xs
xsm
sm
md
lg

ศาล US ขวางคำสั่งแบนมุสลิมรอบ 2 ทรัมป์สวนตุลาการใช้อำนาจเกินลิมิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประชาชนชุมนุมหน้าทำเนียบขาวในวอชิงตัน สหรัฐฯ ประท้วงคำสั่งพิเศษใหม่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เกี่ยวกับการห้ามผู้ลี้ภัยและนักเดินทางจาก 6 ชาติมุสลิมเข้าประเทศ
เอเจนซีส์ - ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นสหรัฐฯ อย่างน้อย 2 แห่ง คือที่ฮาวาย และแมริแลนด์ ต่างออกคำสั่งฉุกเฉินระงับใช้ชั่วคราวมาตรการห้ามการเดินทางเข้าอเมริกาฉบับใหม่ของทรัมป์ ซึ่งกำหนดเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ย่างเข้าวันพฤหัสบดี (16 มี.ค.) เล่นเอาประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขัดเคืองอย่างหนักและวิจารณ์ว่าฝ่ายตุลาการใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขตแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน พร้อมประกาศจะต่อสู้ถึงที่สุดซึ่งอาจรวมถึงการฟ้องร้องต่อศาลสูงสุด

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารห้ามการเดินทางเข้าสหรัฐฯ ฉบับใหม่เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยหวังว่าจะสามารถฝ่าด่านกฎหมายที่เคยทำให้คำสั่งฝ่ายบริหารฉบับแรกในเรื่องนี้ซึ่งเขาลงนามไปเมื่อเดือนมกราคมต้องสะดุดหัวทิ่มมาแล้ว ทั้งนี้ คำสั่งฉบับแรกได้ทำให้เกิดความโกลาหลในสนามบินทั่วอเมริกาและทั่วโลก รวมทั้งการประท้วงใหญ่ จนกระทั่งผู้พิพากษาศาลชั้นต้นของสหรัฐฯ ในเมืองซีแอตเติล, รัฐวอชิงตัน ออกคำสั่งระงับการบังคับใช้ชั่วคราวเมื่อเดือนที่แล้ว

แต่ขณะที่เหลือเวลาไม่กี่ชั่วโมงก่อนมาตรการใหม่ของทรัมป์จะมีผลบังคับใช้ เดอร์ริก วัตสัน ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นสหรัฐฯ ในรัฐฮาวาย ก็ออกคำวินิจฉัยในวันพุธ (15) ให้ระงับใช้คำสั่งฝ่ายบริหารนี้เป็นการชั่วคราวทั่วประเทศ ตามการร้องเรียนของมลรัฐฮาวายที่ระบุว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิมจึงเข้าข่ายละเมิดรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ

ผู้พิพากษาวัตสัน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา สรุปในคำวินิจฉัยว่า แม้คำสั่งของทรัมป์ไม่ได้ระบุถึงอิสลามโดยตรง แต่ผู้สังเกตการณ์ที่มีเหตุผลและเป็นกลางสามารถสรุปได้ว่าคำสั่งฝ่ายบริหารออกมาภายใต้วัตถุประสงค์ในการปฏิเสธศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะ

ต่อมาในช่วงเช้าวันพฤหัสบดี (16) ธีโอดอร์ ชวง ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นสหรัฐฯ แห่งรัฐแมริแลนด์ ก็ออกคำสั่งชั่วคราวที่มีผลบังคับทั่วประเทศในคดีคล้ายๆ กันนี้ ซึ่งร้องเรียนโดยบรรดาหน่วยงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและมีสหภาพสิทธิเสรีภาพชาวอเมริกัน และศูนย์กฎหมายผู้อพยพแห่งชาติเป็นตัวแทน

ผู้พิพากษาชวงวินิจฉัยว่า หน่วยงานเหล่านี้ดูน่าจะประสบความสำเร็จในการพิสูจน์ให้เห็นว่าข้อความเกี่ยวกับการห้ามเดินทางเข้าอเมริกาของคำสั่งฝ่ายบริหารฉบับใหม่นี้มีจุดมุ่งหมายที่จะห้ามชาวมุสลิม ดังนั้นจึงเป็นการละเมิดมาตราคุ้มครองเสรีภาพทางศาสนาของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ

ทางด้านทรัมป์ซึ่งไปปราศรัยต่อที่ชุมนุมของผู้สนับสนุนเขาในเมืองแนชวิลล์ ขณะที่ทราบคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นฮาวาย ได้วิจารณ์ผู้พิพากษาวัตสันว่า เป็นการใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขตของฝ่ายตุลาการแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และบอกว่าจะต่อสู้ถึงที่สุดซึ่งอาจรวมถึงการฟ้องร้องต่อศาลสูงสุด
ผู้ประท้วงจากองค์การนิรโทษกรรมสากล เดินขบวนในซิดนีย์ ออสเตรเลีย ประท้วงคำสั่งพิเศษใหม่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เกี่ยวกับการห้ามผู้ลี้ภัยและนักเดินทางจาก 6 ชาติมุสลิมเข้าประเทศ
เช่นเดียวกัน กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ที่ออกคำแถลงระบุว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวบกพร่องทั้งในด้านตรรกะและขอบเขตอำนาจ และสำทับว่า ประธานาธิบดีมีอำนาจอย่างครอบคลุมในกิจการด้านความมั่นคงของชาติ และกระทรวงจะดำเนินการในศาลเพื่อปกป้องคำสั่งฝ่ายบริหารฉบับนี้ต่อไป

คาดหมายกันว่าขั้นตอนต่อไปคณะบริหารทรัมป์คงจะยื่นอุทธรณ์เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ตัดสินล้มล้างคำสั่งระงับใช้ชั่วคราวของศาลชั้นต้น และถ้ายังไม่สำเร็จก็มีทางเลือกที่จะยื่นเรื่องให้ศาลสูงสุดพิจารณา

เนื่องจากในปัจจุบันศาลสูงสุดสหรัฐฯ ประกอบด้วยผู้พิพากษาสายอนุรักษนิยม และเสรีนิยมฝ่ายละ 4 คน ส่วนคนที่ 9 ซึ่งทรัมป์เสนอชื่อ ผู้พิพากษา นีล กอร์ซัช ที่เป็นฝ่ายอนุรักษนิยมนั้น ยังอยู่ระหว่างรอการรับรองจากวุฒิสภา ด้วยเหตุนี้ หนทางให้ศาลสูงสุดเป็นผู้ตัดสินจึงดูจะต้องใช้เวลานาน

ทางด้าน พอล ไรอัน ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็น ส.ส.พรรครีพับลิกัน ยืนยันว่า คำสั่งห้ามการเดินทางเข้าสหรัฐฯ มีความจำเป็นสำหรับการปรับปรุงระบบคัดกรองผู้เดินทางเพื่อป้องกันการก่อเหตุโจมตี และยังแสดงความมั่นใจว่าคำสั่งฝ่ายบริหารฉบับใหม่จะได้รับความเห็นชอบจากศาลในระดับสูงขึ้นไป

ทั้งนี้ คำสั่งคราวนี้ของวัตสันมีผลเพียงชั่วคราวจนกว่าศาลชั้นต้นของเขาจะได้รับฟังการให้การของทั้งสองฝ่ายในกรณีนี้อย่างครอบคลุมขึ้น โดยเขากำหนดให้มีการไต่สวนเร็วขึ้นเพื่อวินิจฉัยว่าควรขยายคำสั่งระงับใช้ของเขาหรือไม่

คำสั่งฝ่ายบริหารฉบับแรกในเดือนมกราคมของทรัมป์มีขอบเขตครอบคลุมมากกว่าฉบับล่าสุด ซึ่งห้ามพลเมืองจาก 6 ชาติ คือ อิหร่าน ลิเบีย ซีเรีย โซมาเลีย ซูดาน และเยเมน เดินทางเข้าสหรัฐฯ ภายใน 90 วัน แต่ไม่รวมอิรักที่เคยอยู่ในลิสต์ประเทศที่ถูกแบนในคำสั่งฉบับแรก

นอกจากนี้ยังห้ามผู้ลี้ภัยเดินทางเข้าอเมริกาเป็นเวลา 120 วัน จากคำสั่งเดิมที่แบนผู้ลี้ภัยจากซีเรียไม่มีกำหนด

คำสั่งฉบับใหม่ยังยกเว้นผู้พำนักถาวรที่ถูกต้องตามกฎหมาย และผู้ที่ถือวีซ่าปัจจุบัน รวมทั้งยังยกเว้นคนเข้าเมืองหลายหมวดหมู่จากประเทศที่มีความสัมพันธ์กับอเมริกา

กระนั้น รัฐฮาวายและกลุ่มต่อต้านคำสั่งแบนของทรัมป์ระบุว่า แรงบันดาลใจเบื้องหลังคำสั่งนี้คือคำสัญญาที่ประธานาธิบดีให้ไว้ขณะหาเสียงว่าจะปิดกั้นไม่ให้ชาวมุสลิมเดินทางเข้าอเมริกาโดยเด็ดขาด

ทว่า ในคำร้องที่ยื่นต่อศาล รัฐบาลคัดค้านการที่ศาลพยายามค้นหาแรงจูงใจที่ซ่อนเร้นในคำสั่งฝ่ายบริหาร รวมทั้งการใช้จิตวิเคราะห์เจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมาย

วัตสันโต้ตอบว่าเขาไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นเลย เนื่องจากหลักฐานเกี่ยวกับแรงจูงใจสามารถหาได้จากคำแถลงของประธานาธิบดี อีกทั้งยังฟังไม่ขึ้นที่รัฐบาลโต้แย้งว่าคำสั่งฝ่ายบริหารไม่ได้มุ่งต่อต้านชาวมุสลิม โดยอ้างว่าครอบคลุมประเทศมุสลิมเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น

หลังความเคลื่อนไหวที่ฮาวายไม่นาน ศาลของรัฐบาลกลางในซีแอตเติลประกาศรับคำร้องฉุกเฉินของรัฐวอชิงตันและโอเรกอนเพื่อระงับคำสั่งฝ่ายบริหารชั่วคราวเป็นเวลา 14 วัน

นอกเหนือจากที่ฮาวายและแมริแลนด์แล้ว ยังมีศาลชั้นต้นสหรัฐฯ ในซีแอตเติล โดยผู้พิพากษา เจมส์ โรบาร์ต ผู้เคยสั่งระงับคำสั่งฝ่ายบริหารฉบับแรกมาแล้ว กำลังพิจารณาคำร้องขอให้สั่งระงับใช้คำสั่งฉบับใหม่เช่นกัน โดยเขาระบุว่าจะออกคำวินิจฉัยเรื่องนี้เป็นลายลักษณ์อักษร ทว่าไม่ได้ให้กำหนดเวลาที่แน่นอน

รัฐวอชิงตัน แคลิฟอร์เนีย แมริแลนด์ แมสซาชูเซตส์ นิวยอร์ก และโอเรกอน ต่างให้การสนับสนุนการยื่นคำร้องในซีแอตเติล


กำลังโหลดความคิดเห็น