xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่ายบริหารของทรัมป์เด้งอัยการคนดัง หลังขอให้ลาออกแล้วยังไม่ยอมไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พรีต บารารา อัยการชื่อดังในนิวยอร์ก ถูกฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ไล่ออกเมื่อวันเสาร์ (11) หลังจากไม่ยอมที่จะลาออกจากตำแหน่งเองตามที่รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเรียกร้องเมื่อวันศุกร์ (10)
รอยเตอร์ - อัยการคนดังของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ถูกฝ่ายบริหารของทรัมป์ไล่ออกเมื่อวันเสาร์ (11) หลังจากเขาไม่ยอมที่จะลาออกจากตำแหน่งเอง ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องปกติที่จะมีการเปลี่ยนอัยการระดับสูงเมื่อผู้นำประเทศคนใหม่เข้าทำงาน แต่ในครั้งนี้ดูจะแปลกกว่าเดิม

การปฏิเสธที่จะลาออกจากตำแหน่งของ พรีต บารารา อัยการนิวยอร์ก ซึ่งตอนแรกประกาศผ่านทวิตเตอร์นั้น ทำให้เกิดข้อสงสัยในความสามารถของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ในการแต่งตั้งบุคลากรระดับสูงในคณะรัฐบาล

ทรัมป์ยังไม่ได้เสนอชื่อแคนดิเดตในตำแหน่งอัยการเขต 93 เขต แม้กระทรวงยุติธรรมจะเอ่ยปากเรียกร้องให้อัยการ 46 คนที่ยังไม่ลาออก ให้ลาออกภายในวันศุกร์ที่ผ่านมา (10) นอกจากนั้น ตำแหน่งสำคัญๆ อีกมายมายในหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงกลาโหม ยังคงว่างอยู่เช่นเดียวกัน

เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว บาราราเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ทรัมป์ขอให้ตนอยู่ในตำแหน่งต่อ เขาจึงปฏิเสธที่จะลาออกหลังได้รับการร้องขอจากกระทรวงยุติธรรมเมื่อวันศุกร์ อย่างไรก็ตาม เขาได้ถูกไล่ออกจากตำแหน่งเมื่อบ่ายวันเสาร์ โดยทางกระทรวงยุติธรรมยืนยันว่าบาราราไม่ได้ดำรงตำแหน่งอัยการเขตแมนฮัตตันแล้ว แต่ไม่ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมจากนี้

เช่นเดียวกับอัยการทั้งหมดในสหรัฐฯ บาราราเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งทางการเมือง และสามารถถูกเปลี่ยนตัวได้เมื่อประธานาธิบดีคนใหม่เข้ารับตำแหน่ง แต่ที่ผ่านมาประธานาธิบดีมักขอให้อัยการที่กำลังจะพ้นตำแหน่งอยู่ต่อจนกว่าผู้ที่มาแทนจะได้รับการรับรองจากวุฒิสภา

หนังสือพิมพ์ "วอชิงตัน โพสต์" รายงานโดยอ้างการเปิดเผยของแหล่งข่าววงในที่ใกล้ชิดทรัมป์ว่า สตีเฟน แบนนอน ที่ปรึกษาประธานาธิบดี และเจฟฟ์ เซสชันส์ รัฐมนตรียุติธรรม ต้องการล้างบางอัยการรัฐบาลกลางเพื่อยืนยันอำนาจของคณะบริหาร

แต่การตัดสินใจเปลี่ยนตัวอัยการที่ยังอยู่ในตำแหน่งจำนวนมากพร้อมกัน ทำให้เกิดคำถามว่า ความสามารถในการบังคับใช้กฎหมายของคณะบริหารของทรัมป์จะถูกขัดขวางหรือไม่

อิริก ชไนเดอร์แมน อัยการสูงสุดรัฐนิวยอร์กและเป็นคนของพรรคเดโมแครต วิจารณ์ว่า การตัดสินใจกะทันหันและปราศจากคำอธิบายในการถอดอัยการ 40 คนของทรัมป์ทำให้เกิดความสับสนอลหม่านกับรัฐบาลกลางอีกครั้ง

แพทริก เลฮี สมาชิกคณะกรรมาธิการศาลยุติธรรมของวุฒิสภาจากพรรคเดโมแครตเช่นเดียวกัน สำทับว่า การไล่อัยการออกบ่งชี้ว่าความเป็นอิสระของกระทรวงยุติธรรมภายใต้คณะบริหารชุดนี้ตกอยู่ในความเสี่ยง รัฐสภาควรประเมินการเปลี่ยนตัวอัยการของทรัมป์อย่างรอบคอบ

ด้านกระทรวงยุติธรรมแถลงว่า อัยการของกระทรวงจะสานต่องานจนกว่าจะมีการแต่งตั้งอัยการใหม่มาแทนที่คนเก่าที่พ้นจากตำแหน่งในครั้งนี้

ส่วนบาราราเผยว่า จุน คิม ผู้ช่วยของเขาจะมาทำงานแทนชั่วคราว

มาร์ก มูเคซี ทนายความฝ่ายจำเลยและลูกของอดีตอัยการสูงสุดในสมัยอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช จากพรรครีพับลิกัน คือตัวเก็งที่จะมาแทนที่บารารา แต่มูเคซียังไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้

ทั้งนี้ สำนักงานอัยการของบาราราเคยทำคดีสำคัญมากมายทั้งแพ่งและอาญา เช่น การสอบสวนกรณีการระดมเงินบริจาคของ บิลล์ เดอ บลาสิโอ นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก

บารารายังประสบความสำเร็จในการฟ้องร้องนักการเมืองทั้งระดับรัฐและท้องถิ่นในคดีคอร์รัปชัน ซึ่งรวมถึง "เชลดอน ซิลเวอร์" อดีตประธานสภาล่างของรัฐนิวยอร์ก รวมทั้งชนะคดีที่ทำให้ "ไฟซาล ชาห์ซัด" มือระเบิดที่โจมตีไทม์สแควร์ ต้องถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต รวมถึง "วิกเตอร์ บูท" พ่อค้าอาวุธระดับโลก ที่ถูกจำคุก 25 ปี

บารารายังทำให้ "แซค แคปิตอล แอดไวเซอร์ส" ยอมจ่ายค่ายอมความ 1,800 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าสูงสุดในประวัติศาสตร์และบีบให้กองทุนจัดการความเสี่ยงแห่งนี้ต้องปิดกิจการ รวมทั้งบังคับให้ "เจพีมอร์แกน เชส" จ่ายค่ายอมความ 1,700 ล้านดอลลาร์ จากบทบาทในโครงการแชร์ลูกโซ่ของ เบอร์นี เมดอฟฟ์

อย่างไรก็ตาม แมทธิว ชวาร์ตซ์ อดีตอัยการภายใต้การบังคับบัญชาของบารารา มองว่า การไล่ปลดอัยการอย่างรวดเร็วของทรัมป์อาจน่าประหลาดใจ แต่โดยส่วนตัวแล้ว เขาไม่คิดว่าบาราราจะยังได้รับตำแหน่งต่อในคณะบริหารชุดนี้

จากข้อมูลของกระทรวงยุติธรรม มีอัยการเพียง 2 คนที่ทรัมป์ขอให้อยู่ต่อ ได้แก่ ร็อด โรเซนสไตน์ จากแมรีแลนด์ ขณะที่วุฒิสภากำลังพิจารณาการเสนอชื่อเขาเป็นรัฐมนตรีช่วยยุติธรรม และดานา เบนเต จากเวอร์จิเนีย ที่ได้รับการร้องขอให้อยู่ในตำแหน่งชั่วคราว


กำลังโหลดความคิดเห็น