xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ ‘ฮุนเซน’ สูญเสีย ‘มือขวา’ ที่ไว้วางใจได้อย่าง ‘โสก อาน’

เผยแพร่:   โดย: เดวิด ฮุตต์

<i>นายกรัฐมนตรี ฮุนเซน ของกัมพูชา (ขวา) ประสบกับความสูญเสียครั้งใหญ่  เมื่อรองนายกรัฐมนตรี โสก อาน (ซ้าย) บุรุษผู้เปรียบประดุจเป็น “มือขวา” ของเขา ถึงแก่อนิจกรรมที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่งเมื่อวันพุธ (15 มี.ค.)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Hun Sen loses his right-hand man
By David Hutt, @davidhuttjourno
16/03/2017

การถึงแก่อนิจกรรมของรองนายกรัฐมนตรี โสก อาน ทำให้เกิดช่องว่างอันสำคัญมากขึ้นในคณะรัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาชนกัมพูชา ขณะเดียวกับที่การเลือกตั้งซึ่งมีความสำคัญมากก็กำลังขยับใกล้เข้ามาทุกที

พนมเปญ - โสก อาน (Sok An) รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันพุธ (15 มี.ค.) ที่ผ่านมา ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง หลังจากมิได้ปรากฏตัวต่อสาธารณชนมาเป็นเวลาหลายเดือนสืบเนื่องจากสุขภาพที่ย่ำแย่ การเสียชีวิตของเขาหมายถึงการเกิดช่องว่างใหญ่ขึ้นมาในพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People’s Party หรือ CPP) ที่เป็นพรรคผู้ปกครองประเทศอยู่ในเวลานี้ เป็นช่องว่างซึ่งเหล่านักวิเคราะห์คาดเก็งกันว่านายกรัฐมนตรีฮุนเซน คงจะหาใครมาแทนที่เติมเต็มได้ยากลำบากเต็มที

โสก อาน สิริอายุ 66 ปี เป็นหนึ่งในรองนายกรัฐมนตรีที่มีจำนวนหลายคนทีเดียว แต่เขายังมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ด้วย ซึ่งมีบทบาทพิเศษที่เตรียมขึ้นมาสำหรับนักการเมืองอาวุโสผู้นี้โดยเฉพาะ เขายังมักถูกเรียกขานจากพวกคอมเมนเตเตอร์นักให้ความเห็นทางสื่อว่า คือ “มือขวา” ของฮุนเซน

เมื่อวันจันทร์ (13 มี.ค.) เขาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้น “สมเด็จ” จากพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี ซึ่งถือเป็นเกียรติยศสูงส่งยิ่ง เนื่องจากมีสามัญชนที่มิใช่พระราชวงศ์อีกเพียง 7 คนเท่านั้นได้รับบรรดาศักดิ์ชั้นนี้ ขณะเดียวกันก็มีรายงานว่ารัฐบาลได้เตรียมงบประมาณเอาไว้เกือบ 750,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับการจัดพิธีศพของเขาอย่างประณีตงามสง่า

โสก อาน เป็นผู้ที่ควบคุมหน่วยงานต่างๆ ของรัฐเอาไว้เป็นจำนวนมาก และเห็นจะมีเพียง ฮุนเซน ผู้ยึดกุมอำนาจเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่นมาเป็นเวลาหลายสิบปีเท่านั้นซึ่งสามารถเป็นคู่แข่งของเขาได้ในด้านนี้ อย่างไรก็ดี เขาแทบไม่เคยถูกมองว่าเป็นผู้ที่อาจขึ้นมาท้าทาย ฮุนเซน จากภายในพรรค CPP เลย แม้กระทั่งในช่วงเวลาตอนที่ ฮุนเซน อยู่ในอาการโซซัดโซเซ หรือเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ระหว่างประเทศอย่างดุเดือดกราดเกรี้ยว

ฟิล โรเบิร์ตสัน (Phil Robertson) รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของ ฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ (Human Rights Watch) กลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษยชนที่ตั้งฐานอยู่ในนิวยอร์ก บอกว่า โสก อาน เป็น “ผู้ที่จงรักภักดีต่อฮุนเซนอย่างแรงกล้าและโดดเด่น พร้อมที่จะกระโจนเข้าเล่นงานอะไรก็ตามซ้ำแล้วซ้ำอีก, พร้อมที่จะอ้างเหตุผลสร้างความชอบธรรมให้แก่การละเมิดสิทธิใดๆ ก็ตามไม่หยุดไม่หย่อน, พร้อมที่จะอำนวยความสะดวกเพื่อให้เกิดข้อตกลงใดๆ ก็ตามครั้งแล้วครั้งเล่า”

ความผูกพันที่ โสก อาน มีต่อ ฮุนเซน สามารถสาวย้อนหลังไปจนถึงปี 1982 เมื่อตอนที่เขาขึ้นเป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ขณะที่เจ้ากระทรวงในเวลานั้นคือฮุนเซน ผู้ซึ่งอีก 3 ปีต่อมาจะก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และก็นั่งเก้าอี้ตัวนี้เรื่อยมาจวบจนถึงปัจจุบัน

ด้วยความที่เป็นนักเจรจาผู้คล่องแคล่ว โสก อาน จึงเป็นนักการทูตคนสำคัญที่ได้รับมอบภารกิจให้เป็นตัวแทนของฝ่าย ฐบาลพนมเปญ ในระหว่างการทำข้อตกลงสันติภาพกรุงปารีสปี 1991 เขายังเป็นผู้นำในการพูดจาหารืออันยืดเยื้อยาวนานกับองค์การสหประชาชาติ เกี่ยวกับการจัดตั้งศาลพิเศษพิจารณาโทษพวกเขมรแดง เพื่อให้เป็นที่มั่นใจได้ว่ามันจะออกมาในรูปแบบซึ่งสอดคล้องกับความปรารถนาของรัฐบาลกัมพูชา เป็นต้นว่ามีการกำหนดเงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ เกี่ยวกับผู้ที่สามารถนำตัวมาฟ้องร้องดำเนินคดีได้

ช่วงหลังๆ มานี้ สายสัมพันธ์ที่โสก อาน มีอยู่กับองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ยังพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นสิ่งล้ำค่าเหลือเกินสำหรับรัฐบาลกัมพูชาที่นำโดยพรรค CPP โดยที่ในปี 2014 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองประธานของการประชุมระหว่างประเทศของบรรดาพรรคการเมืองในเอเชีย (International Conference of Asian Political Parties หรือ ICAPP) อันเป็นเวทีระดับภูมิภาคซึ่งมุ่งส่งเสริมเพิ่มพูนความร่วมมือกันทางการเมือง เขาได้เป็นสมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมการประจำของ ICAPP ตั้งแต่มีการจัดตั้งเวทีหารือแห่งนี้ขึ้นเมื่อปี 2010 ทีเดียว ในปี 2013 เขายังได้รับเกียรติให้เป็นรองประธานขององค์การพรรคการเมืองประชาธิปไตยสายกลางสากลแห่งเอเชียแปซิฟิก Centrist Asia Pacific Democrats International หรือ CAPDI)

หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2013 ซึ่งพรรคฝ่ายค้านอันได้แก่ พรรคกู้ชาติกัมพูชา (Cambodia National Rescue Party หรือ CNRP) ระบุว่าเต็มไปด้วยปริศนาแห่งการทุจริตคดโกงและความผิดปกติต่างๆ ทว่า ICAPP และ CAPDI ต่างออกมายกย่องสรรเสริญการเลือกตั้งรัฐสภาคราวนั้นว่า ดำเนินไปอย่าง “เสรี, ยุติธรรม, และโปร่งใส” พร้อมกับเรียกมันว่า เป็น “ชัยชนะแห่งเจตนารมณ์ของประชาชนและเป็นชัยชนะของประชาชนชาวกัมพูชาในเส้นทางแห่งการสร้างอนาคตที่ดีกว่าโดยอิงอยู่กับความเหนือล้ำและความศักดิ์สิทธิ์ของบัตรลงคะแนน”

เมื่อ โสก อาน ถึงแก่มรณกรรม และบัดนี้มิได้เป็นสมาชิกคนหนึ่งในองค์การเหล่านี้แล้วเช่นนี้ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่ารัฐบาลที่นำโดยพรรค CPP จะต้องสูญเสียความถูกต้องชอบธรรมมากมายที่หน่วยงานระหว่างประเทศพวกนี้เคยช่วยหนุนส่งให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้กัมพูชากำลังอยู่ระหว่างเตรียมการเลือกตั้งระดับตำบล (commune) ในเดือนมิถุนายนนี้ และการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า ท่ามกลางการปราบปรามที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งต่อพรรคฝ่ายค้าน CNRP และต่อกลุ่มต่างๆ ในภาคประชาสังคม

ภายในกัมพูชาเองนั้น ฝ่ายปรปักษ์ของเขาพูดถึง โสก อาน ว่า นำพารัฐบาล “ราวกับเป็นพระเจ้าองค์หนึ่งในศาสนาฮินดูที่มีพระกรมากมายถึง 48 กร” ทั้งนี้ ระหว่างช่วงต้นทศวรรษ 2000 คณะรัฐมนตรีที่ครอบงำโดยพรรค CPP ได้ดึงเอาคณะกรรมการและคณะกรรมาธิการอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะไปหมดเข้ามาอยู่ในวงโคจรของตน โดยที่มีอยู่มากมายทีเดียวซึ่ง โสก อาน เข้าไปกำกับดูแลด้วยตนเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โสก อาน เข้านั่งเป็นประธานขององค์การน้ำมันปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา (Cambodian National Petroleum Authority) ที่อยู่ในความควบคุมของภาครัฐ และประธานขององค์การอัปสรา (Apsara Authority) ซึ่งควบคุมการหมุนเวียนของเงินทองในอุทยานประวัติศาสตร์และโบราณคดี นครวัด-นครธม นอกจากนั้นเขายังเป็นประธานของทั้งศาลพิเศษพิจารณาคดีเกี่ยวกับเขมรแดง, ราชบัณฑิตยสถานแห่งชาติ, และคณะกรรมการการลงทุนภาครัฐในวิสาหกิจยางพารา

“เขาดูจะเข้าไปควบคุมทุกๆ ภาคส่วนของรัฐบาล การลงทุนไม่ว่าอันไหนก็ตาม การตัดสินใจไม่ว่าอะไรก็ตาม ... ต้องได้รับความยินยอมเห็นชอบจาก โสก อาน” สน ชะฮาย (Son Chhay) สมาชิกรัฐสภาจากพรรคฝ่ายค้านเคยพูดเอาไว้เช่นนี้เมื่อปี 2004

เมื่อเวลาผันผ่านไป อำนาจดังกล่าวของ โสก อาน ได้เสื่อมถอยลงไปบ้างเหมือนกัน ภายหลังการเลือกตั้งปี 2013 องค์กรภาครัฐจำนวนหนึ่งที่เคยอยู่ใต้การควบคุมของเขาได้ถูกยุบเลิกไป โดยเป็นผลของการปรับปรุงจัดองค์กรรัฐบาลให้ทะมัดทะแมงมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนเป็นผลจากความพยายามของ ฮุนเซน ที่จะดำเนินการปฏิรูปภายใน หลังจากเขาและพรรคของเขาเกือบๆ พ่ายแพ้ปราชัยในการเลือกตั้งคราวนั้น

ปีเดียวกันนั้นเอง นายกรัฐมนตรีผู้นี้ได้ลงมือใช้อำนาจยกเลิกด้วยตนเอง ต่อการตัดสินใจของ โสก อาน ที่จะให้นักธุรกิจคนสำคัญผู้หนึ่งเป็นผู้ได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดินผืนใหญ่กว่า 350 เฮกตาร์ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิพาท ในจังหวัดพระสีหนุ

ในการเมืองแบบอิงอยู่กับครอบครัวอิงอยู่กับตระกูลของกัมพูชานั้น เครือข่ายเส้นสายคอนเนกชั่นของ โสก อาน มีความใหญ่โตกว้างขวางยิ่ง ภรรยาของเขา แอนนี โสก อาน (Annie Sok An) เป็นรองประธานของสภากาชาดกัมพูชา ขณะที่ผู้เป็นประธานได้แก่ บุน รานี (Bun Rany) ภรรยาของ ฮุนเซน

ยิ่งกว่านั้น ฮุน มาลี (Hun Mali) บุตรสาวคนเล็กสุดของฮุนเซน ก็แต่งงานกับบุตรชายของ โสก อาน ที่ชื่อ โสก พุทธิวุฒิ (Sok Puthyvuth) ซึ่งเวลานี้เป็นหนึ่งในนักธุรกิจคนสำคัญที่สุดของกัมพูชา บุตรชายอีกคนหนึ่งของเขา ชื่อ โสก โสเคน (Sok Soken) ก้าวขึ้นเป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศในปีที่แล้ว บุตรชายคนนี้ยังแต่งงานกับบุตรสาวของรัฐมนตรีอุตสาหกรรม จาม ประสิทธิ์ (Cham Prasidh) ด้วย

ลี มอร์เกนเบสเซอร์ (Lee Morgenbesser) นักวิจัยประจำของมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ (Griffith University) ในออสเตรเลีย เพิ่งตีพิมพ์ข้อเขียนชิ้นหนึ่งในเดือนที่แล้วซึ่งระบุว่า ฮุนเซนในเวลานี้กำลังบริหารประเทศด้วย “ความเป็นเผด็จการแบบปัจเจกบุคคล” (personalist dictatorship) โดยที่เขาลบล้างอำนาจของพวกผู้นำพรรค CPP คนอื่นๆ ด้วยการเข้าฉวยคว้าควบคุมกลไกส่วนใหญ่ที่สุดของรัฐเอาไว้

มอร์แกนเบสเซอร์ มองว่า ในระหว่างการครองอำนาจมาเป็นเวลา 3 ทศวรรษของเขานั้น ฮุนเซน ประสบความสำเร็จในการกวาดล้างฝ่ายต่างๆ ที่เป็นปรปักษ์ของเขาภายในพรรค CPP เป็นต้นว่า พวกที่จงรักภักดีต่อ เจีย ซิม (Chea Sim) ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานของพรรคตั้งแต่ปี 1991 จนกระทั่งเขาสิ้นชีวิตลงในปี 2015, และพวกที่จงรักภักดีต่อ เฮง สัมริน (Heng Samrin) ประธานคนปัจจุบันของรัฐสภาแห่งชาติ

การสิ้นชีวิตของ โสก อาน อาจจะเป็นโอกาสให้ ฮุนเซน สามารถรวมศูนย์อำนาจมาไว้ที่ตัวเขาเพิ่มมากขึ้นอีก คอมเมนเตเตอร์บางรายคาดเดาเอาไว้เช่นนี้ ตามรายงานทางสื่อมวลชน เวลานี้ บุน ไอ (Bun Ay) ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ได้รับการเสนอชื่อให้เข้าแทนที่ โสก อาน ในฐานะรักษาการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อปราศไร้ความเชี่ยวชาญว่องไวทางการเมืองของ โสก อาน ผู้จงรักภักดีเสียแล้วเช่นนี้ ฮุนเซนก็จำเป็นต้องทำให้เกิดความมั่นใจว่า จะสามารถบรรลุความสมดุลใหม่ขึ้นภายในพรรค CPP เรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องให้บรรดาหน่วยงานและคณะกรรมการทั้งหลายซึ่ง โสก อาน ควบคุมอยู่ ถ่ายเทเปลี่ยนไปอยู่ในมือของพวกผู้จงรักภักดีต่อการปกครองแบบควบคุมใกล้ชิดแน่นหนาของเขา

ด้วยเวลาที่เหลืออยู่อีกเพียงแค่ 3 เดือนก่อนจะมีการเลือกตั้งระดับตำบลซึ่งทรงความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันรัฐบาลก็เร่งทวีการก่อกวนและการคุกคามพรรค CNRP ฮุนเซนจึงจะต้องใช้เล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองและความช่ำชองทางการเมืองทั้งหมดของเขา เพื่อทำให้พรรค CPP ยังคงสามัคคีรวมตัวกันได้ ถึงแม้ต้องสูญเสียขาดหายอิทธิพลแห่งการสร้างความสมดุลของ โสก อาน ไปแล้ว

เดวิด ฮุตต์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ซึ่งตั้งฐานประจำอยู่ในกรุงพนมเปญ
กำลังโหลดความคิดเห็น