xs
xsm
sm
md
lg

‘เปียงยาง’ระดมยิง‘ขีปนาวุธ’จะทำให้ระบบป้องกันเกาหลีใต้พ่ายแพ้ปราชัย

เผยแพร่:   โดย: แฮร์รี เจ. คาซิอานิส


(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Pyongyang missile swarm would overwhelm South Korean defences
By Harry J. Kazianis, @grecianformula
17/03/2017

ขณะที่การเร่งรัดนำเอาระบบป้องกันที่มุ่งยิงสกัดขีปนาวุธในบริเวณพิกัดตำแหน่งสูง หรือ “ทาด” ไปติดตั้งประจำการในเกาหลีใต้ มีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับจรวดที่ยิงมาจากเกาหลีเหนือ แต่พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯยอมรับว่า ระบบป้องกันเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอที่จะต่อสู้ หากเปียงยางใช้วิธีการระดมยิงขีปนาวุธออกมาเป็นชุดใหญ่

พวกเจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐฯกำลังวิตกกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า สมรรถนะด้านขีปนาวุธของเกาหลีเหนือที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกที อาจมีความเหนือล้ำกว่าจนยังความปราชัยให้แก่การป้องกันทั้งหลายทั้งปวงของเหล่าชาติพันธมิตรทั้งในคาบสมุทรเกาหลีและที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง เพื่อต่อต้านการโจมตีจากจรวดโสมแดงดังกล่าว

ขณะที่เจ้าหน้าที่เหล่านี้ยกนิ้วให้เครดิตแก่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ สำหรับการเร่งรัดนำเอาระบบป้องกันที่มุ่งยิงสกัดขีปนาวุธในบริเวณพิกัดตำแหน่งสูง หรือ “ทาด” (Terminal High Altitude Area Defense หรือ THAAD) เข้าไปติดตั้งประจำการในเกาหลีใต้ในปีนี้ พวกเขาก็กล่าวด้วยว่าการเพิ่มเติมเข้าไปเช่นนี้ยังคงไม่เพียงพอที่จะรับมือ หากเปียงยางใช้การโจมตีแบบระดมยิงเป็นชุดใหญ่ต่อเนื่อง

“ถ้าเกิดสงครามขึ้นมาแล้วล่ะก้อ เรายังไม่ได้เตรียมตัวพรักพร้อมหรอกสำหรับรับมือการโจมตีด้วยขีปนาวุธแบบทุ่มสุดตัวจากเกาหลีเหนือ และผมเกรงว่าเราจะไม่มีทางเตรียมตัวให้พร้อมด้วยซ้ำ ถ้าหากเรากำลังพึ่งพาอาศัยระบบป้องกันขีปนาวุธเพียงอย่างเดียวเท่านั้น” เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) รายหนึ่ง กล่าวโดยขอให้สงวนนาม

มีการประมาณการกันว่าเกาหลีเหนือมีขีปนาวุธในคลังแสงมากกว่า 1,000 ลูก (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.bbc.com/news/world-asia-17399847) ซึ่งอาจสามารถบรรจุติดตั้งพวกอาวุธนิวเคลียร์, อาวุธกัมมันตรังสี, อาวุธเคมี, หรืออาวุธชีวภาพ และหากมีการระดมยิงออกมาอย่างมากมาย ก็คงไม่น่าที่จะสามารถสกัดกั้นจรวดทุกๆ ลูกได้ เจ้าหน้าที่รายนี้กล่าว

ทีนี้ถ้ามีขีปนาวุธแม้เพียงลูกเดียวยิงผ่านระบบป้องกันเข้ามาได้แล้ว ก็ต้องถือว่าการป้องกันประสบความล้มเหลว เจ้าหน้าที่รายนี้ชี้

นี่คือหนึ่งในบรรดาข้อมูลข่าวสารที่เป็นภูมิหลัง ซึ่งนำไปสู่การแสดงความเห็นของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ในกรุงโตเกียวเมื่อวันพฤหัสบดี (16 มี.ค.) ที่ผ่านมา ที่ว่าการเจรจากับเกาหลีเหนือที่กระทำมา 20 ปีเพื่อให้เปียงยางยอมปลดอาวุธนั้นไม่ได้ผล และจำเป็นต้องใช้แนวทางเข้าถึงปัญหาแนวทางใหม่ๆ แล้ว

ใช้กระสุนยิงสกัดกระสุน

สำหรับเทคโนโลยีหนึ่ง ที่มีการวิจัยพัฒนาและใช้งานกันมาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว การต่อต้านป้องกันขีปนาวุธ –ซึ่งโดยเนื้อหาสาระแล้วก็คือการพยายามยิงกระสุนออกไปสกัดให้ถูกกระสุนที่ถูกยิงเข้ามา— คือภารกิจที่ชวนให้ย่นระย่อทดแท้ แม้กระทั่งสำหรับพวกประเทศที่มีความก้าวหน้าทางทหารมากที่สุดในโลก รวมทั้งสหรัฐอเมริกาด้วย

วอชิงตันได้ใช้จ่ายงบประมาณไปมากกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับแพลตฟอร์มป้องกันขีปนาวุธประเภทต่างๆ หลายหลาก (ดูรายละเอียดได้ที่ https://news.usni.org/2017/02/17/panel-question-facing-trump-administration-european-missile-defense-united-state-go-ahead-next-phase-program-says-deter-iran-pause-let-se)

เป็นต้นว่า โครงการริเริ่มป้องกันทางยุทธศาสตร์ (Strategic Defense Initiative ใช้อักษรย่อว่า SDI) หรือก็คือระบบป้องกันขีปนาวุธประเภทอิงการปฏิบัติการจากอวกาศ ที่มีชื่อเรียกกันเล่นๆ จนติดปากว่า “สตาร์วอร์ส” (Star Wars)

สำหรับความพยายามในระยะหลังๆ มานี้ มุ่งโฟกัสกันที่ระบบขีปนาวุธแพทริออต (Patriot missile system) ที่เคยใช้กันในระหว่างสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก (First Gulf War), ระบบเอจิสทั้งที่ติดตั้งบนบกและติดตั้งในทะเล (AEGIS land and sea-based system), ระบบป้องกันขีปนาวุธแห่งชาติขนาดเล็ก (small national missile defenses) ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐอะแลสกา, เช่นเดียวกัน THAAD ที่เป็นแพลตฟอร์มประเภทตั้งอยู่บนยานยนต์ที่เคลื่อนที่ได้

ขณะที่วอชิงตันกำลังใช้จ่ายทั้งเวลา, เงินทอง, ทรัพยากร, และทุนทางการเมืองเป็นจำนวนมากมายไปในเรื่องการป้องกันขีปนาวุธ ความจริงก็มีอยู่ว่าผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากในประชาคมด้านกลาโหมของสหรัฐฯต่างมีความสงสัยข้องใจเกี่ยวกับประสิทธิภาพของมัน –โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นขีปนาวุธโจมตีที่ยิงออกมาจากเกาหลีเหนือ

“มัน (ระบบป้องกันขีปนาวุธ) ไม่เคยถึงขนาดสามารถเป็น ‘โล่ป้องกันขีปนาวุธ’ อย่างที่ผู้คนจำนวนมากต้องการให้มันเป็นแบบนั้น ศัตรูของสหรัฐฯทุกๆ รายก็ทราบความจริงข้อนี้ดี พวกเขารู้ว่าการปล่อยขีปนาวุธออกไปเป็นจำนวนมากกว่าตัวที่ขึ้นมาสกัดกั้น คือหนทางหนึ่งที่มีโอกาสประสบความสำเร็จ และการใช้เป้าหลอก (decoy) ก็ยิ่งทำให้ปัญหาเลวร้ายมากขึ้นไปอีก”

เจ้าหน้าที่รายนี้บอกว่า มีการเน้นหนักมากเกินไปที่จะอาศัยการป้องกันขีปนาวุธมาแก้ไขปัญหาที่คลี่คลายได้อย่างลำบากยากเย็น --และก็เป็นปัญหาที่มีแต่กำลังเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากมีชาติต่างๆ มากขึ้นทุกทีกำลังมีและพัฒนาจรวดนำวิถีและจรวดร่อนซึ่งมีความประณีตซับซ้อนยิ่งขึ้นและมีพิสัยทำการไกลขึ้น

“เกาหลีเหนือเป็นเพียงภาคหนึ่งของความท้าทายที่เราเผชิญอยู่เป็นเวลายาวนานหลายทศวรรษแล้ว” เจ้าหน้าที่ผู้นี้อธิบาย

ปรับเปลี่ยนโฉมการป้องกันขีปนาวุธเสียใหม่

มีรายงานข่าวชิ้นหนึ่งเมื่อเร็วๆ ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ซึ่งชี้ให้เห็นความพยายามต่างๆ ที่อยู่นอกเหนือแพลตฟอร์ตป้องกันขีปนาวุธมาตรฐานทั้งหลาย นั่นคือการใช้สงครามไซเบอร์มาสร้างความสับสน, บ่อนทำลาย, หรือนำทางขีปนาวุธเกาหลีเหนือให้มุ่งไปในเส้นทางผิดๆ

ขณะที่ต่อจากนั้นมา ได้มีการเสนอรายงานข่าวชิ้นอื่นๆ (เป็นต้นว่า https://www.nknews.org/pro/did-cyber-attacks-slow-down-north-koreas-missile-progress/) ซึ่งแสดงความสงสัยข้องใจรายงานของนิวยอร์กไทมส์ เนื่องจากระบบนำทางขีปนาวุธมีมากมายหลายหลากประเภท แต่พวกเจ้าหน้าที่กลาโหมของสหรัฐฯก็แสดงความเห็นพ้องว่า นี่เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องพยายามทำดู

ย้อนกลับไปในปี 2013 ในข้อเขียนแสดงความคิดเห็นชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ทางวารสารฟอเรนจ์ โพลิซี (Foreign Policy) พล.ร.อ.โจนาธาน กรีนเนิร์ต (Admiral Jonathan Greenert) และ พล.อ.มาร์ก เวลช์ (General Mark Welsh) ขณะโฟกัสที่การแสดงเหตุผลเพื่อหนุนหลังความพยายามของสหรัฐฯในการลบล้างสมรรถนะด้านขีปนาวุธที่กำลังขยายตัวของจีน พวกเขาก็ได้อภิปรายเกี่ยวกับการใช้สงครามอิเล็กทรอนิกส์และมาตรการอื่นๆ เพื่อทำลายสิ่งที่เรียกกันว่า “สายโซแห่งการสังหาร” (kill-chain) หรือก็คือระบบต่างๆ ที่จะขับดันขีปนาวุธให้เคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่ต้องการทำลาย (ดูรายละเอียดข้อเขียนนี้ได้ที่ http://foreignpolicy.com/2013/05/17/breaking-the-kill-chain/)

“ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า: เราจำเป็นที่จะต้องสร้างความสับสน, บ่อนทำลาย, หรือสังหาร ‘มือยิงธนู’ ซึ่งก็คืออุปกรณ์ยิงขีปนาวุธ ก่อนที่มันจะสามารถนำเอาอาวุธชิ้นนั้นขึ้นสู่อวกาศ” เจ้าหน้าที่เพนตากอนเกษียณอายุแล้วผู้หนึ่งกล่าว

แฮร์รี เจ. คาซิอานิส เป็นผู้อำนวยการด้านกลาโหมศึกษา ของศูนย์เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ (Center for the National Interest) ซึ่งก่อตั้งโดยอดีตประธานาธิบดีริชาร์ด เอ็ม. นิกสัน และก็เป็นบรรณาธิการบริหารของ เดอะ เนชั่นแนล อินเทอเรสต์ (The National Interest) กิจการด้านสิ่งพิมพ์ของศูนย์แห่งนี้ สามารถติดตามเขาได้ทางทวิตเตอร์ที่ @grecianformula


กำลังโหลดความคิดเห็น