” (things fall apart) ลืมไปได้เลยผลงานการศึกษาเรื่อง The Origins of Totalitarianism (ต้นกำเนิดของลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จ) ของ ฮันนาห์ อาเรนดต์ (Hannah Arendt) ซึ่งเวลานี้กลายเป็นหนังสือขายแรงเล่มหนึ่งในแอมะซอน (Amazon) เช่นเดียวกัน แล้วหันมาโฟกัสให้มากขึ้นกับทฤษฎีไร้ระเบียบ (chaos theory) โดยที่คำว่า ความไม่สามารถคาดทำนายได้ (unpredictability), การขาดไร้ความสามารถ (incompetence), และการรื้อทำลาย (demolition) ต่างหากที่กำลังกลายเป็นคติพจน์แบบดิสโทเปียของช่วงขณะแห่งปัจจุบันนี้ ในขณะที่โลกกำลังคุกคามที่จะแยกแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ต่อหน้าต่อตาของพวกเรา

อย่าได้ถูกหลอกจากการที่ทรัมป์เฝ้าพูดถึงความรุ่งเรืองเฟื่องฟูจากการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานมูลค่าระดับหลักล้านล้านดอลลาร์ แท้จริงแล้วทีมของเขากำลังมีโปรเจ็กต์ที่แตกต่างออกไปมากเหลือเกินอยู่ในใจ ป้ายบอกทางข้างหน้าระบุเอาไว้แล้วว่า สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปคือ “การรื้อถอน” (Deconstruction)

การเลือกตั้งที่ลงคะแนนตัดสินโดยพวกซอมบี้

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2016 ตอนที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะในการเลือกตั้งขั้นต้นแบบไพรมารี (primary) ครั้งแรกสุดของเขาที่มลรัฐนิวแฮมเชียร์ หนังสือพิมพ์นิวยอร์กเดลี่นิวส์ (New York Daily News) พาดหัวข่าวว่า “รุ่งอรุณของพวกสมองตายซาก” (Dawn of the Brain Dead) และเสนอรายงานข่าวโดยเชื่อมโยงปะติดปะต่อระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนที่เป็นชาวพรรครีพับลิกันของทรัมป์ กับ “พวกซอมบี้ไร้สมองไร้ความคิด” (mindless zombies) นี่ไม่ใช่เป็นการกระทำอะไรที่เกินเลยไปหรอก อเล็กซ์ โจนส์ (Alex Jones) นักป้อนข่าวเท็จผู้มีจิตใจหมกมุ่นกับทฤษฎีสมคบคิด ก็เรียกขานพวกผู้สนับสนุนฮิลลารี คลินตัน อยู่เป็นประจำว่าเป็น “พวกซอมบี้” ในเว็บไซต์ “อินโฟวอร์ส” (Infowars) ที่คอยเชียร์คอยมองทรัมป์ในทางบวกของเขา

การพาดพิงอ้างอิงถึงซอมบี้เช่นนี้ ว่าไปแล้วก็เป็นการเปิดเผยให้เห็นถึงหลักความเชื่อที่มองโลกว่ากำลังมาถึงวันวินาศอวสานของทั้งสองฝ่าย โดนัลด์ ทรัมป์นั้นจงใจที่จะต่อสายหาประโยชน์จากแรงกระตุ้นในเรื่องเกี่ยวกับวาระสุดท้ายของโลกของพวกคริสเตียนที่ยึดมั่นพระธรรมคัมภีร์เคร่งครัดและต้องการให้คนอื่นๆ หันมาปฏิบัติตามอย่างตัวเองด้วย (Christian evangelicals), ตลอดจนพวกต่อต้านโลกาภิวัตน์ (anti-globalists) และพวกกระตือรือร้นเรียกร้องอำนาจของคนผิวขาว (white power enthusiasts) คนเหล่านี้ต่างมีทัศนะว่าใครก็ตามที่มิได้ดื่มยาชูกำลังของพวกเขาล้วนแล้วแต่เป็นพวกจิตวิญญาณตายด้าน ขณะที่ในเวลาเดียวกันนั้นเอง พวกซึ่งหวาดผวาว่าอภิมหาเศรษฐีจอมขี้คุยผู้นี้อาจจะกลายเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ก็เริ่มต้นแพร่กระจายมุกเกี่ยวกับวันโลกาวินาศเมื่อทรัมป์ขึ้นครองเมือง (Trumpocalypse meme) ทางสื่อสังคมกันยกใหญ่ โดยพวกเขามุ่งเตือนว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นมา ย่อมได้แก่ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่จะยิ่งร้ายแรงสาหัสยิ่งขึ้นอีก, การพังทลายของเศรษฐกิจโลก, และการระเบิดขึ้นมาของสงครามระหว่างคนต่างเชื้อชาติ ทั้งนี้ในทางเป็นจริง ดูเหมือนไม่มีพื้นที่ตรงกลางๆ ใดๆ สำหรับ 2 กลุ่มนี้เลย ยกเว้นแต่พวกซึ่งตัดสินใจที่จะหลบเลี่ยงไม่สนใจใยดีกับการเลือกตั้งคราวนี้ ความรู้สึกที่แต่ละข้างต่างมองอีกฝ่ายหนึ่งอย่างรู้สึกรังเกียจเหยียดหยามกันและกัน อันที่จริงก็เป็นรูปแบบหนึ่งของกระบวนการในการถืออีกฝ่ายหนึ่งมิได้เป็นมนุษย์ และเท่ากับแปะป้ายให้เป็นพวกซอมบี้กลายๆ อยู่แล้ว

ยังมีเหตุผลอีกประการหนึ่งซึ่งทำให้คำว่าซอมบี้ กลายเป็นคำอุปมาทางการเมืองที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้กันมากมาย สิ่งซึ่งทำให้ซอมบี้ หรือพวกผีดิบที่คอยไล่ล่าตามกินเนื้อคนในเวอร์ชั่นการตีความในปัจจุบัน ดูน่าหวาดกลัวน่าสยดสยอง อยู่ตรงที่ว่าพวกเขาไม่ได้มีลักษณะการจัดตั้งเป็นกองทัพรูปแบบใดๆ ซอมบี้ไม่มีผู้นำ ซอมบี้ไม่มีแผนการทำศึก ถึงแม้พวกเขาออกอาละวาด คอยตามล่าหาเหยื่อกันเป็นฝูงใหญ่ๆ “การที่พวกเรามีความติดอกติดใจเกี่ยวกับซอมบี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมันเป็นการสับเปลี่ยนตำแหน่งกับความรู้สึกหวาดกลัวผู้อพยพ” ผมเขียนเอาไว้เช่นนี้ในปี 2013 [5] “กับความรู้สึกหวาดกลัวต่อการที่จีนกำลังเข้าแทนที่สหรัฐฯในฐานะระบบเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลก, กับการที่หุ่นยนต์กำลังเข้าเทคโอเวอร์คอมพิวเตอร์ของเรา, กับการที่ตลาดการเงินสามารถที่จะหลอมสลายพังครืนลงมาเพียงแค่ช่วงเช้าวันเดียวเท่านั้น”

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ซอมบี้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความว้าวุ่นใจจากการสูญเสียอำนาจควบคุมสืบเนื่องจากการติดต่อสัมพันธ์กับกระบวนการโลกาภิวัตน์ เมื่อพิจารณาจากบริบทนี้ การที่พวกประเทศกำลังพัฒนาพากันผงาดขึ้นมาในทางเศรษฐกิจ ทำให้ชาวตะวันตกจำนวนมากทีเดียวเกิดภาพผุดขึ้นมาในใจว่า มีมวลมหาชนผู้บริโภคทรัพยากรที่ไม่อาจจำแนกได้ว่าเป็นใครมาจากไหนกันบ้าง หรืออันที่จริงแล้วอาจจะมองแทบไม่เห็นอะไรอย่างอื่นนอกจากว่าเป็นคนอื่นๆ ที่หิวโหยและมีปากซึ่งตั้งอยู่บนขาสองข้าง ฝูงชนเหล่านี้กำลังตรงรี่เข้ามาถล่มป้อมปราการที่คอยพิทักษ์คุ้มครองโลกตะวันตกอยู่

ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ทีมงานของทรัมป์พยายามดึงดูดใจพวกที่รู้สึกหวาดกลัวมากๆ ด้วยการจัดทำโฆษณาหลายชิ้นที่นำออกเผยแพร่ในช่วงฉายซีรีส์ทีวียอดนิยมชุด “The Walking Dead” ด้วยความจงใจที่จะหาประโยชน์จากความรู้สึกวิตกกังวลต่อต้านผู้อพยพ ในทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง ทรัมป์ก็เร่งรัดทำให้เห็นว่ากำลังมีการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่หาเสียงเอาไว้ ทั้งในเรื่องการสร้างกำแพงขวางกั้นสหรัฐฯจากเม็กซิโก, การกีดกันชาวมุสลิมไม่ให้เข้าสหรัฐฯ, และการถอยกลับคืนเข้าไปอยู่ใน “ป้อมปราการแห่งอเมริกา” (Fortress America) เขายังใช้ความพยายามมากเป็นพิเศษในการหนุนเสริมความคิดที่ว่าโลกภายนอกเป็นสถานที่ซึ้งน่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง (ไม่เพียงเขาเอ่ยอ้างถึงการก่อการร้ายในปารีส หากยังพยายามเอ่ยอ้างถึงการก่อการร้ายซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจริงในสวีเดนอีกด้วย!) เขาทำราวกับว่า The Walking Dead ไม่ใช่หนังซีรีส์ที่แต่งกันขึ้นมา หากแต่เป็นหนังสารคดีบันทึกหลักฐานสิ่งที่เกิดขึ้นมาจริงๆ และภัยคุกคามจากพวกซอมบี้ก็เป็นของจริงเช่นกัน

การรวมศูนย์อำนาจมาไว้ในมือของฝ่ายบริหาร และหลักฐานซึ่งแสดงให้เห็นว่าตัวทรัมป์เองก็มีความปรารถนาที่จะใช้อำนาจเช่นนี้ด้วย ย่อมเป็นการก้องสะท้อนให้เกิดความหวาดกลัวดิสโทเปียแบบลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จในสไตล์ของนวนิยายเรื่อง 1984 มิหนำซ้ำยังมีการพูดจาโกหกหลอกลวงอย่างโจ่งแจ้งโจ๋งครึ่มเป็นพิเศษ, การโจมตีอย่างรุนแรงต่อต้านสื่อ โดยเรียกขานว่าเป็น “ศัตรูของประชาชน” ตลอดจนการพุ่งเป้าเล่นงานใส่ปรปักษ์ทั้งภายในและภายนอกในทุกๆ รูปแบบ ทว่าขณะนี้ไม่ใช่ช่วงขณะสำหรับเผด็จการเบ็ดเสร็จ ทรัมป์เองไม่ได้มีความสนใจที่จะก่อสร้างอภิรัฐอย่าง “โอเชียนเนีย” (Oceania) หรือแม้กระทั่งระบอบเผด็จการระดับแคว้นอย่าง “แอร์สตริป วัน” (Airstrip One) ซึ่ง จอร์จ ออร์เวลล์ บรรยายเอาไว้อย่างมีชีวิตชีวาน่าเชื่อถือในนวนิยายเรื่อง 1984 ของเขา

แทนที่จะเป็นเช่นนั้น คณะบริหารชุดใหม่กลับโฟกัสอยู่กับสิ่งที่ สตีเฟน แบนนอน (Stephen Bannon) หัวหน้านักยุทธศาสตร์ประจำทำเนียบขาวของทรัมป์และเป็นนักชาตินิยมผิวขาว (white nationalist) ตัวใหญ่ ได้เคยให้สัญญาไว้ว่าจะกระทำตั้งแต่เมื่อหลายๆ ปีก่อน นั่นคือ “ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างพังครืนลงมา” [6]

ดิสโทเปียแบบของสตีเฟน แบนนอน

พวกฝ่ายขวาก็มีดิสโทเปียในเวอร์ชั่นแบบ 1984 ของพวกเขาเองเช่นกัน พวกเขาพร่ำเตือนกันมานานแล้วว่าพวกเสรีนิยมนั้นต้องการที่จะสถาปนารัฐทรงอำนาจครอบงำทุกอย่างขึ้นมา ซึ่งจะจำกัดสิทธิในการเป็นเจ้าของครอบครองอาวุธปืน, ห้ามไม่ให้จำหน่ายน้ำอัดลมขนาดใหญ่ซูเปอร์ , และกระทั่งสร้างเรื่องเท็จที่ว่าในกฎหมายประกันสุขภาพของพรรคเดโมแครต หรือ “โอบามาแคร์” นั้น จะมีการบังคับจัดตั้ง “คณะกรรมการแห่งความตาย” (death panels) ขึ้นมาเพื่อตัดสินว่าคนชราและคนพิการคนไหนที่มีค่าควรแก่การดูแลรักษา พวกนักพยากรณ์ฝ่ายขวาเหล่านี้ไม่ได้เป็นกังวลอะไรนักเกี่ยวกับ “บิ๊ก บราเธอร์” (Big Brother จอมเผด็จการ) หากแต่รู้สึกวิตกเกี่ยวกับ “บิ๊ก แนนนี่” (Big Nanny รัฐที่ทำตัวเป็นพี่เลี้ยงใหญ่ของประชาชน) มากกว่า ถึงแม้คนที่มีแนวคิดสุดโต่งยิ่งกว่าคนอื่นๆ ในหมู่พวกเขายังกล่าวอ้างด้วยว่า พวกเสรีนิยมนั้นเป็นพวกเผด็จการฟาสซิสต์แอบแฝง, เป็นพวกคอมมิวนิสต์ปกปิดอำพราง, หรือกระทั่งเป็นสายลับของระบอบกาหลิบ (คอลีฟะฮ์) ของพวก “รัฐอิสลาม” (ไอเอส)

อย่างไรก็ดี เรื่องที่แปลกประหลาดเป็นอย่างมากก็คือ พวกดิสโทเปียปีกขวาเหล่านี้นี่แหละ –ไม่ว่าจะเป็น ซาราห์ เพ-ลิน (Sarah Palin) อดีตผู้สมัครตำแหน่งรองประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกัน ที่ออกมาป่าวร้องเรื่อง “คณะกรรมการแห่งความตาย” (ซึ่งไม่เคยมีจริง) [7], วุฒิสมาชิกทอม คอตตอน (Tom Cotton) แห่งพรรครีพับลิกันจากมลรัฐอาร์คันซอส์ ซึ่งออกมาระบุเรื่องการควบคุมอาวุธปืน [8], แอนน์ คุลเตอร์ (Ann Coulter) คอมเมนเตเตอร์และคอลัมนิสต์ฝ่ายขวา ที่อ้างเรื่องการห้ามขายน้ำอัดลมไซส์ยักษ์ [9] ตลอดจนพวกที่คอยไล่ติดตามเรื่องเล็กเรื่องน้อยคนอื่นๆ – กลับไม่เคยร้องทุกข์กันเลยเกี่ยวกับการสร้างอำนาจรัฐบาลขึ้นมาอย่างมากมายมหาศาลในด้านที่ทรงความสำคัญมากกว่านักหนา นั่นก็คือ ในแวดวงการทหารและหน่วยงานข่าวกรอง เอาเข้าจริงแล้ว ในเมื่อเวลานี้พวกเขากลับก้าวขึ้นมาครองตำแหน่งสูงสุดอีกครั้งหนึ่งเช่นนี้ พวก “อนุรักษนิยม” ที่กลับมาเป็นพวกเชียร์ทรัมป์กันใหม่เหล่านี้ ต่างแสดงความแฮปปี้สุดๆ ที่จะขยายอำนาจรัฐออกไป ด้วยการทุ่มเทงบประมารเพิ่มมากขึ้นให้แก่กระทรวงกลาโหม และกระทั่งเป็นไปได้ที่จะเพิ่มขอบเขตอำนาจให้แก่สำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ในการซักถามผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อการร้ายในเวลาต่อไปข้างหน้า และทั้งๆ ที่อัตราการเกิดคดีอาชญากรรมรุนแรงกำลังลดต่ำลง [10] (การกลับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อปี 2015 [11] แท้ที่จริงแล้วเป็นการบดบังข้อเท็จจริงที่ว่าสถิติการเกิดคดีอาชญากรรมร้ายแรงในปีหลังๆ มานี้ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์) ทว่าทรัมป์ก็ยังคงต้องการเพิ่มอำนาจให้แก่ตำรวจเพื่อรับมือกับ “การเข่นฆ่าสังหารโหด” คนอเมริกัน

สำหรับพวกเสรีนิยมแล้ว เท่าที่เป็นอยู่จนถึงเวลานี้มันก็ช่างเป็น 1984 เสียเหลือเกินแล้ว แต่กระนั้นก็ต้องบอกว่า พวกผู้คนหน้าใหม่ๆ ซึ่งมีแนวความคิดรุนแรงในคณะบริหารทรัมป์นั้น ไม่ได้มีวาระที่จะก่อตั้งรัฐอันทรงอำนาจมากยิ่งขึ้นกว่านี้ขึ้นมาหรอก แทนที่จะเป็นเช่นนั้น สิ่งซึ่งแบนนอนกล่าวปราศรัยในการประชุมปฏิบัติการทางการเมืองของชาวอนุรักษนิยม (Conservative Political Action Conference) ประจำปีนี้ โดยระบุว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งยวดอย่างแท้จริงสำหรับตัวเขา (และอาจสันนิษฐานได้ว่ามีความสำคัญยิ่งยวดอย่างแท้จริงสำหรับประธานาธิบดีทรัมป์ด้วยนั้น) กลับกลายเป็น “การรื้อทำลายรัฐทางการบริหาร” (deconstruction of the administrative state) [12] โดยในที่นี้ แบนนอนพูดอย่างเฉพาะเจาะจงถึงการปลดปล่อยให้อิสระแก่วอลล์สตรีท, บรรดาอุตสาหกรรมสร้างมลพิษ, ผู้จำหน่ายอาวุธปืน, ขณะเดียวกับที่เปิดเสรีอย่างกว้างขวางให้แก่พวกตัวแสดงทางเศรษฐกิจ โดยที่พวกเขาจะไม่ต้องเผชิญการถูกจำกัดจากระเบียบกฎเกณฑ์แทบจะทุกอย่างอีกแล้ว ทว่าจากตัวบุคคลที่ทรัมป์เสนอชื่อแต่งตั้งเข้ารับตำแหน่งในคณะรัฐบาล รวมทั้งข้อบ่งชี้แรกๆ จากสิ่งซึ่งจะกลายเป็นกฎหมายงบประมาณในยุคของทรัมป์ ดูเหมือนจะส่อแสดงให้เห็นถึงวาระอันกว้างไกลยิ่ง ซึ่งมุ่งหมายที่จะหักแข้งหักขาส่วนที่มิใช่การทหารของรัฐ ด้วยการพักงานหน่วยงานระดับกระทรวงทบวงกรมต่างๆ กันทั้งหน่วยงาน ตลอดจนควักไส้ควักพุงทำให้หน่วยงานบังคับใช้กฎระเบียบกลายเป็นสิ่งกลวงเปล่า บ๋ายบาย สำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency หรือ EPA) ลาก่อน กระทรวงศึกษาธิการ ขอให้โชคดี กระทรวงการเคหะและการพัฒนาชุมชนเมือง (Department of Housing and Urban Development หรือ HUD) เราจะคิดถึงพวกคุณอย่างแน่นอน ทั้ง บิ๊ก เบิร์ด (Big Bird ในรายการทีวีสำหรับเด็กชุด เซมามิ สตรีท ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก บรรษัทเพื่อการแพร่ภาพกระจายเสียงสาธารณะ Corporation for Public Broadcasting หรือ CPB และทรัมป์แสดงความต้องการที่จะยุบเลิกหน่วยงานนี้ -ผู้แปล) และงบประมาณช่วยเหลือต่างประเทศ

แม้กระทั่งกระทรวงการต่างประเทศเองก็ยังใช่ว่าจะปลอดภัยไม่ถูกรื้อทิ้งทำลาย ทั้งนี้ จากการที่พวกนักการทูตมืออาชีพพากันยื่นใบลาออกเป็นจำนวนมาก และทำเนียบขาวไม่ใช่กระทรวงแห่งนี้อีกต่อไปที่จะเป็นศูนย์ควบคุมเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เวลานี้รัฐมนตรีต่างประเทศ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน จึงกำลังถูกลดความสำคัญลงมา [13] จนกลายเป็นเพียงเครื่องประดับชิ้นหนึ่งให้แก่ระบอบ 3 ผู้ยิ่งใหญ่ (triumvirate) แห่งยุคนี้ ซึ่งได้แก่ ทรัมป์, แบนนอน, และ จาเรด คุชเนอร์ (Jared Kushner) บุตรเขยของทรัมป์ ที่เป็นพวกซึ่งเข้าเทคโอเวอร์การดำเนินนโยบายการต่างประเทศ (ถึงแม้มีรองประธานาธิบดีไมก์ เพนซ์ คอยบินฉวัดเฉวียนอยู่ในฉากหลัง ทว่าเขาก็เปรียบเสมือนกับพี่เลี้ยงแก่ๆ ที่ไปคอยเฝ้าสาวๆ ซึ่งกำลังสนุกสุดเหวี่ยงอยู่ในงานเต้นรำเฉลิมฉลองสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย) ขณะเดียวกัน ด้วยข้อเสนอที่จะจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้อีกเป็นจำนวน 54,000 ล้านดอลลาร์ กระทรวงกลาโหมของทรัมป์จะยังคงไม่ถูกแตะต้องใดๆ ทั้งสิ้น ในเวลาที่ท่านประธานาธิบดีคนใหม่นั่งเป็นประธานการหั่นลดหน่วยงานรัฐบาลที่เขาไม่ชอบอย่างชนิดวินาศสันตะโร และแผ่ขยายพวกหน่วยงานที่เขารักใคร่ชื่นชอบ

เท่าที่เป็นมาจนถึงเวลานี้ คณะบริหารทรัมป์กำลังดำเนินงานด้วยอาการขาดไร้ความสามารถเป็นอย่างยิ่งและก็เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวาง เป็นต้นว่า บุคคลในคณะบริหารขัดแย้งกันเอง, การออกคำสั่งฝ่ายบริหารที่เป็นการลัดวงจรกลไกของรัฐบาล, การทวิตข้อความตามใจชอบซึ่งเป็นการระรานกระทบใครต่อใครไปทั่วจักรวาลอินเทอร์เน็ต, และหน้าที่การงานพื้นฐานอย่างเช่นการจัดการแถลงข่าว ถูกมอบหมายให้จัดการดูแลโดยผู้ที่แสนจะขาดความสุขุมไร้มนุษยสัมพันธ์ พวกที่ได้รับการแต่งตั้งจากทรัมป์ เป็นต้นว่า แบนนอน ดูไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าผู้เชี่ยวชาญการรื้อถอนทำลายผู้ชำนาญงานเท่านั้น แน่นอนทีเดียวว่านี่ไม่ได้เป็น “เปเรสทรอยก้า” (perestroika) ในสไตล์ของมิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ซึ่งในที่สุดแล้วก็นำไปสู่การแตกเป็นเสี่ยงของสหภาพโซเวียต แล้วมันก็ไม่ได้เป็นโปรแกรม “การบำบัดรักษาด้วยวิธีช็อกไฟฟ้า” (shock therapy) ของประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออกภายหลังปี 1989 ซึ่งแรกทีเดียวทำการรื้อทิ้งรัฐจากนั้นจึงสร้างรัฐขึ้นมาใหม่

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการรื้อถอนทำลายเป็นสิ่งซึ่งทำได้ง่ายดายกว่าการก่อสร้างขึ้นมาใหม่เป็นอย่างมาก และตัวแบนนอนเองก็แสดงความภาคภูมิใจที่ตัวเขาเองมีความพากเพียรบากบั่นราวกับตัวฮันนีแบดเจอร์ [14] ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสัตว์บกที่ดุร้ายที่สุดในโลก ดังนั้นถึงแม้โครงการของคณะบริหารทรัมป์ อาจจะดูยุ่งเหยิงวุ่นวายไปหมดในขณะนี้ แต่ก็น่าที่จะทรงศักยภาพในการก่อให้เกิดความเสียหายอย่างแท้จริงขึ้นมาจนได้ อันที่จริงแล้ว ถ้าคุณต้องการที่จะตีค่าผลงานในช่วงเดือนแรกๆ แห่งการดำรงตำแหน่งของโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างชนิดชวนให้รู้สึกวิตกกังวลมากยิ่งขึ้นกว่านี้แล้ว ก็ขอให้ลองพิจารณาแง่มุมนี้ดูนะครับ: มันจะเป็นยังไง ถ้าหากว่าความโกลาหลวุ่นวายที่เกิดขึ้นมานี้ ไม่ได้เป็นผลพวงต่อเนื่องอย่างไม่ได้ตั้งใจของคณะบริหารมือใหม่ หากแต่ที่จริงแล้วยุทธศาสตร์จริงๆ ของคณะบริหารชุดนี้ก็คือการทำเช่นนี้แหละ?

ฝุ่นฟุ้งตลบในอากาศเต็มไปหมดเหล่านี้ เอาเข้าจริงแล้ว มาจากขั้นตอนแรกอันโกลาหลวุ่นวายในกระบวนการรื้อถอนทำลายอย่างใหญ่โตมหึมาตามที่วางแผนกันเอาไว้ และน่าที่จะอำพรางข้อเท็จจริงที่ว่า ทรัมป์นั้นกำลังพยายามที่จะผลักดันแผนการซึ่งมีลักษณะต่อต้านอเมริกันโดยพื้นฐานและมีความเป็นไปได้ที่จะไม่ได้รับความนิยมชมชื่นจากประชาชนเป็นอย่างยิ่ง เขามีจุดมุ่งหมายที่จะทำลายสถานะเดิม และก็อย่างที่แบนนอนให้คำมั่นสัญญาเอาไว้ สิ่งที่จะนำเอามาแทนที่ก็คือ ระเบียบโลกใหม่ซึ่งสามารถนิยามจำกัดความด้วย C 3 ตัว ได้แก่ Conservative (อนุรักษนิยม), Christian (คริสเตียน), และ Caucasian (คนผิวขาว) พวกสื่อจะทำข่าวเสนอรายงานกันยังไงก็ให้พวกเขาทำไปตามใจชอบเถอะ พวกนักวิพากษ์วิจารณ์จะเที่ยวหัวเราะเยาะนำเอาฝ่ายบริหารมาเป็นมุกตลกยังไงก็ตามใจเถอะ แต่ในเวลาเดียวกันนั้นเอง คนของประธานาธิบดีทุกๆ คนต่างกำลังพยายามที่จะบังคับให้ประเทศและโลกที่แสนพยศดื้อดึงต้องยินยอมกระทำตามเจตจำนงของพวกเขา

Triumph of the Will (ชัยชนะของเจตจำนง)

ผมเคยลงทะเบียนเรียนคอร์ส “การก้าวผงาดของลัทธินาซี” ในระดับมหาวิทยาลัยที่เยอรมนี พอเรียนกันไปได้พักหนึ่ง อาจารย์ผู้สอนได้จัดฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Triumph of the Will (ชัยชนะของเจตจำนง) ให้พวกเราได้ชมกัน ภาพยนตร์สารคดีชื่อดังปี 1935 ของ เลนี รีเฟนสตอห์ล (Leni Riefenstahl) เรื่องนี้มีเนื้อหากล่าวถึงการประชุมสมัชชาพรรคนาซีในปีก่อนหน้านั้น โดยที่มีฟิล์มยาวเหยียดช่วงที่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ กล่าวปราศรัยกับบรรดาผู้ศรัทธาด้วย อาจารย์ของเรายืนยันกับเราว่า Triumph of the Will เป็นหนังติดอันดับทำเงินได้สูง มันทำให้ชื่อของฮิตเลอร์ขจรขจายไปทั่วโลก และสร้างความกระเดื่องนามในฐานะเป็นผู้สร้างหนังให้แก่รีเฟนสตอห์ล ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับความนิยมชมชื่นอย่างมากมายในเยอรมนีจนกระทั่งฉายอยู่ตามโรงภาพยนตร์กันเป็นเดือนๆ และผู้คนก็กลับมาชมกันซ้ำแล้วซ้ำอีก อาจารย์ของเรารับประกันกับพวกเราว่า เราจะพบว่ามันเป็นหนังที่มีมนตร์ดึงดูดใจมาก

แต่ปรากฏว่า Triumph of the Will ไม่ได้มีมนตร์ดึงดูดใจอะไรเลย แม้กระทั่งสำหรับพวกนักศึกษาซึ่งหมกมุ่นสนใจรายละเอียดต่างๆ ในช่วงนาซีก้าวผงาดขึ้นสู่อำนาจ ภาพยนตร์สารคดีความยาว 2 ชั่วโมงเรื่องนี้ก็ก่อให้เกิดความเบื่อหน่ายอย่างมากมายมหาศาล หลังจากชมกันจบเรื่องแล้ว พวกเราพากันบอมบ์ใส่อาจารย์ด้วยคำถามและคำร้องทุกข์เต็มไปหมด ทำไมเขาจึงคิดจินตนาการขึ้นมาได้นะว่าเราจะพบว่ามันมีมนตร์เสน่ห์ดึงดูดใจ?

ปรากฏว่าอาจารย์ยิ้มกริ่ม และบอกว่า นี่แหละคือส่วนที่ชวนดึงดูดใจ นี่คือภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมชมชอบอย่างพิเศษผิดธรรมดา ทว่ามาถึงเวลานี้มันกลับแทบเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับคนอเมริกันที่จะนั่งชมไปจนจบตลอดเรื่อง อาจารย์ต้องการให้พวกเราเข้าใจว่าประชาชนในเยอรมนียุคนาซีครองเมืองนั้น มีความคิดจิตใจที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง พวกเขากำลังเข้าร่วมอยู่ในความคลั่งไคล้ใหลหลงของมวลชนประเภทหนึ่ง พวกเขาไม่ได้พบว่าลัทธินาซีเป็นสิ่งน่ารังเกียจน่าขยะแขยง พวกเขาไม่ได้คิดว่าพวกเขากำลังมีชีวิตอยู่ในสังคมดิสโทเปียชนิดหนึ่ง พวกเขาคือผู้ที่มีศรัทธาเชื่อถืออย่างแท้จริง

เวลานี้ชาวอเมริกันจำนวนมากก็กำลังมีชั่วขณะแห่ง Triumph of the Will อยู่เช่นกัน พวกเขาเฝ้าชม โดนัลด์ ทรัมป์ ซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยไม่ได้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายหรือขยะแขยง พวกเขาเชื่อว่าประวัติศาสตร์เพิ่ง “เจิม” ให้แก่ผู้นำคนใหม่ที่จะมาชุบชีวิตประเทศชาติ และฟื้นฟูให้มันกลับขึ้นไปอยู่ในจุดที่ถูกต้องชอบธรรมของมันในโลกใบนี้ พวกเขาถูกโน้มน้าวให้เกิดความแน่ใจขึ้นมาว่าช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมาคือดิสโทเปียที่สร้างขึ้นโดยพวกเสรีนิยม และสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ ถ้าหากยังไม่ใช่ยูโทเปีย มันก็เป็นก้าวแรกๆ ในการเดินไปสู่ทิศทางนั้น

กลุ่มฮาร์ดคอร์ของพวกที่หลงเสน่ห์ทรัมป์ ไม่สามารถที่จะไปโน้มน้าวชักจูงให้เชื่อไปในทางอื่นได้หรอก พวกเขามองชนชั้นนำหัวเสรีนิยมด้วยความขุ่นเคือง พวกเขาไม่เชื่อถือซีเอ็นเอ็นหรือนิวยอร์กไทมส์ พวกเขาเห็นดีเห็นงามกับพวกทฤษฎีแปลกประหลาดเกี่ยวกับศาสนาอิสลามและผู้อพยพ รวมทั้งยังคงเห็นดีเห็นงามกับแผนเล่ห์เพทุบายลับๆ ที่บอกว่า “ผู้อพยพอิสลาม” ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดยิ่งกว่าใครอื่น ก็คือ บารัค โอบามา [15] สำหรับฮาร์ดคอร์ในหมู่ผู้สนับสนุนทรัมป์เหล่านี้ สหรัฐฯเริ่มที่จะแตกสลายแล้ว, เศรษฐกิจกำลังดำดิ่ง, ประชาคมระหว่างประเทศต่างพากันโกรธเกรี้ยวคณะผู้นำในวอชิงตัน, และพวกเขาจะยังคงเชื่อถือศรัทธาไม่ยอมเลิกในตัวทรัมป์และในลัทธิทรัมป์ กระทั่งหากประธานาธิบดีผู้นี้ใช้ปืนยิงคนตายไปสัก 2-3 คน พวกผู้สนับสนุนในตัวเขาอย่างแรงกล้าที่สุดก็จะไม่พูดอะไร นอกจากว่า “ยิงดีมาก ท่านประธานาธิบดี!” [16] ทั้งนี้ขอให้ระลึกเอาไว้ด้วยนะครับว่า แม้กระทั่งหลังจากเยอรมนียุคนาซีล้มครืนจมลงสู่ความพ่ายแพ้อย่างยับเยินในปี 1945 ชาวเยอรมันจำนวนมากทีเดียวก็ยังคงหลงเสน่ห์ของลัทธินาซีที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่าลัทธิสังคมชาตินิยม (National Socialism) ในปี 1947 มากกว่าครึ่งของผู้ที่ตอบคำถามการสำรวจความคิดเห็น ยังคงเชื่อว่าลัทธินาซีเป็นอุดมการณ์ที่ดีแต่ถูกนำมาปฏิบัติอย่างย่ำแย่เลวร้าย

ทว่าพวกผู้สนับสนุนทรัมป์จำนวนมากมายทีเดียว –ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นชาวพรรคเดโมแครตซึ่งไม่พอใจพรรคของตัวเอง, เป็นพวกอิสระไม่สังกัดพรรคใดที่เกลียดชิงฮิลลารี, หรือเป็นพวกอนุรักษนิยมพรรครีพับลิกันอย่างหนักแน่นมั่นคงก็ตามที— ไม่ได้เหมาะสมสมควรกับคำจำกัดความดังกล่าวนี้เลย มีบางคนกระทั่งรู้สึกหงุดหงิดผิดหวังอย่างลึกล้ำขึ้นมาแล้วด้วยซ้ำจากมุกต่างๆ ของโดนัลด์ เจ. ทรัมป์ และการรื้อถอนทำลายต่างๆ ซึ่งพวกที่ปรึกษาของเขากำลังวางแผนที่จะกระทำภายในคณะรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วน่าจะกลายเป็นการตีกระหน่ำชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาอย่างเลวร้าย พวกเขาสามารถที่จะชักนำพามารวมตัวกัน ในขณะนี้สามารถที่จะกลายเป็นชั่วขณะแห่งการสามัคคีกันอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดเพื่อเริ่มต้นการต่อต้านอันกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ภายใต้ร่มธงของลัทธิรักชาติ ซึ่งวาดภาพทรัมป์และแบนนอนให้เห็นว่า เป็นผู้ที่มีความผิดฐานดำเนินกิจกรรมแบบที่ไม่เป็นอเมริกัน

และตรงนี้นี่เองที่นวนิยายแนวดิสโทเปียจำนวนมากเหลือเกินกำลังเสนอให้ข้อแนะนำชนิดที่ผิดพลาด จุดจบของทรัมป์จะไม่ได้เนื่องมาจากน้ำมือของบุคคลอย่าง แคตนิสส์ เอเวอร์ดีน (Katniss Everdeen ตัวเอกหญิงในภาพยนตร์ชุด The Hunger Games) ความเชื่อแบบที่ว่าจะมีปัจเจกบุคคลที่เป็นผู้ช่วยชีวิตปรากฏขึ้นมาท้าทายระบบ “เผด็จการเบ็ดเสร็จ” จนกระทั่งประสบความสำเร็จนั้น คือสิ่งที่นำพาพวกเราเข้าสู่วิกฤตการณ์คราวนี้ตั้งแต่ทีแรกแล้ว ตั้งแต่เมื่อตอนที่โดนัลด์ ทรัมป์ ขายตัวเองว่าเป็นคนวงนอกที่กำลังต่อสู้ทำสงครามครูเสดกับ “รัฐเบื้องลึก” (deep state) ซึ่งควบคุมโดยพวกเสรีนิยมที่เสแสร้าง, พวกอนุรักษนิยมที่ขี้ขลาดตาขาว, สื่อกระแสหลักที่เป็นผู้สมคบคิดกระทำความผิด ส่วนสำหรับการที่ชาวอเมริกันคิดฝันที่จะนำพามลรัฐของพวกเขาแยกตัวออกไปจากสหรัฐอเมริกา หรือการที่ปัจจักบุคคลใดๆ มุ่งถอนตัวออกมาและเสาะแสวงหาความบริสุทธิ์ผุดผ่องทางการเมือง เหล่านี้จะไม่ช่วยทำให้อะไรดีขึ้นมาเช่นกัน เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่าวิสัยทัศน์แบบดิสโทเปียของคณะบริหารทรัมป์นั้นวางพื้นฐานอยู่บนความโกลาหลวุ่นวายและการแตกแยกออกเป็นเสี่ยงๆ การตอบโต้ของฝ่ายตรงกันข้ามจึงควรที่จะอยู่ในลักษณะของการสามัคคีทุกๆ คนที่ทำการต่อต้านคัดค้าน, หรือแม้กระทั่งทุกๆ คนซึ่งมีศักยภาพที่จะทำการต่อต้าน สิ่งที่วอชิงตันกำลังทำอยู่ในเวลานี้

ในฐานะที่เป็นผู้อ่าน พวกเรามีเสรีภาพที่จะตีความนวนิยายแนวดิสโทเปียให้ไปในหนทางที่พวกเราชื่นชอบ ในฐานะที่เป็นพลเมือง พวกเราสามารถทำอะไรบางสิ่งบางอย่างซึ่งมากยิ่งกว่าการยอมจำนน พวกเราสามารถที่จะเขียนดิสโทเปียแห่งความเป็นจริงของพวกเราขึ้นมาใหม่ พวกเราสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขอนาคตอันมืดมนด้วยตัวของพวกเราเอง อย่างไรก็ดี การที่จะกระทำเช่นนั้นได้ พวกเราจำเป็นที่จะต้องรวมตัวกันเพื่อวางพล็อตที่ดีขึ้นกว่าเดิม, เสนอแนะอะไรบางอย่างที่มีความน่าสนใจมากขึ้น, ตลอดจนเสนอแนะตัวละครที่มีสีสัน และก่อนที่มันจะสายเกินไป พวกเราสามารถที่จะเขียนตอนจบเรื่องซึ่งดีขึ้นกว่าเดิมมากๆ เป็นตอนจบที่ไม่ปล่อยให้พวกเราจมอยู่กับเสียงระเบิด, เสียงกรีดร้อง, และจางหายไปในความมืดมนอนธการ

(ข้อเขียนซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ ทางเอเชียไทมส์ไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)

จอห์น เฟฟเฟอร์ เป็นผู้เขียนนวนิยายแนวดิสโทเปียเล่มใหม่ชื่อ Splinterlands (โดยสำนักพิมพ์ Dispatch Books จากเดิมโดยสำนักพิมพ์ Haymarket Books) ซึ่งนิตยสาร “พับลิชเชอร์ส วีกลี่” (Publishers Weekly) วิจารณ์ยกย่องว่า เป็นนวนิยายที่ “ระทึกใจ, ช่างคิด, และตักเตือนอย่างเป็นธรรมชาติ” เขาเป็นผู้อำนวยการของ “ฟอเรนจ์ โพลิซี อิน โฟกัส” (Foreign Policy in Focus หรือ FPIF) ซึ่งมุ่งเสนอบทวิเคราะห์อันทันการณ์ในด้านนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯและด้านกิจการระหว่างประเทศ ตลอดจนเสนอแนะทางเลือกต่างๆ ทางด้านนโยบาย FPIF เป็นโครงการหนึ่งของสถาบันเพื่อนโยบายศึกษา (Institute for Policy Studies) กลุ่มคลังสมองที่ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ซึ่งมีแนวทางความคิดแบบก้าวหน้า เขายังเขียนบทความให้เว็บไซต์ ทอมดิสแพตช์ (www.tomdispatch.com) อย่างสม่ำเสมอ

(ข้อเขียนนี้เก็บความจากต้นฉบับภาษาอังกฤษใน ทอมดิสแพตช์ http://www.tomdispatch.com/)

หมายเหตุ
[1]http://www.vulture.com/2014/08/why-cant-anybody-write-a-utopian-novel-anymore.html
[2]https://www.amazon.com/dp/1608467244/ref=nosim/?tag=tomdispatch-20
[3] http://bostonreview.net/podcast/global-dystopias-critical-dystopias-podcast-junot-d%C3%ADaz
[4] http://money.cnn.com/2017/01/28/media/it-cant-happen-here-1984-best-sellers/
[5] http://fpif.org/undead-us/
[6] http://www.thedailybeast.com/articles/2016/08/22/steve-bannon-trump-s-top-guy-told-me-he-was-a-leninist.html
[7] http://www.politifact.com/truth-o-meter/article/2009/dec/18/politifact-lie-year-death-panels/
[8]http://www.ontheissues.org/House/Tom_Cotton_Gun_Control.htm
[9] http://www.anncoulter.com/columns/2013-03-13.html
[10] http://www.factcheck.org/2016/07/dueling-claims-on-crime-trend/
[11] https://www.usnews.com/news/articles/2016-09-26/us-crime-rate-rises-slightly-remains-near-20-year-low
[12] http://time.com/4681094/reince-priebus-steve-bannon-cpac-interview-transcript/
[13] http://www.chicagotribune.com/news/nationworld/politics/ct-rex-tillerson-state-department-trump-20170222-story.html
[14] http://www.cbsnews.com/news/is-the-donald-trump-campaign-going-honey-badger/
[15] http://www.foxnews.com/politics/2017/02/28/trump-obama-and-former-aides-behind-protests-leaks.html
[16] http://www.cnn.com/2016/01/23/politics/donald-trump-shoot-somebody-support/


กำลังโหลดความคิดเห็น